ในยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลดต่ำจนแทบจะเหลือ 0% ดูเหมือนว่าการเก็บเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์คงไม่ใช่ทางเลือกของผู้ที่อยากได้ผลตอบแทนงอกเงยจากเงินต้นเพราะหากเราฝากเงิน 100,000 บาทไว้ในธนาคารออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ย 0.5% โดยไม่ถอนเป็นเวลา 1 ปี พอครบกำหนดก็จะได้ดอกเบี้ยราว ๆ 500 บาทเท่านั้นเอง จะมีทางดังนี้ที่จะได้ผลตอบแทนสูง
1. ฝากบัญชีประจำ
แนะนำให้แบ่งเงินเย็นไปฝากบัญชีประจำดู ซึ่งบัญชีเงินฝากประจำ 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยอยู่ราว ๆ 1.3% แต่หากฝากประจำแบบ 24 เดือนก็จะได้ดอกเบี้ยมากกว่านี้และขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ซึ่งหากฝากครบ 1 ปี 100,000 บาทจะได้ดอกเบี้ยประมาณ 1300 บาท
2. ฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง
หลายธนาคารมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงให้เลือก ซึ่งจะให้ดอกเบี้ยประมาณ 1.3-1.7% ต่อปี สามารถฝากเงินได้ตลอดเวลา แต่บางธนาคารอาจมีเงื่อนไขว่าให้ถอนได้เพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง ดังนั้นจึงเหมาะเป็นบัญชีสำหรับออมเงินและคล่องตัวกว่าการฝากแบบประจำ
3. เงินฝากปลอดภาษี
บัญชีนี้เหมาะสำหรับคนอยากเก็บออม เพราะจะต้องนำเงินฝากเข้าธนาคารทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กันตามที่เราเลือกไว้ ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นฝากที่เดือนละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ระยะเวลาในการฝากคือ 24 เดือน หรือ 36 เดือนซึ่งบัญชีฝากประจำประเภทนี้จะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีประเภทอื่น ๆ คือราว ๆ 2-3% (ขึ้นอยู่กับแคมเปญของธนาคารในช่วงนั้น) แถมยังไม่ต้องเสียภาษี แต่มีข้อจำกัดว่า 1 คน เปิดได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น ไม่ว่าจะธนาคารไหนก็ตาม
4. ซื้อสลากออมทรัพย์
ถ้ามีเงินก้อนสามารถเก็บไว้ได้สัก 3 ปีขึ้นไป การซื้อสลากออมทรัพย์ก็น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยตามที่กำหนดแล้ว เกิดดวงดีมีโชคยังมีโอกาสถูกรางวัลอีกต่างหาก แต่ถ้าใครอยากถูกรางวัลทุกงวดก็ต้องซื้อแบบครบวงจร เช่น ถ้าสลากขายหน่วยละ 100 บาท ต้องซื้อ 1,000 หน่วย หรือ 100,000 บาทขึ้นไป จึงจะถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวทุกงวด แต่ถ้าไม่มีเงินก้อนก็สามารถทยอยซื้อเป็นครั้ง ๆ ได้ ยังได้ลุ้นรางวัลเหมือนกัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่รับฝากก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสลากที่ขายในช่วงนั้น อย่างไรก็ตามต้องฝากให้ครบตามกำหนดเวลา หากไถ่ถอนสลากออกมาก่อนจะไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้
5. พันธบัตรรัฐบาล
เป็นตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกเพื่อกู้เงินจากประชาชน เท่ากับเราเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่จะต้องถือในระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ซึ่งหากมีอายุนานก็จะยิ่งได้ดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย ขณะเดียวกันถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำพอ ๆ กับเงินฝาก
- 3 ปี 1.7 %
- 5 ปี 2.5%
- 10 ปี 4%
6. กองทุนรวมตลาดเงิน
น่าสนใจสุด ๆ สำหรับคนรับความเสี่ยงได้น้อย ต้องยกให้กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ที่ถือเป็นแหล่งพักเงินที่ดีสำหรับคนที่อยากได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ เพราะให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีสูงสุด 1.8 % ข้อดีคือเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะเน้นลงทุนในเงินฝากของธนาคาร แถมไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเงินฝากประจำ
7. กองทุนรวมตราสารหนี้
เป็นกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก มีให้เลือกทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว ซึ่งผลตอบแทนก็จะแตกต่างกันไป
- โดยตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุด 2.49%
- ส่วนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว (Mid-Long Term Bond) ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุด 5.13%
อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมตราสารหนี้มีความเสี่ยงกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน
8. หุ้นกู้
หุ้นกู้ก็คือตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยบริษัทเอกชน เพื่อกู้ยืมเงินของประชาชนไปลงทุน มีระยะเวลาในการฝาก เช่น 3 ปี 5 ปี 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแล้วแต่บริษัทจะกำหนดซึ่งมีทั้งแบบกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์แน่นอนตายตัวหรือแบบขั้นบันได ตัวอย่าง ปตท. 10 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.58%
หุ้นกู้จะมีความเสี่ยงมาก-น้อยขึ้นอยู่กับเครดิตของบริษัทนั้น เช่น ถ้าบริษัทมีความน่าเชื่อถือมากก็จะได้รับเครดิตสูงสุด AAA ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำกว่า BBB- จัดเป็นหุ้นกู้ที่ควรระมัดระวังในการลงทุน โดยทั่วไปหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
9. กองทุนรวม
มีเงินเพียง 1,000 บาท ก็ลงทุนกองทุนรวมต่าง ๆ ได้แล้ว แต่กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงพอสมควรที่จะขาดทุน สูญเสียเงินต้น ทว่าก็มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน โดยมีให้เลือกลงทุนหลายประเภททั้งกองทุนรวมในประเทศ ต่างประเทศ ลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้น น้ำมัน ทองคำ ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเภทมีอัตราความเสี่ยงและผลตอบแทนแตกต่างกันไป เช่น
- กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุด 18% ต่ำสุด -14%
- กองทุนรวมหุ้นขนาดเล็กหรือกลาง (Equity Small/Mid Cap) ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูงสุด 10% ต่ำสุด -10%
นอกจากนี้สำหรับคนที่มีภาระเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในฐานสูง ๆ คือตั้งแต่ 15% ขึ้นไป อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยจะลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี