ความจริง Non-Bank ที่ให้บริการสินเชื่อนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่เราอาจไม่ทันทราบว่านี่คือ Non-Bank ที่ให้บริการสินเชื่ออย่างเป็นทางการ โดยได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง เริ่มตั้งแต่ปี 2545 มี “บัตรเครดิต” เกิดขึ้น ต่อจากนั้น ในปี 2548 ก็มี “สินเชื่อส่วนบุคคล” (P-Loan) เพื่อช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบของประชาชนที่มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก และมีการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม หลังจากนั้น ในปี 2558 ก็มี “สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ” (Nano Finance) เกิดขึ้น สำหรับบุคคลธรรมดา (รายย่อย) ที่ต้องการเงินทุนในการประกอบอาชีพ และปี 2559 ก็มี “สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด” (Pico Finance) เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบแก่ประชาชนรายย่อย และล่าสุดปี 2562 ทางการได้ขยายขอบเขตสินเชื่อ P-Loan ให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในราคาที่เหมาะสมและได้รับการปฏิบัติจากผู้ประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ จะมีสินเชื่อ P-loan ประเภท Digital เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคไฮเทคปัจจุบัน ทำให้เข้าถึงบริการสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการการให้สินเชื่อทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การสมัครขอสินเชื่อ การพิจารณาความเสี่ยง การอนุมัติและจ่ายเงินผ่าน Application จนถึงการชำระเงินคืนของลูกค้า และยังใช้ปัจจัยอื่นนอกเหนือจากรายได้ มาพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า (Alternative Data) เช่น พฤติกรรมการใช้มือถือ การ Check-in ทาง social media หรือ การ shopping online ทำให้อนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และสะท้อนความเสี่ยงของลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกิจลดลงในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มการให้สินเชื่อ Digital มากขึ้น ก็จะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น และอาจจะส่งผลให้รูปแบบเดิมๆ ของการให้สินเชื่อมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ความจำเป็นในการใช้สาขาและพนักงานมีบทบาทลดลง
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการสินเชื่อ Non-Bank ที่ได้รับอนุญาตและเปิดทำการแล้ว 122 ราย เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต 7 ราย สินเชื่อ P-loan 75 ราย Nano Finance 40 ราย ซึ่งมีสาขาจำนวน 9,248 สาขา ครอบคลุมอยู่ทุกจังหวัด โดยผู้ให้บริการสินเชื่อ Non-Bank ประเภท P-Loan และ Nano Finance จะเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดในระดับตำบล-หมู่บ้าน ซึ่งอาจเข้าไม่ถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ และจะใช้พนักงานของบริษัทประจำสาขาลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จักและให้บริการแก่ลูกค้า สำหรับสินเชื่อ Pico Finance อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้ว 469 ราย
จากจำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อ Non-Bank ที่เพิ่มขึ้น และมีการกระจายตัวของสาขามากขึ้นในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้ง ปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นภาพถึงการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น แม้ว่าปริมาณสินเชื่อจะชะลอตัวเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปี 2563 เนื่องจาก สถานการณ์ของการแพร่ระบาด Covid-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และการใช้จ่ายของประชาชน