• หน้าแรก

  • BLOG myAccount Cloud

  • อัพสกิลธุรกิจ ‘การตลาดออนไลน์’ ทำอย่างไรให้ปัง และต้องไม่พัง เพราะ ‘ภาษี’ !!

อัพสกิลธุรกิจ ‘การตลาดออนไลน์’ ทำอย่างไรให้ปัง และต้องไม่พัง เพราะ ‘ภาษี’ !!

  • หน้าแรก

  • BLOG myAccount Cloud

  • อัพสกิลธุรกิจ ‘การตลาดออนไลน์’ ทำอย่างไรให้ปัง และต้องไม่พัง เพราะ ‘ภาษี’ !!

อัพสกิลธุรกิจ ‘การตลาดออนไลน์’ ทำอย่างไรให้ปัง และต้องไม่พัง เพราะ ‘ภาษี’ !!

        เปิดกลยุทธ์เบื้องต้นของการทำ "การตลาดออนไลน์" ทำอย่างไรให้ปัง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กับ เรื่อง "ภาษี" ที่นักขายมือใหม่ควรรู้ ก่อนกำไรที่หาได้จากกลายเป็นศูนย์

        ยุคที่ผู้คนเริ่มมองหาการหารายได้หลากช่องทาง งานประจำอาจไม่เพียงพอและถูกมองว่าเสี่ยงต่อการดำเนินชีวิต หากมีการเลิกจ้างกะทันหัน โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหรือเช่นปัจจุบันที่ทั่วโลก และไทย กำลังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 กิจการและกิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงัก จึงทำให้แนวคิดการหารายได้เพิ่มนั้นเติบโตขึ้นอย่างมาก

        หนึ่งในช่องทางที่หลายคนมองว่ายังมีโอกาสและช่องว่างอยู่ คือ การค้าขายออนไลน์ ที่สามารถทำได้ง่ายๆ และมีแพลตฟอร์มรองรับการทำตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทำให้นักขายมือใหม่ต่างมุ่งมาช่องทางนี้

  • 5 หลักพื้นฐาน “การตลาดออนไลน์” สำหรับนักธุรกิจมือใหม่

        พงษ์ปิติ ผาสุขยืด ผู้ก่อตั้งเพจ Ad addict ที่เล่าเรื่องการตลาดและโฆษณาในมุมมองที่เข้าใจง่าย เล่าถึงวิธีการทำการตลาดออนไลน์สำหรับผู้ที่เริ่มทำธุรกิจ ไว้อย่างน่าสนใจในงานสัมมนา “ยอดขายออนไลน์ปัง มาฟังเรื่องภาษี” ว่าจริงๆ แล้วปัจจุบันทุกคนไม่จำเป็นต้องมีงานหนึ่งงานเท่านั้น สถานการณ์โควิดที่เจอ บางทีความมั่นคงอาจไม่มั่นคงได้เหมือนกัน จึงอาจหาช่องทางอื่น โดยมี 5 คำแนะนำพื้นฐานในการเริ่มทำตลาดออนไลน์ ดังนี้

        1. รู้ให้มาก ก่อนเริ่มทำตลาดมี 4 มุมที่ต้องรู้ สิ่งแรกที่สำคัญคือต้องรู้จักตัวเอง ต้องรู้ว่าจุดเด่นและจุดแข็งคืออะไร ขณะเดียวกันเมื่อทำการตลาด มักต้องแข่งขันกับคนอื่นมากมาย ไม่ใช่แค่แข่งขันกับคนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่น ดังนั้นจึงต้องรู้จักคู่แข่งด้วย เช่น การทำเพจเฟซบุ๊คนั้น ต้องแข่งกับทุกฟีดเฟซบุ๊คที่ขึ้นมาก เป็นต้น สุดท้ายต้องมองหาโอกาสและช่องว่างที่สามารถสร้างความแตกต่างขึ้นได้

        นอกจากนี้ต้องรู้จักลูกค้า ปัจจุบันไม่มีการสื่อสารแบบ Mass Marketing หรือคุยกับทุกคนแล้ว แต่ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เข้าใจพฤติกรรม ความต้องการ และต้องรู้จักสิ่งแวดล้อมต่างๆ สถานการณ์การบ้านเมือง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ มีฟีเจอร์อะไรใหม่ๆ หรือไม่ จะได้ปรับวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้สามารถหาวิธีการสื่อสารที่แตกต่างได้

        2. เล่าให้เป็น หาวิธีการเล่าที่เหมาะสม การการทำการสื่อสารใจความสำคัญคือ สิ่งที่เราอยากบอก และสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายอยากรู้ ต้องหาจุดกึ่งกลางให้เจอ 

        3. เลือกให้เหมาะสม ปัจจุบันการขายของออนไลน์หรือการทำการตลาด มีโซเชียลมีเดียและมาร์เก็ตเพลสเยอะมาก ต้องเข้าใจว่าช่องทางต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร คนแบบไหนที่ใช้งานช่องทางเหล่านี้ ลักษณะรูปแบบการสื่อสารแบบไหนที่เหมาะกับช่องทางเหล่านี้ เมื่อรู้แล้วว่าแตกต่างกันอย่างไรจะทำให้สามารถเลือกสื่อสารได้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

        คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ = ถูกเรื่อง + ถูกที่ + ถูกเวลา

        4. รับฟังเยอะๆ บางทีเมื่อทำไปแล้วเมื่อจะรู้สึกว่าโอเคแล้วและทำไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงแล้วอาจมีคำแนะนำหรือฟีดแบ็กของกลุ่มลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย

        5. ลองไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีสูตรตายตัว ยกตัวเช่น ในมุมของนักโฆษณามีการทำเรียกว่า AB Testing โดยปัจจุบันในโลกออนไลน์สามารถทดสอบได้ ในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ลองทำโฆษณาที่แตกต่างกันและเปรียบเทียบกันได้ ว่าอันไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ก็สามารถโยกงบประมาณไปใช้ที่มีประสิทธิภาพนั้นได้ ทำให้การทำธุรกิจหรือการสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย 

  • ทำอย่างไรให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น?

        นอกจากนี้เมื่อเริ่มทำธุรกิจออนไลน์ไปแล้วนั้น หลายคนมักมองถึงการเพิ่มผู้ติดตามให้มากขึ้น ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าอยากมีผู้ติดตามเยอะไปเพื่ออะไร อย่างบางแบรนด์ต้องการมีผู้ติดตามเยอะเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หรือบางแบรนด์เมื่อผู้คนติดตาม จะทำให้มีกลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสารได้เยอะขึ้น 

        ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะทำให้มีผู้ติดตามได้เยอะคือ สร้างคุณค่า ต้องนึกถึงกลุ่มเป้าหมายว่า ถ้าเค้าต้องเสียอะไรไป และเค้าจะได้อะไรมา เช่น เสียเวลา แต่ได้ความรู้

        รวมถึงต้องหาตัวตนให้ชัด เมื่อต้องแข่งขันกับทุกคน ต้องหาเอกลักษณ์และจุดเด่นที่คนจะลอกเลียนแบบไม่ได้ และต้องทันกระแส การทำการตลาดต่างๆ ต้องมีการศึกษาว่ามีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่ทำตามกระแสได้ และไม่ใช่ทุกกระแสที่จะทำการตลาดได้ เช่น การเมือง สุดท้ายคือต้องมีความต่อเนื่อง 

        เมื่อถามถึงประเด็นที่นักธุรกิจออนไลน์หลายคนสงสัย คือ การซื้อโฆษณาจำเป็นอยู่ไหม?

        "พงษ์ปิติ" มองว่า คอนเทนท์หรือการสื่อสารที่มีคุณภาพต้องถูกเรื่อง ถูกที่ และถูกเวลา ดังนั้นควรที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่ตรงทั้งกลุ่มเป้าหมาย ให้คุณค่ากับเขา ขณะเดียวกันต้องทำควบคู่ไปกับการโฆษณา แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตอบให้ได้คือ ซื้อโฆษณาไปเพื่ออะไร และโฆษณานั้นสะท้อนกลับมาที่ยอดขายหรือไม่ ถ้าทำไปแล้วไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องมองหาวิธีการอื่น เช่น ทำการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ สื่อ ข่าว ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพล เป็นต้น

        ทั้งนี้ ธุรกิจออนไลน์มีโมเดลหรือวิธีการในการหารายได้ที่หลากหลาย ไม่มีจุดตายตัว ลองหาโอกาสว่าเรามีประสิทธิภาพ มีสิ่งที่มีคุณค่าให้กับคน หรืออะไรต่างๆ ที่สามารถสร้างได้บ้าง 

        อย่างไรก็ตามเมื่อฟังกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์ให้ปังจากกูรูด้านการตลาดแล้ว สำหรับผู้ที่ทำการตลาดออนไลน์หรือนักธุรกิจออนไลน์มือใหม่นั้น อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือ "ภาษี" เพราะหากไม่รู้เรื่องภาษี เห็นภาพของรายได้หรือกำไรที่หามาได้อาจจะไม่เหลือเลยก็ได้

  • “ภาษี” เรื่องควรรู้สำหรับการขายออนไลน์

       ถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TaxBugnoms หนึ่งในเพจที่ประสบความสำเร็จจากการเล่าเรื่องภาษีให้เข้าใจง่ายๆ ก็สะท้อนถึงการทำคอนเทนต์ว่า วิธีการทำคือต้องเลือกกลุ่มคนที่ฟัง บางเรื่องอาจมีคนฟังน้อย แต่ก็ฟัง บางเรื่องคนก็ฟังเยอะ สุดท้ายคุณค่าที่คนได้รับ คือ สามารถจัดการรายจ่ายและจัดการเรื่องภาษีได้ สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ตัวตนต้องชัด และต้องรู้ว่าลูกค้าคือใคร เราเป็นอะไร และต้องเลือกในมุมที่เราจะเป็น ถ้าเราเลือกทุกอย่าง ทุกคนจะไม่จำ

        สำหรับเรื่องภาษีนั้น เจ้าของเพจ TaxBugnoms อธิบายเบื้องต้นว่า จริงๆ แล้วควรมองภาษีเป็นค่าใช้จ่ายตัวหนึ่งที่ต้องควบคุมให้ได้ เพราะหากไม่จัดการภาษีอย่างเข้าใจ สิ่งที่ต้องเผชิญคือเบี้ยปรับที่อาจสูงกว่าภาษีที่ต้องจ่ายจริง ซึ่งหลายคนพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ บางคนเสียเงินไปจ้างที่ปรึกษาอาจมากกว่าภาษีที่ต้องจ่ายอีก

ทั้งนี้สโคปเรื่องภาษี ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจตัวเองก่อนว่าวันนี้ทำธุรกิจอะไร มีรายได้ประเภทไหน และสิ่งที่มีต้องเสียอะไรบ้าง ทำไมถึงต้องเสีย ต้องเสียเพราะอะไร ซึ่งต้องคำนวณให้ได้ถึงจะประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้

        “ถนอม" เล่าต่อว่า หากเป็นคนธรรมดาที่เพิ่งเริ่มขายของออนไลน์ สิ่งที่ต้องรู้อันดับแรกคือ รายได้อยู่ที่เท่าไร เป็นคำถามที่ไม่น่าถาม แต่กลายเป็นคำถามที่หลายคนไม่รู้ สิ่งสำคัญ คือ แยกบัญชีชัดเจน และเอารายได้เข้าบัญชี ให้รู้ก่อนว่ามีรายได้อยู่ที่เท่าไร ซึ่งปัจจุบันมีหลากรูปแบบทั้งการเปิดบัญชี หรือการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีบริการ

        ต่อมาคือต้องรู้ว่ามีรายจ่ายเท่าไร และสิ่งที่ตามคือกำไร นี่คือสามสิ่งที่ต้องรู้ก่อนที่จะไปเรื่องภาษี เนื่องจากรายได้จะเกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนของกำไรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ 

สำหรับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีการคำนวณ 2 วิธี คือ

        1. วิธีการคำนวณจากรายได้สุทธิ มาจาก 3 สิ่ง คือ รายได้ หักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยค่าใช้จ่ายที่นำมาหักค่าลดหย่อนนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายจริง ทั้งนี้การหักค่าใช้จ่ายต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่แบ่งรายได้ออกเป็น 8 ประเภท โดยแต่ละประเภทหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน

        โดยขายของออนไลน์นั้นเป็นรายได้ประเภทที่ 8 หรือหากเรียกตามข้อกฎหมายคือ มาตรา 40(8) เมื่อเจาะลึกเข้าไปแล้ว จะพบว่ามีการหักค่าใช้จ่ายได้ 2 รูปแบบ คือ หักแบบเหมา 60% แต่ต้องดูว่ารายได้อยู่ใน 43 ประเภทที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่น การขายของออนไลน์แบบซื้อมาขายไป ฯลฯ ซึ่งวิธีนี้จะง่ายต่อการคำนวณภาษี

        และอีกรูปแบบคือ หักตามค่าใช้จ่ายจริง อธิบายง่ายๆ คือค่าใช้จ่ายอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับรายได้ แต่ต้องพิสูจน์ได้ มีที่มาที่ไปและมีหลักฐาน

        ซึ่งอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นคือ ค่าลดหย่อน โดยปกติแล้วมีหลายตัว เช่น ภาระชีวิตเรา ดูแลคนรอบตัว เป็นต้น และต้องพิจารณาจากการที่แต่ละปีมีการกระตุ้นการใช้จ่ายไหนที่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษบ้าง รวมถึงเรื่องการเก็บเงินดูแลตัวเอง เช่น LTF RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต 

        2. วิธีการคำนวณจากรายได้พึงประเมิน ถ้าคำนวณภาษีออกมาได้ไม่เกิน 5,000 บาท ไม่ต้องเสีย โดยพิจารณาจากรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน ซึ่งเป็นการรวมรายได้จากประเภทที่ 2-8 หากไม่เกิน 1,000,000 บาท จะไม่เสียภาษี เนื่องจากจะคำนวณออกมาได้ไม่เกิน 5,000 บาท หากมีรายได้เกิน 1,000,000 บาท ต้องนำรายได้นั้นมาคุณด้วย 0.5% ได้เท่าไรให้นำไปเทียบกับรายได้สุทธิจากวิธีการคำนวณแบบที่ 1 แล้วให้เลือกตามวิธีที่เสียภาษีสูงกว่า

        นอกจากนี้เมื่อพูดถึงเรื่องภาษีเงินได้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพูดถึงด้วย คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กรมสรรพากรอธิบายถึงแวตว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ค้าขายต้องเสียแวต เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่ามีรายได้มากกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ถึงจะมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ หลักๆ แล้ว แวต เป็นภาษีที่เก็บจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ซึ่งสามารถจดแวตได้ทั้งสรรพากรพื้นที่ และในเว็บไซต์กรมสรรพากร 

        นี่คือเรื่องราวเบื้องต้นที่นักขายออนไลน์ หรือนักธุรกิจออนไลน์ควรรู้ก่อนเริ่มทำธุรกิจ ทั้งยอดขายที่ปังและกำไรที่ไม่หดหายไปกับภาษีที่ไม่รู้

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612
 860
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์