ท่ามกลางสมรภูมิสงครามไวรัสในแต่ละประเทศที่ยังคงน่าเป็นห่วงและยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ในเชิงเศรษฐกิจทั่วโลกเองก็มีอาการไม่ต่างจากนักรบที่ผ่านสงครามมาด้วยร่างกายที่มีบาดแผลเต็มตัว ตั้งแต่อาการบอบช้ำไปจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าพิกลพิการ
หลักฐานจากข่าวที่เราได้ทราบไม่ว่าจะเป็นโรงแรมทั่วประเทศที่ต่างปิดตัวลง ผู้ผลิตรถยนต์ที่ปลดพนักงานจำนวนมหาศาลทั่วโลก ยอดขายรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด สายการบินในหลายประเทศที่ยื่นเรื่องประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการ และตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีกมากมายที่ปรับตัวลดลง ล้วนแสดงให้เห็นถึงระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
จากรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) เพื่อวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
พบว่าสิ่งที่เป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจในประเทศก็คือ “ตลาด (Market)” ในที่นี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ ตลาดสินค้า (Product market) และตลาดแรงงาน (Labor Market) หากทั้งสองตลาดนี้มีแรงผลักดัน ก็จะเป็นแรงกระเพื่อมและกระตุ้นให้เกิดกระแสไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ (Circular flow) เสมือนเป็นการปั๊มหัวใจให้เกิดการไหลเวียนของเลือดในร่างกายมนุษย์เรา
โดยตลาดสินค้า คือ การสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาสินค้า ส่งเสริมให้สินค้าเข้าถึงประชาชนทุกแห่ง รวมไปถึงการแข่งขันด้านราคาเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ส่วนตลาดแรงงาน คือ การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานกับประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวในการนำไปใช้จับจ่ายใช้สอย จึงทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจไหลเวียนอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์ไวรัสระบาดที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างพยายามสร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมนี้ผ่านกลไกและเครื่องมือทางเศรษฐกิจมากมายในมิติของ “ตลาด” โดยเฉพาะ “ตลาดออนไลน์” ที่เป็นช่องทางในการ “ซื้อ” และ “ขาย” โดยมีระบบการขนส่งสินค้าเป็นเครื่องมือสนับสนุนในช่วงที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดออนไลน์คือคำตอบสุดท้ายในช่วงการระบาดของไวรัสอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามการจะสร้างให้เกิดการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ จะต้องทำให้เกิดทั้งตลาดสินค้าและตลาดแรงงานอย่างครบถ้วน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพียงจุดอ่อนเดียวของตลาดออนไลน์ก็เป็นได้ ที่ยังไม่สามารถผลักดันให้แรงกระเพื่อมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบเศรษฐกิจ
อีกหนึ่งตลาดหรือช่องทางจำหน่ายสินค้าที่จะเป็นตัวช่วยเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในยุคนี้ได้ก็คือ “ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต” ที่สนับสนุนทั้งตลาดสินค้า โดยการรวบรวม คัดสรร ตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกประเภท พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ผลิตอาหาร เกษตรกร และผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า และอื่นๆ อีกมากมายในการมีช่องทางจัดจำหน่ายที่มีระบบมาตรฐานสากล ให้ถึงมือผู้บริโภคในทุกพื้นที่ของประเทศในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในตลาดแรงงานทั่วประเทศอย่างชัดเจน
หากจะเปรียบบทบาทของไฮเปอร์มาร์เก็ตกับอวัยวะในร่างกายของคนเรา ก็อาจจะพูดได้ว่ามันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยกระจายเลือดและสารอาหารสู่อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเรานั่นเอง และยังทำหน้าที่คอยสนับสนุนกระดูกสันหลัง จะว่าไปแล้วก็หมายความถึงอาชีพที่เป็นเสาหลักของประเทศ นั่นก็คือเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา และอาจรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้สามารถกระจายสินค้าไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศได้ รวมไปถึงการจ้างงาน ส่งเสริมให้คนประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น
สิ่งที่อยากจะชวนให้คิดต่อ ก็คือ หากเรามองเห็นว่าเส้นเลือดใหญ่ของประเทศที่ว่านี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศเราแล้ว แต่เส้นเลือดใหญ่นี้กลับมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของเสียอย่างนั้น และเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เลือดที่นำพาสารอาหารไหลออกนอกร่างกายของเราไป จะดีกว่าหรือไม่ที่เส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทยเราจะกลับมาเป็นเราเอง