ทฤษฎีการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แบบใหม่ “K-Shaped”

ทฤษฎีการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แบบใหม่ “K-Shaped”

การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มลุกลามไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกทรุดตัวหนัก

        - สหรัฐอเมริกา GDP ไตรมาสสอง หดตัว 32.9% จากไตรมาสแรก
        - สหราชอาณาจักร GDP ไตรมาสสอง หดตัว 20.4% จากไตรมาสแรก
        - ไทย GDP ไตรมาสสอง หดตัว 9.7% จากไตรมาสแรก

พอเป็นแบบนี้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาในรูปแบบไหน?

        - บางคนบอกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากจุดต่ำสุด คล้ายลักษณะตัว “V”
        - บางคนบอกว่าเศรษฐกิจจะยังคงตกต่ำไปอีกระยะหนึ่งแล้วจะฟื้นตัวกลับมา คล้ายลักษณะตัว “U”
        - บางคนบอกว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะเวลาหนึ่ง คล้ายเครื่องหมายถูก สัญลักษณ์ NIKE

และล่าสุดเริ่มมีการพูดถึง “K-Shaped Recovery” หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปแบบตัว K การฟื้นตัวแบบตัว K ที่ว่านี้เป็นอย่างไร

        K-Shaped Recovery หรือการฟื้นตัวในรูปแบบตัว “K” อธิบายคำนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือจะมีทั้งกลุ่มที่ “ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว” และกลุ่มที่ “ยังไม่ฟื้นตัวและแย่ลงเรื่อยๆ” เหมือนกับตัวอักษร “K” ที่มีทั้งเส้นทแยงขึ้น และทแยงลง ถ้าลองดูตัวอย่างของสหรัฐอเมริกา ที่โควิด-19 ระบาดหนักตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมกลุ่มที่ฟื้นตัวได้เร็ว คือกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี อย่างเช่น Microsoft, Apple, Facebook

        ผลประกอบการในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ที่ผ่านมา Microsoft รายได้เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว Apple รายได้เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว Facebook รายได้เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกัน ของปีที่แล้ว จะเห็นว่าแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่รายได้ของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ยังคงขยายตัวจากปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบน้อยมากต่อธุรกิจเหล่านี้

        ในขณะที่อีกกลุ่มกลับตรงกันข้าม อย่างเช่น ธุรกิจสายการบิน ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการไม่ออกเดินทางของผู้คน ผลประกอบการในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ของสายการบินในสหรัฐฯ Delta Air Lines รายได้ลดลง 88% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว American Airlines รายได้ลดลง 86% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว Southwest Airlines รายได้ลดลง 83% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

        ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ก็จะเห็นว่าเป็นในทำนองเดียวกัน คือมีธุรกิจบางกลุ่มที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาได้แล้ว เช่น ธุรกิจกลุ่มค้าปลีก รวมถึงมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการระบาดของโควิด-19อย่างเช่น กลุ่มผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ และบริการ Food Delivery

        ในขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มที่ยังคงเจ็บหนัก เช่น สายการบินและโรงแรม เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ มีรายได้จากการเดินทางของผู้คน โดยเฉพาะการเดินทางมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ยังไม่สามารถมาเที่ยวประเทศไทยได้ตามปกติเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยมีประมาณ 40 ล้านคน แต่ในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น

        พอเรื่องเป็นแบบนี้ เราก็จะเห็นว่าในขณะที่ทุกอย่างกำลังเดินไปข้างหน้า กำลังมีทั้งคนที่ฟื้นตัวได้ และคนที่กำลังแย่ลงในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นที่มาของรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบตัว K ที่หลายคนกำลังพูดถึงกันและยิ่งเราลากหางของตัว K ทั้งสองฝั่งให้ยาวออกไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าจุดปลายของทั้งสองเส้นห่างกันมากขึ้นทุกที หมายความว่าคนที่ฟื้นตัวแล้ว ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่ยังไม่ฟื้น ก็จะยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน

ที่มา :
 Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612
 3601
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์