ทำไม อังกฤษ จึงเป็นประเทศแห่ง ผู้ตรวจสอบบัญชี?
“Big 4” คือ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลก 4 ราย ซึ่ง 3 ใน 4 รายของ Big 4 เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ ได้แก่ Deloitte, PwC (PricewaterhouseCoopers) และ EY (Ernst & Young) มากกว่า 99% ของบริษัทยักษ์ใหญ่ 500 บริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ล้วนใช้บริการของ Big 4 เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้นไทยเกือบทั้งหมด
อะไรที่ทำให้บริษัทอังกฤษ ได้รับความน่าเชื่อถือทางด้านการเงิน และยอมรับในระดับโลก ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับระบบการทำงาน ของบริษัทตรวจสอบบัญชีเหล่านี้กันสักนิดบริษัทตรวจสอบบัญชี จะมีบริการหลักๆ อยู่ 4 อย่าง คือ
1. การตรวจบัญชี (Audit) 2. การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ (Advisory) 3. การวางแผนภาษี (Tax) 4. การบริการอื่นๆ เข่น ด้านกฎหมาย (Legal)
บริการที่ซับซ้อนเหล่านี้ ล้วนต้องอาศัยความน่าเชื่อถือและประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้บริษัทอังกฤษยังคงได้รับความน่าเชื่อถือ คือ “การเป็นศูนย์กลางการเงิน” มายาวนานของกรุงลอนดอน จากระบบบัญชีคู่ที่คิดค้นโดยตระกูลเมดิซีแห่งเมืองฟลอเรนซ์ บนคาบสมุทรอิตาลี มาสู่กรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ศูนย์กลางการเงินและการค้าของโลกในศตวรรษที่ 17
ลอนดอนศึกษาต้นแบบระบบการเงินและบัญชีมาจากกรุงอัมสเตอร์ดัม โดยค่อยๆ ปรับปรุงและพัฒนาระบบการเงินและการธนาคารของตัวเอง ตลาดหุ้นลอนดอนก่อตั้งในปี ค.ศ. 1571 ธนาคาร Barclays ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1690 ธนาคาร Lloyds ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1765 ซึ่งตรงกับช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งธนาคารทั้ง 2 แห่งนี้ ล้วนยังคงเปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อจักรวรรดิอังกฤษขยายดินแดนไปทั่วโลก กรุงลอนดอนเติบโตกลายเป็นศูนย์กลางการค้า มีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า และองค์ความรู้ต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก เชื่อมโยงด้วยกองเรือสินค้าของอังกฤษที่มากที่สุดในโลก จนก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกในช่วงศตวรรษที่ 19 สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่พาให้อังกฤษเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม
การปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ การประดิษฐ์เครื่องจักร มาเป็นเครื่องทุ่นแรงแทนแรงงานของมนุษย์ โดยเริ่มจากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ และเครื่องทอผ้า ในปี ค.ศ. 1787 เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น กิจการมีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณธุรกรรมที่มากและซับซ้อนสูงขึ้น เช่น มีบริษัทลูกมากมาย, มีการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ, มีการลงทุนในหลากหลายประเทศ รวมไปถึงการซื้อสินทรัพย์หรือกิจการต่าง ๆ ซึ่งการที่จะนำรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ที่มีความซับซ้อนมาแปลงเป็นตัวเลขที่อยู่ในงบการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเริ่มมีการพัฒนาระบบบัญชีสมัยใหม่ และมีอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชียุคใหม่
ต่อมาเมื่อโรงงานเริ่มใช้พลังงานจากถ่านหิน จึงมีการพัฒนาระบบขนส่ง เพื่อนำถ่านหินและวัตถุดิบมาป้อนให้กับโรงงาน เส้นทางรถไฟสายแรกของโลก ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1829 ที่ประเทศอังกฤษ ไม่นานรถไฟก็กลายเป็นระบบขนส่งทางบกที่รวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือมากกว่าระบบใด ๆ ทำให้ผู้คนเดินทางไปได้ไกลกว่าที่เป็นมา และการขนส่งทางรถไฟ กลายเป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของอังกฤษ บริษัท Great Western Railway หรือ GWR เป็นบริษัทที่ให้บริการรถไฟสายตะวันตกของเกาะอังกฤษ เชื่อมระหว่างกรุงลอนดอนกับเขตอุตสาหกรรม Midlands ทางตะวันตกเฉียงเหนือ
การใช้เงินไปกับการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทำให้ราคาหุ้นของ GWR ร่วงลงอย่างหนัก ในปี ค.ศ. 1849 บริษัท GWR จึงต้องการที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จะช่วยตรวจสอบบัญชีและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ บริษัทจึงได้จ้างผู้ตรวจบัญชีอิสระชื่อว่า William Welch Deloitte ซึ่งได้ก่อตั้งสำนักงานบัญชี Deloitte มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1845 นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจ้างผู้ตรวจบัญชีอิสระทำงานให้กับบริษัทมหาชน
ผลจากการนำข้อมูลทางบัญชีมาให้คำปรึกษาทางธุรกิจของ Deloitte ประสบความสำเร็จอย่างมาก กิจการของ Deloitte ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการดึงตัวผู้ตรวจบัญชีอิสระมาร่วมงานมากขึ้น แต่การมีจำนวนผู้ตรวจบัญชีอิสระมาก ทำให้เจ้าของกิจการเริ่มไม่แน่ใจในคุณภาพของบุคคลเหล่านี้ เหล่าผู้ตรวจบัญชีจึงรวมตัวกันเพื่อสร้างมาตรฐาน และบรรจุให้ผู้ตรวจบัญชีกลายเป็นวิชาชีพ ผู้ตรวจบัญชีในสกอตแลนด์ได้รวมตัวกันถวายฎีกาต่อพระราชินีนาถวิกตอเรีย เพื่อจัดตั้งสภาวิชาชีพบัญชี (Chartered Accountant) ในปี ค.ศ. 1854
ซึ่งต่อมาผู้ตรวจบัญชีในอังกฤษ ก็ได้จัดตั้งสภาวิชาชีพในปี ค.ศ. 1880 สภาวิชาชีพบัญชี ส่งผลให้ผู้ตรวจบัญชีกลายเป็นวิชาชีพ ต้องมีมาตรฐานการสอบ เพื่อประเมินความรู้ความสามารถ ทั้งในด้านบัญชี ธุรกิจ ภาษี และกฎหมาย ผู้ตรวจบัญชีของอังกฤษ จึงกลายเป็นมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจของโรงงานและกิจการ ทั้งในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ทั่วยุโรป
ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมในอังกฤษกำลังเฟื่องฟู มีการจัดตั้งสำนักงานบัญชีขึ้นหลายแห่งในกรุงลอนดอน Samuel Price ได้รวมบริษัทกับ Edwin Waterhouse เพื่อจัดตั้งสำนักงานบัญชี Price Waterhouse & Co ในปี ค.ศ. 1874
Alwin C. Ernst และน้องชาย ที่ได้ก่อตั้งบริษัท Ernst & Ernst ในปี ค.ศ. 1903 แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ Deloitte และ Price Waterhouse คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ทำให้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมมีราคาถูก โรงงานในสหรัฐฯ จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยความต้องการผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีมาตรฐานทั้ง 2 บริษัทบัญชีของอังกฤษ จึงได้ขยายมาเปิดสำนักงานในสหรัฐอเมริกา โดยเปิดสำนักงานในนิวยอร์ก ในช่วงปี ค.ศ. 1880-1890 ด้วยความน่าเชื่อถือและประสบการณ์ ทำให้ทั้ง 2 บริษัท ได้รับการตอบรับที่ดีจากโรงงานและกิจการอเมริกัน มีการขยายและควบรวมบริษัทอื่นๆ เพื่อขยายการให้บริการ
ส่วน Ernst & Ernst ก็ได้มาเปิดสำนักงานในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน มีการควบรวมกับหลายบริษัท โดยเฉพาะ Arthur Young & Company บริษัทของชาวอังกฤษ ซึ่งเปิดสำนักงานในชิคาโกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 จนกลายเป็น Ernst & Young ในปี ค.ศ. 1989 ต่อมาเมื่อประเทศอื่นๆ มีการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ล้วนมีความต้องการผู้ตรวจบัญชี บริษัททั้ง 3 ก็ได้ขยายสำนักงานไปยังประเทศเหล่านี้ ปัจจุบันทั้ง Deloitte, PwC และ EY มีสำนักงานตั้งอยู่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้บริการครบวงจร ทั้ง 4 ด้าน ทั้งการตรวจบัญชี ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ภาษี และกฎหมาย
การพัฒนาระบบการเงินและวิชาชีพบัญชีมาอย่างยาวนาน ทำให้บริษัทสัญชาติอังกฤษทั้ง 3 บริษัท กลายเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักบัญชีที่มีความสามารถและเป็น 3 ใน 4 ของ “Big 4” ในวงการบัญชี ซึ่งเป็นที่ยอมรับของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก