มาตรการการสนับสนุนทางการเงิน ผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย

มาตรการการสนับสนุนทางการเงิน ผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย

        ผมเป็นหนึ่งในกรรมการการบริหารของคณะกรรมการสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม แห่งชาติ (กอวช.) และได้มีโอกาสร่วมเสวนาเรื่องมาตรการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อสนับสนุน ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับคณะกรรมการบริหารหลายท่าน ทำให้ผมมีโอกาสได้รับทราบข้อมูลของการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ที่ประสบวิกฤติโดยเฉพาะสภาพคล่องทางการเงินและปัญหาของการดำเนินธุรกิจ มีความจำเป็นจะต้องได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการสนับสนุนทางการเงินแก่ SME อันจะเป็นประโยชน์ในการที่จะอยู่รอดหลัง Covid-19 ได้ จึงขอนำมาสรุปให้ทราบพร้อมข้อเสนอดังนี้ครับ

จำนวนผู้ประกอบการในประเทศไทย

        จากข้อมูล สสว. พบว่า มีผู้ประกอบการขนาดใหญ่กว่า 14,102 ราย มีการจ้างงาน 5.3 ล้านคน

          - ผู้ประกอบการขนาดกลางจำนวน 40,652 ราย มีการจ้างงาน 2.4 ล้านคน

          - ผู้ประกอบการขนาดกลาง จำนวน 384,960 ราย มีการจ้างงาน 5.4 ล้านคน

          - ผู้ประกอบการรายย่อย Micro 2,644,561 ราย มีการจ้างงาน 5.4 ล้านคน

          - ผู้ประกอบกิจการ Start Up จำนวน 1,700 ราย (ข้อมูล สนช. ปี 2561)

        โดยหากแบ่งกลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการ จะพบว่าผู้ประกอบการ SME และรายย่อยมีประมาณ 3.11 ล้านราย มีการจ้างงาน 12.1 ล้านคน ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคของการค้าและภาคบริการเป็นหลัก

ปัญหา และความต้องการของธุรกิจรายย่อยและรายเล็ก รายกลางและรายใหญ่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น อาจแบ่งได้ดังนี้คือ

  1. ธุรกิจรายย่อยไม่เข้าใจธุรกิจสมัยใหม่และมีกำไรน้อย รวมถึงการขาดความรู้ทางบัญชีและการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในส่วนของอีคอมเมิร์ซ และ Chain Store รวมถึงการเข้าถึง Micro Finance
  2.  ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางขาดความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจในระดับสากลและไม่มีการพัฒนานวัตกรรมใน Supply Chain รวมถึงการขาดความรู้ทางบัญชีการเงินและปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้เช่นเดียวกับธุรกิจรายย่อย ธุรกิจกลุ่มนี้ก็จำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีสร้างคุณภาพและมาตรฐานเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ เพื่อให้มีคุณภาพมาตรฐานและเพิ่มเรื่องของนวัตกรรม
  3. ธุรกิจขนาดใหญ่ก็เป็นประเด็นเรื่องนโยบายของฝ่ายบริหารที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน การร่วมลงทุนและการดำเนินธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะต้องมีสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถในการ Diversify ไปสู่ธุรกิจใหม่ได้
  4. ส่วนธุรกิจ Startup ก็จะขาดแหล่งเงินทุนในการที่จะเริ่มต้นรวมทั้งในการขาดความสามารถในการพัฒนาธุรกิจให้มีความรุ่งเรืองอีก ในทางเทคโนโลยี หรือ Deep Tech จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีหลัก หรือนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีตลาดที่สนับสนุนทางการเงินและการดูแล หรือโครงการเพื่อจะบ่มเพาะให้ธุรกิจสตาร์ตอัพให้เจริญเติบโตได้

ทั้งนี้ ในเอกสารของ สอวช. ได้มีข้อเสนอเพื่อให้เกิดอีโคซิสเต็มในนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ได้ระบุถึงการค้าอื่น โดยมีปัจจัยหลัก 7 ประการดังนี้คือ

  1. จัดทำบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อสนับสนุนสินค้าและบริการนวัตกรรมของไทย โดยใช้ตลาดภาครัฐ ทั้งนี้ เมื่อสินค้าและบริการนั้นได้ผ่านการวิจัยหรือพัฒนา และได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์แล้ว รวมถึงราคาจากสำนักงบประมาณ ก็จะประกาศบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งจะทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้โดยวิธีพิเศษ

                    ปัญหาข้อจำกัดในระบบบัญชีนวัตกรรมของไทย คือ

                    1.1 สินค้าไม่ตรงตามความต้องการ

                    1.2 หน่วยงานรัฐไม่เลือกซื้อเพราะไม่มีกลไกบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องซื้อจากนวัตกรรม

                    1.3 การขึ้นทะเบียนล่าช้าหากเป็นยาและวัสดุสิ้นเปลืองที่ต้องรอขึ้นทะเบียนซึ่งใช้เวลามาก ซึ่งข้อแก้ไขก็ควรจะมีการกำหนดสเป๊กไว้ล่วงหน้าสร้างระบบสั่งซื้อภาครัฐ โดยนำมาอยู่ในบัญชีนวัตกรรมให้เป็นตัวเลือกของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการขึ้นทะเบียนอัตโนมัติ ถ้ากรณีเป็นยาและวัสดุสิ้นเปลือง

  1.  ขาดแรงจูงใจในการดำเนินกิจการนวัตกรรม เช่น ปัจจุบันหน่วยงานให้ทุนหรือมหาวิทยาลัยก็จะเป็นเจ้าของงานวิจัยนั้น จึงควรมีกฎระเบียบเพื่อมอบสิทธิ์ให้กับผลงานวิจัยให้กับผู้รับทุนและปัจจัย กรมสรรพากรได้ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยให้หักค่าใช้จ่าย 300% เพื่อลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรหรือลงทุนในกองทุน แพ็กเกจ อย่างไรก็ดี พบว่าสิทธิภาษีก็มีความยุ่งยากและข้อจำกัดในการใช้
  2.  มาตรการสนับสนุนทางการเงิน ปัจจุบันมีเงินทุนจากกองทุนหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ MAI ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กองทุน BOI ซึ่งมีจำนวนมาก รวมถึงการลดหย่อนภาษีด้วยมาตรการทางการเงินเหล่านี้ แต่การลงทุนของหน่วยงานของรัฐซึ่งมีข้อจำกัดว่าเมื่อลงทุนไปแล้วเกิดความเสียหาย คณะกรรมการที่ตัดสินใจไปลงทุนในการที่จะยอมเสี่ยงในการไปลงทุน จึงมีข้อจำกัดเพราะเกรงว่าจะถูกฟ้องร้องได้ ความจริงแล้วรัฐบาลน่าจะมีมาตรการการลงทุนผ่านบริษัทเอกชนหรือกองทุนของเอกชนขนาดใหญ่ในลักษณะ Matching Fund คือ เอกชนลงส่วนหนึ่งและรัฐลงส่วนหนึ่งโดยให้บริหารจัดการแบบเอกชน
  3.  โครงการพัฒนากำลังคนเพื่อผู้ประกอบการ เพื่อนำบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความต้องการของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นอาจารย์และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัย รวมทั้งจัดหลักสูตรต่างๆ ให้ Reskill Upskill Platform สำหรับลูกจ้าง พนักงาน ที่ต้องปรับปรุงความรู้
  4.  จัดพื้นที่นวัตกรรมในแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ ภาคใต้ และใน EEC
  5.  จัดทำโครงสร้างพื้นฐานหรือโรงงานต้นแบบ รวมทั้งการจัดทำระบบมาตรฐานต่างๆ เพื่อการรับรองสินค้านวัตกรรม
  6. การปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดล็อกเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง การปลดล็อกเรื่องการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล การใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการขับเคลื่อนด้วย Sandbox เพื่อแก้ไขกฎหมายการสร้างนวัตกรรมในด้านเกษตรและอาหาร และการร่วมมือของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการและให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนข้อจำกัดทางกฎหมาย

ข้อเสนอมาตรการทางการเงินเพื่อประกอบการนวัตกรรมของ กอวช.

  1. ให้มีการนิรโทษกรรมทางภาษีแก่ผู้ประกอบการ และให้การสนับสนุนทางการเงินในช่วงโควิด เพราะการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่รายเล็กก็ไม่ได้เสียภาษีในปีแรกๆ อยู่แล้วและการขยายขอบเขตการพัฒนาและวิจัยให้ครอบคลุมถึงนวัตกรรมทางด้านการตลาดด้วย (ข้อเสนอนี้เหมาะสมกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากราชการมีข้อมูลผู้ประกอบการครบถ้วน)
  2.  ให้มีการส่งเสริมการให้ทุนโดยตรงของภาคเอกชน โดยเป็นกองทุนและสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่บริษัทขนาดเล็ก เพราะถ้าให้หน่วยงานของรัฐให้ความสนับสนุน ก็อาจจะมีอุปสรรคเรื่องของการตัดสินใจในการให้ทุน เพราะเกรงว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือการที่ให้ทุนไปแล้ว โครงการอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ จะส่งผลกระทบกับหน่วยงานลงทุนของรัฐ
  3. การให้ขยายขอบเขตการให้เงินกู้ เพื่อครอบคลุมการพัฒนาด้านประกอบการเพื่อความเป็นเลิศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Cashless Society เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจัดการไมโครไฟแนนซ์ (ข้อเสนอนี้จะทำให้การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทำได้โดยเฉพาะโครงการไทยช่วยไทย กระตุ้นค่าครองชีพที่ควรโอนเงินผ่านบัตร Smart Card ให้กับผู้ได้รับความช่วยเหลือและผู้ประกอบการ)
  4. เพิ่มการลงทุนจากภาครัฐ ดึงดูดการลงทุนจากเอกชน โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับ Venture Capital และเอกชนที่จะลงทุนใน SME สร้างเครือข่ายกลุ่มนักธุรกิจที่เป็นนักลงทุนที่เรียกว่าพิเศษ Angle Investor รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุน Financing ให้ครบวัฏจักรธุรกิจ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจธุรกิจ SME ให้มีศักยภาพและนวัตกรรมสร้างโอกาสการแข่งขันและเสริมสร้างให้ธุรกิจเจริญเติบโต โดยที่ให้บริษัทขนาดใหญ่และภาครัฐบริจาคเงินเข้ากองทุน โดยให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทที่บริจาคเข้าเงินกองทุน ยกเว้นภาษี 200% ของเงินบริจาค เพื่อไปจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเพื่อช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมทั้งการลงทุนด้านเครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซื้อลิขสิทธิ์สิทธิบัตรเทคโนโลยีวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีรวมทั้งการลงทุนในกิจการที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจ
  5. จัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ทุนกับบริษัทขนาดเล็ก ในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาสินค้าหรือนวัตกรรมที่มีความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและการตลาดสูง รวมทั้งการพัฒนาตัวอย่างรูปแบบของสินค้าและเมื่อสินค้าเข้าสู่ตลาดได้ ก็จะเริ่มให้มีการร่วมลงทุนกับกองทุน Venture Capital และการเข้าร่วมทุนระยะ3 เรียกว่า SBIR/STTR

            นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอด้านกำลังคนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้ง Clearing House เพื่อเชื่อมโยงนักเรียนทุนและบุคคลที่บริษัทต้องการทำเพื่อจะส่งบุคคลเหล่านั้นไปช่วยเหลือบริษัท รวมทั้งการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและความต้องการของตลาด

ข้อเสนอทางการเงินเพื่อช่วย SME : Big Data จำเป็นอย่างยิ่ง

            เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินมีความสำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจในช่วง Covid-19 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงินมาช่วย SME ซึ่งผมมีข้อเสนอดังนี้

  1. จัดแหล่งเงินกู้เพื่อส่งเสริมสภาพคล่อง ด้วยอัตราดอกเบี้ยถูกให้แก่ SME สามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนรวมถึงกองทุนต่างๆ หรือการจัดหาแหล่งเงินกู้หรือสภาพคล่องให้กับธุรกิจ SME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องใช้โอกาสนี้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เรียกว่า Big Data ให้เข้ามาอยู่ในที่เดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากรัฐบาลและสถาบันการเงิน

          ดังที่ผมได้เคยเสนอไปแล้วว่า ทำอย่างไรที่ข้อมูล SME รวมถึงประชาชนผู้ทำงานลูกจ้างทุกคนที่มีอยู่กระจัดกระจายจะสามารถรวมศูนย์ได้ในที่เดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือผ่านลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่เป็น SME และบรรดาลูกหนี้รายย่อยที่บรรดาสถาบันการเงินทั้งของเอกชนหรือของรัฐ ต่างมีข้อมูลของบรรดาผู้ประกอบการ SME แลผู้ประกอบการรายย่อย เหล่านั้นอยู่ครบถ้วนแล้ว

          ดังนั้น รัฐควรใช้โอกาสนี้ในการนำข้อมูลของ SME และรายย่อยทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย ที่บรรดาสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนมีอยู่ และที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล มารวบรวมเพื่อให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนในช่วงโควิดมาพิจารณา

          โดยสถาบันการเงินเหล่านี้ต้องพิจารณาดูว่า ธุรกิจประเภทใดที่มีความจำเป็นจะได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง โดยมีเงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่มีการเลิกจ้างคนงานที่มีอยู่เป็นจำนวนกว่า 12 ล้านคน โดยการให้ความช่วยเหลือก็อาจยังคงเป็นรูปแบบของการให้เงินกู้หมุนเวียน ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกในช่วงระยะกว่า 1.7 ปี โดยพิจารณาว่าบริษัทดังกล่าวนี้เป็นลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารหรือไม่ หรือหากเป็นลูกหนี้ที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลมาก่อน ก็ควรให้คิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการเสียภาษีมากกว่าผู้ประกอบการธุรกิจที่ไม่เคยได้เสียภาษี

          รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขของการจ้างพนักงานโดยรัฐบาลก็จ่ายเงินสมทบกับเงินเดือนของลูกจ้าง พนักงาน เหล่านั้นโดยกำหนดให้ข้อมูลเหล่านั้น โดยเงินหมุนเวียนกังกล่าวจะต้องโอนผ่านบัตร Smart Card เท่านั้น เพื่อรัฐบาลจะสามารถมีข้อมูลดังกล่าว ในการใช้เงินดังกล่าวให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

          ปัจจุบัน รัฐบาลมีแหล่งข้อมูลของประชาชน ผู้ประกอบการมีอยู่หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ผู้เสียภาษีของกระทรวงการคลัง ลูกจ้างของกระทรวงแรงงาน ผู้ยากจนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือเกษตรกร หรือประมงของกระทรวงเกษตรฯ หรือชาวไร่อ้อยของกระทรวงอุตสาหกรรม ข้อมูลของประชาชนเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะนำมาพิจารณาดูว่าหากช่วยเหลือผ่านบัตร Smart Card แล้วจะมีการหมุนเวียนเงินในระบบจำนวนมาก โดยเฉพาะหลัง Covid-19 มีธุรกิจประเภทใดที่จะรอดและจ้างคนงานได้ รวมถึงมีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือเหล่านั้น ที่มีผลกำไรและนำเงินกู้มาคืนรัฐและเสียภาษีในการอนาคต และที่สำคัญคือ ต้องให้เกิดการหมุนเวียนในระบบหากมีการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ

ทางสภาหอการค้าไทยได้เคยให้มหาวิทยาลัยหอการค้าทำการวิจัยเรื่องการเสริมสภาพคล่องให้กับ SME เรื่องเสริมสภาพคล่องเพื่อพนยุงการจ้างงาน พอสรุปได้ดังนี้

          - ประเทศไทยมี SMEs ทั้งระบบจำนวนประมาณ 3.11 ล้านราย และในจำนวนนี้มีการจ้างงานรวมประมาณ 12.1 ล้านตำแหน่ง

          - หากมีการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับ SMEs ในวงเงิน 500,000 ล้านบาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท (หรือมี Multiplier Effect ประมาณ 2.5 เท่า) และจะช่วยพยุงการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.3 ล้านตำแหน่ง (หรืออาจจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับ SMEs ทุกๆ 100,000 ล้าน จะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเป็นมูลค่าประมาณ 247,128 ล้านบาท และจะพยุงการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 261,417 ตำแหน่ง) หากมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านบัตรจะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในแง่การวางแผนและการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศในระยะกลางและระยะยาว

          ตัวอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย สำหรับลูกหนี้มีเงินรวมตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท ซึ่งมีฐานะปกติหรือ NPL ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าได้รับผลแระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด ก็มีข้อเสนอให้แก้ไขหนี้เดิมโดยการขยายเวลา ลดค่างวดและให้สินเชื่อใหม่

          ซึ่งในความเป็นจริงแล้วลูกหนี้เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย รัฐบาลจึงควรมีมาตรการที่เร่งด้วยและเข้าถึงง่าย การมีข้อมูลใน Big Data ของบรรดา SME จึงสำคัญ รวมทั้งการโอนเงินกู้เข้าบัตร Smart Card ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินได้ง่าย

  1. การที่รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ เรียกว่า "โครงการคนละครึ่ง" ที่รัฐบาลจะมีโครงการจะใช้เงิน 45,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อโอนเงินให้ประชาชน 15 ล้านคน คนละ 3,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีเงินในระบบ 90,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2 เท่า โดยอาจมีผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 80,000 ราย ที่จะได้รับประโยชน์รวมทั้งมาตรการเพิ่มสิทธิ "เราเที่ยวด้วยกัน" การลงทะเบียนของประชาชน 4.74 ล้านราย รวมถึงมาตรการชิมช้อบใช้ที่จะตามมา

          ผมขอเสนอให้การโอนเงินช่วยเหลือของโครงการดังกล่าวข้างต้น ที่จะมีให้กับประชาชนโดยให้รัฐบาลควรโอนผ่านบัตร Smart Card หรือจัดทำ Application หรือบัตรให้กับประชาชนโดยควรเริ่มจากผู้ยื่นเสียภาษีทั้งหมดซึ่งมีประมาณ 11.57 ล้านคน มีผู้เสียภาษี 4.65 ล้านราย เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้ได้ใช้จ่ายผ่านบัตรหรือให้หักเป็นเครดิตภาษีได้โดยเฉพาะโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คนกลุ่มนี้จะสามารถใช้จ่ายเพิ่มเติมมากขึ้นอีกได้มากกว่า 1 เท่า หรือ 2 เท่า

          รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากบรรดาประชาชนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและใช้ข้อมูลนี้สำหรับโอนเงินช่วยเหลือหากมี Covid-19 ระบาดรอบสองแก่กลุ่มเปราะบาง ก็ควรจะผ่านระบบ Smart Card

  1. การรวบรวมข้อมูลการจ้างงานที่เกิดขึ้นใหม่ ของกระทรวงแรงงาน หรือ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ก็เช่นเดียวกันที่เงินเดือนควรโอนเป็นบัตร Smart Card เพื่อใช้จ่ายในระบบเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและจะเข้ามาอยู่ในระบบภาษีและมีข้อมูลคุณสมบัติความรู้ของคนงานลูกจ้างเพื่อการ Up skill หรือ Reskill ได้ให้ตรงกับรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Normal) ได้

          รัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการที่จะรวบรวมข้อมูล (Big Data) ทุกภาคส่วนมารวมอยู่ในที่เดียวกันผ่านกระทรวงDE แทนที่จะมีข้อมูลอยู่แต่ละกระทรวง อันจะเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินด้วย เพราะโอกาสนี้เป็นโอกาสเดียวที่รัฐบาลจะมีข้อมูลของผู้ประกอบการและประชาชนครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และในอนาคตรัฐบาลก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ตรงจุด และสามารถปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศในระยะยาว จากข้อมูลของประชากรที่ครบถ้วนถูกต้องได้อย่างแน่นอน

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612
 1099
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์