3 ขั้นตอนก่อนตัดสินใจว่า เราควรเก็บเงินไว้ที่ไหน

3 ขั้นตอนก่อนตัดสินใจว่า เราควรเก็บเงินไว้ที่ไหน

        เมื่อแต่ละคนมีรายได้ ไลฟ์สไตล์ ความรับผิด และมีเป้าหมายการใช้เงินที่แตกต่างกัน จึงใช้วิธีจัดการเงินไม่เหมือนกัน บทความนี้จะมีตัวอย่างจริงเพื่ออธิบายให้เห็นภาพว่าแต่ละแนวคิด นำมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

        คุณพี่ในตัวอย่างนี้อนุญาตให้นำเรื่องราวมาเผยแพร่ได้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนและเข้าใจวิธีจัดการเงินได้ดีมากขึ้น คุณพี่ท่านนี้มาสมัครเรียนคอร์สการเงินส่วนตัวกับอภินิหารเงินออมที่เชียงใหม่ เป้าหมายเพื่ออยากรู้ว่าตัวเองควรจัดการเงินอย่างไร เราเริ่มต้นกันที่...

3 ขั้นตอนก่อนตัดสินใจว่าเราควรเก็บเงินไว้ที่ไหน

        ขั้นตอนที่ 1 ต้องการเก็บเงินไปเพื่ออะไร

แนวคิดการเงิน

ถ้าเป้าหมายการเงินชัดเจน อะไรๆก็ชัดเจน ทำให้เรารู้ว่าแต่ละเดือนควรเก็บเงินอย่างไร เพื่อไปให้ถึงแต่ละเป้าหมายตามที่คิดไว้

  • เราต้องการใช้เงินไปกับเรื่องอะไรบ้าง 
  • จำนวนเงินเท่าไหร่และจะใช้เงินแต่ละก้อนตอนไหน อีกกี่วัน อีกกี่เดือนหรืออีกกี่ปี 
  • เรียงลำดับความสำคัญ 1 , 2 , 3 , ... เพื่อจะได้รู้ว่าควรทำอะไรให้เสร็จก่อนหลัง

        อ่านถึงตรงนี้อาจจะเห็นว่าทำง่ายๆ แต่ความจริงแล้วก็ต้องใช้เวลานึกนานมากกว่าจะเขียนเสร็จ เพราะส่วนใหญ่รู้ว่าต้องการใช้เงินทำอะไร แต่ไม่เคยรวมตัวเลขว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่และมีบางเรื่องที่มองข้ามไป เช่น การจ้างคนมาดูแลพ่อแม่ ค่าเทอมที่ต้องรวมเงินเฟ้อ  

ตัวอย่าง

        คุณพี่ท่านนี้เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีลูก 1 คน อายุ 4 ขวบ จึงทุ่มเทกับลูกเยอะมาก รวมถึงวางแผนป้องกันความเสี่ยง โดยการซื้อประกันชีวิตความคุ้มครองรวมกันมากกว่า 10 ล้านบาท ถ้าอายุยืนหาเงินมาเลี้ยงดูลูกได้ แต่ถ้าโชคร้ายอายุสั้นจะมีเงินก้อนจากประกันชีวิตมาดูแลลูกไปจนกระทั่งเรียนจบ เป้าหมายการเงินของเขา คือ 

  1. เงินฉุกเฉินเพิ่มขึ้น xxx,xxx บาท เก็บให้เร็วที่สุด
  2. ค่าเทอมของลูก x,xxx,xxx บาท เก็บแบบรายปี
  3. สร้างธุรกิจ xxx,xxx บาท อีก 2 ปีข้างหน้า
  4. เงินเกษียณของตัวเอง xx,xxx,xxx บาท อีก 20 ปีข้างหน้า

        ขั้นตอนที่ 2 เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน

แนวคิดการเงิน

        การตรวจสุขภาพการเงิน โดยใช้ตัวเลขในงบการเงินส่วนบุคคล คือ รายได้ รายจ่าย ทรัพย์สินและหนี้สิน มาคำนวณอัตราส่วนทางการเงิน ทำให้รู้ว่าตอนนี้เรามีจุดแข็งและจุดอ่อนการเงินอะไรบ้าง ทั้งเรื่องสภาพคล่อง หนี้สิน การออมและการลงทุน รวมถึงเรื่องประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

ตัวอย่าง

        แม้ว่างานของคุณพี่จะยุ่งแค่ไหน แต่ก็ยังแบ่งเวลาทำการบ้านสรุปข้อมูลการเงินที่จะต้องใช้ในการวางแผนการเงินมาให้ทางอีเมล คือ

✅ รายได้ รายจ่าย 

✅ ทรัพย์สิน หนี้สิน 

✅ สรุปกรมธรรม์ประกันชีวิต

        มีบางตัวเลขที่ยังไม่่ชัดเจน ก็ต้องนัดคุยกันอีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ทำประกันชีวิตหลายเล่ม แต่ไม่รู้ว่ามีความคุ้มครองอะไรบ้าง การสรุปกรมธรรม์เองทำให้เขารู้ว่าประกันแต่ละเล่มซื้อมาเพื่อปิดความเสี่ยงเรื่องอะไร  เช่น 

  • ถ้าป่วยโรคร้ายแรง เคลมกับบริษัท A 
  • ถ้าเป็นอุบัติเหตุทั่วไป เคลมกับบริษัท B 
  • ถ้าเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล เคลมกับบริษัท C
  • ถ้าทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เคลมกับบริษัท D

        แม้ว่าคุณพี่ท่านนี้จะมีประกันสังคมและสวัสดิการจากบริษัท แต่ก็ยังจัดเต็มเรื่องประกันชีวิตและประกันสุขภาพโรคร้ายแรง เพราะเขาต้องการความมั่นใจว่าครอบครัวไม่ต้องมาเดือดร้อนเรื่องค่ารักษาแน่นอน นับว่าเป็นคนที่วางแผนรักษาความมั่งคั่งให้ครอบครัวดีมากๆ

จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน พบว่า...

✅จุดแข็ง คือ สภาพคล่อง หนี้สิน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

✅จุดอ่อน คือ เรื่องการลงทุน ที่มีน้อยเกินไป 

        ขั้นตอนที่ 3 ตอนนี้ควรจัดการเงินอย่างไร เก็บเงินไว้ที่ไหน

แนวคิดการเงิน

        ควรเลือกที่เก็บเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงิน เหมือนกับการเลือกสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะไป เราควรเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์การเงินแต่ละแบบคืออะไร ใช้งานแตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะได้เลือกให้เหมาะสมกับเป้าหมายอะไรในระยะสั้น กลางและยาว

ตัวอย่าง

จากเป้าหมายการเงินและการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน คุณพี่ท่านนี้ควร...

  • รักษาระดับเรื่องของสภาพคล่องและหนี้สินที่ดีนี้ไว้ 
  • เก็บเงินลงทุนเพื่อเกษียณพร้อมกับวางแผนภาษีด้วย RMF และประกันบำนาญ
  • เปิดบัญชีกองทุนรวมเพื่อ DCA เก็บเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ 

หลังจากวางแผนแล้วสิ่งสำคัญ คือ ควรทบทวนแผนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เผื่อชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612
 1397
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์