ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 7.5% เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทมีอัตราการแข็งค่ามากที่สุดและเร็วที่สุดในเอเชีย และแข็งค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ สกุลหนึ่งของโลก จากสถานการณ์ดังกล่าว มีการตั้งคำถามว่า หากเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร และคนไทยได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ผลกระทบกับราคาสินค้าที่ต้องจ่าย
เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นที่รู้จักกันดีว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้านำเข้า หากค่าเงินในประเทศผู้นำเข้าสินค้า “แข็งค่า” ราคาสินค้านำเข้าจะปรับลดลง หมายความว่า หากซื้อสินค้าดังกล่าวก็จะได้ราคา “ลดลง” ตรงกันข้ามหากค่าเงินในประเทศผู้นำเข้าสินค้า “อ่อนค่า” ราคาสินค้านำเข้าที่ผู้ซื้อต้องจ่ายจะ “เพิ่มขึ้น”
กระทบกับอัตราเงินเฟ้อ
ประเทศที่อยู่ในภาวะค่าเงิน “อ่อนค่า” และเป็นประเทศนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้อาจทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับกับภาวะอัตราเงินเฟ้อและป้องกันไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้
ตรงกันข้ามหากค่าเงิน “แข็งค่า” สามารถกดดันอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเงิน หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวเครื่องมือที่ช่วยลดแรงกดดันคือ การใช้นโยบายการเงินด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวและให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น
กระทบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
ค่าเงิน “แข็งค่า” อย่างรวดเร็วและเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินลดลงตาม สถาบันการเงินจึงสามารถลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนสูงขึ้นจากต้นทุนกู้ยืมลดต่ำลง ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงจะช่วยลดแรงจูงใจผู้ออมเงินที่นำมาฝากเอาไว้ อาจนำไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น หรือนำไปใช้แทน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น
กระทบกับพอร์ตลงทุน
บริษัทที่มีฐานรายได้ในรูปสกุลเงินดอลล่าร์และยังมีบริษัทย่อยในต่างประเทศอีก เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าต่อไปอีก อาจมีผลต่อยอดขายและกำไรที่ได้รับเข้ามา เพราะเมื่อแลกเป็นเงินบาทจะได้รับน้อยลง เช่น ต้นปี 1 ดอลล่าร์ แลกได้ 35 บาท วันนี้แลกแล้วเหลือ 33 บาท
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในหุ้นกลุ่มเกษตรและอาหาร โดยอิงสมมติฐานค่าเงินบาท 35 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ พบว่าถ้าเงินบาทแข็งค่าทุกๆ 1 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ ส่งผลให้กำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มนี้ปรับลดลง 4.4% และทำให้กำไรสุทธิหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 5.8%
ดังนั้น หากนักลงทุนมีหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในพอร์ตอาจจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท ถ้าประเมินแล้วจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น อาจจะพิจารณาการปรับพอร์ตลงทุนเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์
กระทบกับผู้ประกอบการ
หากเงิน “แข็งค่า” ขึ้น ธุรกิจที่ต้องนําเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศจะซื้อวัตถุดิบหรือเครื่องจักรได้ถูกลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ตรงกันข้ามผู้ส่งออกจะได้รับผลเสียจากการได้รับรายได้และผลกำไรจากการส่งออกลดลง และเมื่อมีรายได้ลดลงอาจนำไปสู่การตัดสินใจลดกำลังการผลิต และอาจจะส่งผลกระทบต่อการลดการจ้างงานลง