“แนะนำนักลงทุนกระจายการลงทุนบางส่วนไปตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศอย่างเดียว ทั้งนี้ จากปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ปัญหาการเมือง และแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่า อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายตราสารหนี้ไทยเพื่อ re-allocate ไปลงทุนในภูมิภาคอื่น”
ในปี 2020 นี้ ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกมีความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะเกิดการเทขายของนักลงทุนเพื่อถือครองเงินสด จากความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วและไม่มียารักษา ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ของไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการที่นักลงทุนแห่ไถ่ถอนกองทุนตราสารหนี้ในหลายๆ บริษัทจัดการ ทำให้กองทุนต้องเทขายตราสารหนี้ออกมาในทุกระดับราคาเพื่อนำเงินส่งมอบให้ผู้ถือหน่อย และดำรงสัดส่วนสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการไถ่ถอน
ธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็ลดดอกเบี้ยลงมาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รัฐบาลในหลายประเทศต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อหยุดการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบรุนแรงกว่าช่วงช่วงวิกฤติ Subprime เมื่อปี 2008
โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ The Federal Reserve (Fed) ที่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงรุก ทั้งการลดดอกเบี้ยจาก 1.50% เหลือ 0.00% และประกาศทำอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน หรือ QE แบบ “ไม่จำกัดวงเงิน” ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน
ขณะที่อัตราผลตอบแทนปรับลดลงทุกช่วงอายุนับจากต้นปี หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% จาก 1.25% เหลือ 0.50% รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ในประเทศ และการปิดประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศต้องหยุดชะงัก ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2 หดตัวถึง 12.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเทียบเท่ากับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคมให้ผลตอบแทนเพียง 1.2% (คำนวณจากอัตราผลตอบแทนรวมของดัชนีพันธบัตรรัฐบาลไทย) เมื่อเทียบผลตอบแทนจากพันธบัตรกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (US, GE, SG, UK, JP) และกลุ่มประเทศเกิดใหม่เอเชีย (PH, CN, MY, KR, ID) ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.4% และ 6.5% (แท่งสีม่วง)
เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย มาจาก 4 ปัจจัย
ปัจจัยที่ 1 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อGDP ที่มีแนวโน้มลดลงเหลือ 4% ในปี 2020 เทียบกับ 7% ในปี 2019 จากรายได้นักท่องเที่ยวที่ลดลง
ปัจจัยที่ 2 ผลตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย จึงไม่จูงใจนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจัยที่ 3 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ 4 ความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ (แบบไม่ปิดความเสี่ยงค่าเงิน) ได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากผลตอบแทนพันธบัตร 3-10% (แท่งสีเหลือง)
ทั้งนี้ วิกฤติ COVID-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายการลงทุนไปยังตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มแหล่งที่มาของผลตอบแทนให้กับพอร์ตลงทุน
ดังกราฟดัชนีผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งถูกแปลงให้อยู่ในรูปสกุลเงินบาท แสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนมีนาคม นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจากความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาหุ้น หุ้นกู้ น้ำมัน ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงไทยปรับฐานรุนแรง และเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยแทน อาทิ พันธบัตรรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น ทำให้ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ปรับตัวขึ้นสวนทางกับสินทรัพย์ส่วนใหญ่
ด้านพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย แม้จะถูกเทขายในเดือนมีนาคมแต่ก็สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยมาก เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่า มีความน่าสนใจมากกว่า และค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเดียวกัน
ผลจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบ Unconventional ทั้งการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ การควบคุมอัตราผลตอบแทน หรือ yield-curve-control และการเข้าซื้อสินทรัพย์โดยตรง หรือ Quantitative Easing ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวลงต่อเนื่อง จนปริมาณตราสารหนี้ทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนติดลบเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทย หากมองภาพไปข้างหน้า อาจมีความท้าทายที่นักลงทุนอาจต้องเริ่มคิดถึง scenario ที่พันธบัตรรัฐบาลหรือเงินฝากธนาคารให้ดอกเบี้ย 0% หากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 หรือสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบกับการส่งออก ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 0.50% ลงอีกก็เป็นได้
ดังนั้น นักลงทุนควรเริ่มมองหาแหล่งที่มาของ Stable Income ให้หลากหลายขึ้น เช่น การลงทุนใน REITs หรือหุ้นที่ให้เงินปันผลสม่ำเสมอ ในขณะที่บทบาทของตราสารหนี้ที่เคยเป็น Source of Stable Income จะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นตราสารที่ถูกใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือเก็งกำไรมากขึ้น เช่น นักลงทุนอาจยังมีความต้องการลงทุนในตราสารหนี้แม้จะให้ผลตอบแทนที่ติดลบ เพื่อการเก็งกำไรระยะสั้นหากมองว่าผลตอบแทนติดลบสามารถติดลบได้มากขึ้นอีก (มูลค่าตราสารหนี้ที่ถือครองจะมีมูลค่าสูงขึ้น) หรือเพื่อการเก็งกำไรจากค่าเงิน เช่น กรณีพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีที่แม้ผลตอบแทนติดลบ นักลงทุนมักเข้าซื้อเพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน จากความมั่นคงของรัฐบาลเยอรมนี และค่าเงินยูโรที่เป็น Reserve Currency ทำให้ผลตอบแทนที่ติดลบอยู่แล้ว ให้สามารถติดลบมากขึ้นอีกซึ่งทำให้ราคา หรือมูลค่าพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนมีความสัมพันธ์แปรผกผันกับราคาตราสารหนี้
ตลาดตราสารหนี้ในระยะถัดไป
2 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม
ปัจจัยที่ 1 ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากประธานาธิบดีมาจากพรรคที่ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา หรือ Sweep Election จะทำให้การดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหาศาล
ปัจจัยที่ 2 การใช้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 จะเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติจนกว่าจะมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย จึงจะทำให้ความเชื่อมั่นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจกลับมา
ทั้ง 2 ปัจจัยมีผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ มีความชันมากขึ้น และน่าจะส่งผลเช่นเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะสั้นมีแนวโน้มทรงตัวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และไทยที่คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงสิ้นปี 2021
จากสถานการณ์ข้างต้น จึงแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนบางส่วนไปตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศอย่างเดียว ทั้งนี้ จากความเสี่ยงที่มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า ปัญหาทางการเมืองในประเทศ แนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายตราสารหนี้ไทยออกมา เพื่อ re-allocate ไปลงทุนในภูมิภาคอื่น
ทั้งนี้ นักลงทุนอาจมองหาจังหวะในการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัว ได้แก่ ตราสารหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว (DM Bond) ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่อื่นๆ (EM Bond) ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้เอกชนกลุ่มที่ระดับความเสี่ยงที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) โดยเฉพาะตราสารหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว นักลงทุนจึงควรมีไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และวัคซีน COVID-19 ไม่มาตามคาดการณ์ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมอีกระลอก โดยจะส่งผลให้ตราสารหนี้กลุ่มนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น