การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติการณ์ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เมื่อใดจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ พัฒนาการของวัคซีนทำให้เศรษฐกิจโลกดูมีความหวังก็จริง แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังมีเรื่องที่น่าห่วง
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงาน นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนากระจายวัคซีนได้อย่างล่าช้าอาจบั่นทอนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาสู่ระดับก่อนโควิดระบาด แม้แต่ในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว การล็อกดาวน์ยุโรปอีกรอบเพื่อสกัดการติดเชื้ออาจกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
“การมีวัคซีนส่งผลต่อขวัญกำลังใจได้ก็จริงแต่ต้องรอจนถึงปี 2565” คณะนักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้แบงก์กล่าวไว้ในรายงานเมื่อต้นเดือน ธ.ค. กระนั้น เศรษฐกิจโลกปี 2564 ต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่าปี 2563 อีกแล้ว”
ซีเอ็นบีซีระบุว่า โควิด-19 ที่พบครั้งแรกในประเทศจีนกระจายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ปีนี้หลายประเทศต้องล็อกดาวน์นานหลายเดือน กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อเนื่องถึงผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีเอสพี) ดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ในหลายๆ ประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกดิ่งตัวลง 4.4% ก่อนจะกลับมาฟื้นตัว 5.2% ในปี 2564 เมื่อเดือน ต.ค.ไอเอ็มเอฟระบุว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น แต่ไม่วายเตือนว่า การจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด “ต้องรออีกนาน อีกทั้งยังไม่เท่าเทียมกัน และไม่แน่นอน”
ปัจจุบันการเดินทางยังเจอข้อจำกัด องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) เผยว่า นับถึงวันที่ 1 พ.ย. กว่า 150 ประเทศและดินแดนผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางผลพวงจากโควิด-19 แล้ว แต่ยังมีอีกหลายข้อ ส่งผลให้การเดินทางไม่สะดวก ได้แก่ เปิดพรมแดนให้เฉพาะนักเดินทางบางเชื้อชาติ หรือจากบางประเทศ กำหนดให้นักเดินทางต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบก่อนเข้าประเทศ กำหนดให้ต้องกักตัวหรือแยกตัวเองเมื่อเดินทางมาถึง
อีกผลพวงหนึ่งจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำเพราะโควิดคือทั่วโลกมีคนตกงานพุ่งสูงขึ้นมาก องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เผยว่า ในบางประเทศผลกระทบช่วงต้นๆจากโควิด-19 ต่อตลาดแรงงาน “ใหญ่กว่าผลจากวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ในช่วงเดือนแรกๆ ถึงกว่า 10 เท่าแรงงานกลุ่มเสี่ยงกำลังแบกรับผลเสียหายจากวิกฤติ แรงงานราคาถูกที่เป็นหัวใจสำคัญของบริการจำเป็นในช่วงล็อกดาวน์ มักเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องไปสัมผัสกับไวรัสระหว่างการทำงาน พวกเขายังต้องเสียหายจากการตกงานหรือสูญเสียรายได้มากกว่าด้วย” โออีซีดีระบุไว้ในรายงาน
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลนานาประเทศต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อคุ้มครองการจ้างงานและดูแลคนงาน ไอเอ็มเอฟเคยรายงานในเดือน ต.ค.ว่า รัฐบาลทั่วโลกใช้มาตรการรองรับความเสียหายทางเศรษฐกิจเพราะโควิดรวมแล้ว 12 ล้านล้านดอลลาร์
การใช้จ่ายมากมายขนาดนี้หนุนให้หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่รัฐบาลทั้งหลายไม่ควรยกเลิกมาตรการสนับสนุนทางการเงินในเร็วๆ นี้" ไอเอ็มเอฟแนะพร้อมระบุ “เนื่องจากคนงานมากมายยังตกงาน ธุรกิจขนาดเล็กต้องดิ้นรน ประชากร 80-90 ล้านคนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะยกจนสุดขั้วในปีนี้ อันเป็นผลจากโรคระบาดแม้ได้รับความช่วยเหลือทางสังคมเพิ่มเติมแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงยังเร็วเกินไปหากรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการสนับสนุนมากมายมหาศาลนี้”
ธนาคารกลางเองก็ช่วยพยุงเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย หลายประเทศลดเหลือระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะช่วยรัฐบาลในการจัดการหนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่นโยบายของธนาคารส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับใกล้ 0 และรับปากว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อเกินเป้า 2%
ธนาคารกลางในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่น เฟดและธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เพิ่มการซื้อสินทรัพย์เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการเงินด้วย ขณะที่ธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังหาหนทางสนับสนุนเศรษฐกิจของตนก็หันมาใช้วิธีนี้เช่นกัน