แก้เกมมาตรการการเงินการคลังสู้โควิดยกสอง

แก้เกมมาตรการการเงินการคลังสู้โควิดยกสอง

        มาตรการการเงินการคลังที่ออกไปช่วยกู้วิกฤตโควิดได้แค่ไหน ภาครัฐจะปรับเกมมาตรการให้เพียงพอใช้ได้ทันหรือไม่อย่างไร หลายหน่วยงานออกมาสร้างความมั่นใจว่า โควิดระบาดครั้งใหม่ตั้งแต่ปลายปี 63 คงไม่กระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้รุนแรงเท่าปีก่อน แต่จะฟื้นตัวช้าลง

มาตรการการเงินการคลังในปี 2563 ที่ใช้แก้โจทย์โควิดระลอกใหม่ปีนี้ต่อได้ แต่อาจต้องปรับให้พอใช้และทันใช้ขึ้น

1. พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 

        พ.ร.ก. กู้เงินฯ นี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ วงเงินสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท วงเงินเยียวยา 5.55 แสนล้านบาท และวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เมื่อต้นปีนี้รัฐบาลเหลือวงเงินเยียวยากว่า 2.1 ล้านบาทและวงเงินฟื้นฟู 2.6 แสนล้านบาท รวม 4.69 แสนล้านบาทที่ใช้ต่อได้ และยังมีเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 64 ที่เหลือ 1.4 แสนล้านบาทมาสมทบ 

        ในช่วงต้นปีรัฐบาลได้ออกมาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าอินเทอร์เน็ต 2 เดือน และมีแผนจะเร่งเบิกจ่ายเงินเยียวยารอบใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม เช่น แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้ประกันตนที่เข้าเกณฑ์ รวมกว่า 30 ล้านคน คิดเป็นวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์โควิดยือเยื้อ และแหล่งเงินพิเศษเหล่านี้หมดลงไม่มีมาเสริมอีก แรงกระตุ้นการคลังปีนี้ก็อาจแผ่วลงได้ในที่สุด 

2. พ.ร.ก. Soft loan 5 แสนล้านบาทช่วยผู้ประกอบการ SMEs 

        ปีที่แล้วแบงก์ชาติมีวงเงินให้แบงก์พาณิชย์กู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 2% ได้นาน 2 ปี แต่วงเงินยังออกไปไม่มาก SMEs ส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึง สาเหตุที่กล่าวถึงกันมากเพราะไม่เข้าเกณฑ์ เช่น ไม่ใช่ลูกหนี้เดิมของแบงก์/เป็น NPL หรือเพราะเกณฑ์ให้กู้ได้ครั้งเดียวไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อเดิม ณ สิ้นปี 62 หรือเพราะแบงก์กังวลว่าให้กู้ดอกเบี้ย 2% และรัฐบาลค้ำประกันสินเชื่อให้ 60 – 70% แค่ 2 ปีแรกยังไม่คุ้มเสี่ยง หากเกิดหนี้เสียต้องตั้งสำรอง 100% อยู่ดี ต่อมาแบงก์ชาติจับมือกับรัฐบาลขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าค้ำประกันสินเชื่อในช่วงปีที่ 3 - 8 ให้ภายใต้โครงการ Soft loan พลัส วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท รวมถึงช่วงปลายปีได้ปรับเกณฑ์นิยามกลุ่ม SMEs ให้ครอบคลุมมากขึ้น และให้กู้ได้ 2 ครั้งรวมไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อเดิม 

        ข้อมูล ณ 1 ก.พ. 64 พบว่า วงเงินมาตรการนี้ออกไป 1.3 แสนล้านบาทหรือประมาณ 25% ปล่อยกู้ SMEs 7.4 หมื่นราย เมื่อยังมีวงเงินนี้เหลือกว่า 3.7 แสนล้านบาท ก็น่าจะพอมีทางปรับเกณฑ์ให้มาตรการนี้ช่วยภาคธุรกิจได้เยอะขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจให้แบงก์ปล่อยกู้ มีกลไกค้ำประกันความเสี่ยงที่ตอบโจทย์มากขึ้น มีทางเลือกให้กลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะความเดือดร้อนต่างกัน และมาตรการมีเงื่อนไขยืดหยุ่นปรับตามสถานการณ์โควิดที่ไม่แน่นอนได้

3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ 

        ปีที่แล้วแบงก์ชาติขอให้สถาบันการเงินร่วมกันออกมาตรการพักหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs เป็นการทั่วไปนาน 6 เดือน แล้วปรับมาเป็นมาตรการพักหนี้เฉพาะรายและต่อเวลาให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ถึงสิ้นปี 63 และออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมด้วยการรวมหนี้ โดยให้นำสินเชื่อรายย่อยมารวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน ซึ่งจากข้อมูล ณ 30 พ.ย. 63 มาตรการนี้ได้ช่วยลูกหนี้ไป 11 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 5.6 ล้านล้านบาท (เป็นลูกหนี้รายย่อย 10 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท) 

        พอมาต้นปีนี้ แบงก์ชาติออกมาตรการช่วยลูกหนี้รอบใหม่ในเดือน ม.ค. 64 ขอความร่วมมือให้แบงก์และนอนแบงก์ต่อเวลาช่วยลูกหนี้รายย่อยจนถึง 30 มิ.ย. 64 และให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ทุกประเภทตามประเภทสินเชื่อและความเสี่ยง โดยให้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะกับลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

4. มาตรการการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 

        ที่ผ่านมาแบงก์รัฐช่วยเสริมสภาพคล่องประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและเข้าไม่ถึงแบงก์พาณิชย์ได้อีกกลุ่มใหญ่ ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฉุกเฉินรูปแบบต่างๆ รวมถึง บสย. ที่มีบทบาทเชิงรุกช่วยค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ณ สิ้นปี 63 ได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 1.6 แสนราย คิดเป็นยอดสินเชื่อรวม 1.4 แสนล้านบาท พอเจอโควิดครั้งใหม่ กระทรวงการคลังให้เร่งออกมาตรการการเงินที่มีอยู่แล้วและมาตรการเพิ่มเติมในเดือน ม.ค. 64 วงเงิน 2.68 แสนล้านบาท ได้แก่ มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (ขยายเวลาพักชำระหนี้) โดยขยายเวลาออกไปถึง 30 มิ.ย. 64 

5. มาตรการภาษี

        รัฐบาลออกชุดมาตรการภาษีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงโควิดระลอกใหม่ในเดือน ม.ค. 64 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ออกในปีก่อน ได้แก่ (1) มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2564 ลง 90% (2) มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทภายในปี 2654 นี้ และ (3) มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยทั้ง 3 มาตรการจะขยายเวลายื่นถึง 30 มิ.ย. 64 เฉพาะผู้ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต

        มาตรการการเงินการคลังเริ่มจำกัดกลุ่มที่ต้องเร่งช่วยฝ่าโควิดรอบใหม่มากขึ้นแล้ว ต่อไปคงได้เห็นหน่วยงานภาครัฐเร่งติดตามผลมาตรการ ประเมินผลกระทบโควิดกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และตลาดแรงงานไทยที่เริ่มแตกต่างกันมากขึ้นในหลายๆ กลุ่ม เพื่อแก้เกมปรับมาตรการให้ตรงโจทย์ เพียงพอ และใช้ได้ทันในภายหน้าค่

แหล่งที่มา : Link

 606
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์