โดยทั่วไปหากผู้ประกอบการดำเนินการถูกต้อง การจะถูกสรรพากรตรวจสอบหรือถูกประเมินภาษีอากรก็เกิดขึ้นได้ยาก แต่เราต้องเตรียมพร้อมเผื่อถูกตรวจสอบหรือประเมินภาษีอากร จะได้เจรจากับเจ้าพนักงานได้ หรือหากถูกประเมินก็สามารถอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ หรือต่อศาลได้
ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องรู้ 3 เรื่องนี้ก่อน
อายุความประเมิน สรรพากรมีสิทธิตรวจสอบย้อนหลังได้กี่ปี ?
กฎหมายภาษีกำหนดให้ต้องเก็บเอกสารไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ภายใต้เงื่อนไขต้องยื่นแบบภาษีทุกปี ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้เสียภาษีจะยื่นถูก หรือยื่นผิด หรือยื่นไม่สมบูรณ์ก็ตาม โดยปกติสรรพากรมีสิทธิประเมินย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี (ไม่นับปีปัจจุบัน)
เช่น ถ้าปัจจุบันปี 2562 ก็ย้อนหลังได้คือปี 2561 – 2560 เป็นต้น แต่ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าหลีกเลี่ยงภาษีจริง สรรพากรมีอำนาจขยายระยะเวลาประเมินไปได้ถึง 5 ปี ฉะนั้นจึงควรเก็บเอกสารให้เกิน 5 ปี (ทำลายในปีที่หก)
แต่ถ้าเป็นกรณีไม่เคยยื่นแบบภาษีเลย สรรพากรสามารถประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี ดังนั้นการไม่ยื่นภาษีเงินได้เลยมีความเสี่ยงมากกว่าการยื่นแบบภาษีแต่ไม่ถูก
สรุปง่ายๆ ยื่นดีกว่าไม่ยื่น หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการไม่ยื่นแบบภาษีเลย ทำให้สรรพากรไม่มีข้อมูลของเราทำให้ไม่สามารถตรวจสอบภาษีได้ ความจริงคือ ปัจจุบันข้อมูลเงินได้ของเราเก็บอยู่ตามเลขบัตรประชาชน เมื่อเราได้รับเงินได้ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งไปที่สรรพากรหมดแล้ว ไม่ว่าเราจะยื่นแบบภาษีหรือไม่ก็ตาม
สรรพากรมีอำนาจขอให้ผู้เสียภาษีส่ง Bank Statement หรือไม่?
เมื่อสรรพากรมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า ผู้ใดยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง สรรพากรมีอำนาจขอให้นำบัญชีเงินฝาก เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาแสดงได้
สรรพากรมีสิทธิประเมินรายได้ตามยอดเงินเข้าบัญชีหรือไม่?
ตามกฎหมาย สรรพากรมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากร และแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ดังนั้นสรรพากรจึงมีสิทธิประเมินรายได้ตามยอดเงินเข้าบัญชี แต่ผู้เสียภาษีอากรก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ การประเมินภาษีนั้นได้
เมื่อถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบและประเมินภาษี ควรทำอย่างไร?
ดังนั้น ดีที่สุด คือ ทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมายแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำบัญชี หรือการยื่นแบบภาษี เก็บเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน จะได้ลดโอกาสถูกตรวจสอบ แม้เมื่อถูกตรวจสอบก็สบายใจได้เพราะทำถูกกฎหมายทุกอย่าง
แหล่งที่มา : Link