งบการเงินส่วนบุคคล บอกอะไรเราบ้าง?
อันที่จริงแล้วงบการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องใกล้ตัวเรานิดเดียวเพราะเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเรานี่เอง เพียงแต่นำมาจัดให้เป็นหมวดหมู่เสียหน่อยเพื่อให้เห็นรูปร่างหน้าตาทางการเงินของตัวเราเองได้ชัดเจนขึ้น
เพื่อดูถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในแต่ละปีของบริษัทว่า มีทรัพย์สิน หนี้สินเป็นอย่างไร มีกำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน งบการเงินของบริษัทเป็นรายงานหนึ่งที่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงคุ้นเคยกันดี การจัดทำงบการเงินส่วนบุคคลก็เช่นเดียวกันที่จะเป็นคำตอบให้กับเราได้ถึงสถานะการเงินของตัวเราเองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งงบการเงินจะประกอบไปด้วยงบดุลส่วนบุคคล งบกำไรขาดทุน รวมไปถึงประมาณการงบกระแสเงินสด
งบดุลส่วนบุคคล ช่วยบอกให้เราทราบถึงฐานะทางการเงินของเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ด้านแรกเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งทรัพย์สินที่ว่านี้ก็ต้องไล่เรียงตั้งแต่เงินสด เงินฝาก เงินลงทุนต่างๆ ไปจนถึงรายการทรัพย์สินอย่างรถยนต์และบ้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้สินและส่วนที่เป็นของเราจริงๆ จากชื่อที่บอกว่างบดุล เพราะฉะนั้น ตัวเลขในบรรทัดสุดท้ายของทั้งสองฝั่งต้องเท่ากัน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ตัวเลขด้านทรัพย์สินเมื่อหักหนี้สินแล้ว ส่วนที่เหลือก็คือ ส่วนของเราหรือเรียกได้ว่า ความมั่งคั่งสุทธินั่นเอง
ตัวเลขในงบดุลจะช่วยบอกเราได้ว่าเรามีสภาพคล่องเป็นอย่างไร มีสำรองเพียงพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดหรือยัง มีเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน ก่อร่างสร้างตัวจนมีบ้านและรถยนต์มูลค่าเท่าไหร่ รวมทั้งยังบอกถึงภาระหนี้สินที่เราต้องรับผิดชอบในการผ่อนชำระ ไม่ว่าจะหนี้ระยะสั้นหรือหนี้ระยะยาว ซึ่งการมีตัวเลขทรัพย์สินมากๆ อย่างรถยนต์หรือบ้านราคาแพง ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าคนๆ นั้นร่ำรวยมาก เพราะเขาอาจได้ทรัพย์สินนั้นมาจากการกู้หนี้ยืมสินเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว เขาอาจเหลือส่วนที่เป็นของเราหรือความมั่งคั่งสุทธิเพียงน้อยนิด ดังนั้น การมีส่วนของเรามากๆ จะเป็นตัวสะท้อนที่บอกถึงฐานะที่แท้จริง ยิ่งมีส่วนที่เป็นของเรามากเท่าไร แปลว่าเรามีความมั่งคั่งสุทธิมากเท่านั้น
ส่วนงบกำไรขาดทุน บอกให้เรารู้ว่าเรามีเงินได้จากทางไหนบ้าง และยังชี้ให้เราเห็นว่าเมื่อมีรายรับเข้ามาแล้ว เราใช้จ่ายหมดไปกับอะไร มีการเก็บออมเท่าไร รวมทั้งยังบอกอีกด้วยว่า แต่ละเดือนเรามีรายจ่ายที่ต้องจ่ายแน่ๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะเป็นการช่วยบันทึกข้อมูลในแต่ละวันเพื่อนำมาสรุปไว้ในงบรายได้และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลนั่นเอง หากตัวเลขรายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วออกมาเป็นบวก ก็บอกได้ว่าเรายังมีเงินเหลือเพื่อนำไปเก็บออมสำหรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ แต่หากตัวเลขรายได้หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วออกมาติดลบ ก็คงเป็นสัญญาณทางการเงินที่ไม่ดีนัก เพราะนั่นแปลว่าเราได้ใช้จ่ายเกินที่หามาได้แล้ว หรือใช้เงินเกินตัว
แหล่งที่มา : Link