กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเมื่อพ้นกำหนดเวลา จะต้องคำนวณเบี้ยปรับอย่างไร
ขั้นตอนการคำนวณเบี้ยปรับ ดังนี้
1. เบี้ยปรับกรณีจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยกรณีดังต่อไปนี้
กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้ขาด และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกิน ให้คำนวณเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาด และคำนวณเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกิน
กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้เกิน และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกิน ให้คำนวณเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกิน
กรณีแสดงจำนวนภาษีขายไว้ถูกต้อง และแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกิน ให้คำนวณเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกิน
2. เบี้ยปรับกรณีจำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนให้คำนวณเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนตามมาตรา 89(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(จำนวนภาษีที่เสียคลาดเคลื่อน คือ ผลต่างระหว่างจำนวนภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อตามแบบแสดงรายการภาษีกับจำนวนภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อที่พึงต้องเสียในเดือนภาษีนั้น)
3. กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในกำหนดเวลาไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนตามข้อ 1 และยังเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตามข้อ 2 คลาดเคลื่อนไปด้วย
ให้คำนวณเบี้ยปรับตามข้อ 1 และข้อ 2 แต่ให้เรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงกรณีเดียวซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บเบี้ยปรับได้เงินเป็นจำนวนมากกว่า
ทั้งนี้การคำนวณเบี้ยปรับข้างต้นจะใช้ในกรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในกำหนดเวลาไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด และต่อมาได้มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่การยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาไม่ต้องคำนวณเบี้ยปรับ
แหล่งที่มา : www.twentyfouraa.com