เนื่องจากบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้แต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงยุ่งยากพอสมควรสำหรับผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องครบถ้วน โอกาสผิดพลาดสูง เมื่อผิดพลาดแล้วจะต้องจ่ายภาษีและเงินเพิ่มเติมไม่มีสิทธิทดลองให้แก้ตัวแต่ประการใดไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม
ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) ซึ่งเป็น ผู้จ่ายเงินรายใหญ่ในภาครัฐ ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหน้าที่ให้ หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้รับเงินได้ที่อยู่ในประเทศไทย สรุปได้ดังนี้
การจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ที่จ่ายให้แก่ข้าราชการและลูกจ้าง ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินจะต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากฐานเงินได้สุทธิ วิธีหาเงินได้สุทธิ ให้นำเงินเดือน ค่าจ้างที่ได้รับทั้งปีงบประมาณ หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนด เหลือเท่าใดจะเป็นเงินได้สุทธิ แล้วจึงนำไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ ทั้งนี้เงินได้สุทธิ 1.5 แสนบาทแรกจะได้รับการยกเว้นภาษี เมื่อได้จำนวนภาษีต้องชำระทั้งปีแล้ว ให้หารด้วย 12 ก็จะได้ภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายเมื่อจ่ายเงินเดือนค่าจ้างในแต่ละเดือน และต้องนำภาษีส่งกรมสรรพากรตั้งแต่วันที่ 1–7 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่จ่ายเงินเดือน กรณีที่ผู้รับเงินมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 1.5 แสนบาท ก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่ อย่างใด
การจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม ค่ารับทำงานให้ ให้แก่บุคคลธรรมดาที่อยู่ในไทย ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากฐานเงินได้สุทธิเช่นเดียวกับเงินเดือน ค่าจ้าง เมื่อได้จำนวนภาษีต้องชำระแล้ว ให้หักภาษีไว้ทั้งจำนวนนั้นเลย หากมีการจ่ายเงินหลายครั้งในปีนั้น ให้นำเงินได้ที่จ่ายครั้งแรกและก่อนหน้านั้นทุกครั้งมารวมยอด แล้วคำนวณเช่นที่ผ่านมา เมื่อได้ภาษีต้องชำระแล้ว ให้นำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วในครั้งก่อนหน้ามาหักออก ก็จะได้ภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายในครั้งนี้
การจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็น เงินได้ประเภทค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิบัตร ค่าเครื่องหมายการค้า ให้แก่บุคคลธรรมดาที่อยู่ในไทย ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแต่อย่างใด ภาษีต้องชำระที่คำนวณได้จะเป็นยอดที่ต้องหักไว้ในการจ่ายเงินครั้งนั้น
การจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ผู้จ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15%
การจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมาพร้อมวัสดุอุปกรณ์ การขนส่ง อุตสาหกรรม การพาณิชย์ ฯลฯ ให้แก่บุคคลธรรมดา หากวงเงินที่จ่ายตามสัญญา (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีวงเงินตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายเงินนั้นเป็นกี่ครั้งก็ตาม
(จ่ายเงินค่าซื้อพืชผลจากเกษตรกร ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย)
การจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอยู่ในไทย หากได้จ่ายเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1%
หน้าที่การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นส่วนราชการ องค์การของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีตามที่กล่าวมาข้างต้น หากไม่หักภาษีและนำภาษีส่งกรมสรรพากร จะต้องเสีย ค่าปรับเป็นเงินไม่เกิน 2,000 บาทต่อแบบแสดงรายการภาษี และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนของภาษีต้องชำระ หากสงสัยประการใด ขอให้สอบถามหน่วยงานของกรมสรรพากรในท้องที่ได้เลย
แหล่งที่มา : www.prosoftibiz.com
อ้างอิง : www.pattanakit.net