อัตราส่วนทุนหมุนเวียน

อัตราส่วนทุนหมุนเวียน

       การวิเคราะห์กิจการโดยใช้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร และสถานะทางการเงินได้ ซึ่ง Current Ratio หรือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน เป็นหนึ่งในอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญสำหรับผู้ใช้งบการเงิน โดยมีวิธีการคำนวณดังนี้

       "Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) / หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities)"

       ในสูตรการคำนวณประกอบไปด้วย สินทรัพย์หมุนเวียนรวม ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินงานในรอบบัญชีปัจจุบันของกิจการ โดยกิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ หรือสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ภายในระยะเวลา 12 เดือน ประกอบไปด้วย เงินสด (Cash) ลูกหนี้การค้า (Account recievable) สินค้าคงเหลือ (Inventory) เป็นต้น และหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งเป็นภาระผูกพันธ์ที่กิจการสร้างไว้ในอดีตโดยมีกำหนดชำระหนี้สินประเภทนี้ภายในระยะเวลา 12 เดือน ประกอบด้วย เจ้าหนี้การค้า (Account payable) เงินกู้ยืมระยะสั้น (Short term loans) เงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดภายในระยะเวลา 1 ปี (Current portion of long term loans) เป็นต้น

       จากสูตรการคำนวณจะนำสินทรัพย์หมุนเวียน หารด้วย หนี้สินหมุนเวียน ซึ่งตัวเลขที่ออกมา หาก Current Ratio มีค่ามากกว่า 1 หมายความว่าในปัจจุบัน หนึ่งรอบระยะเวลาดำเนินงานของบริษัทมีสภาพคล่องดี เพราะมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน ทำให้บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้สินหมุนเวียนที่เป็นภาระคงค้างอยู่ในรอบระยะเวลาเดียวกัน หากมีค่าน้อยกว่า 1 หมายความว่าบริษัทขาดสภาพคล่องในรอบระยะเวลาดำเนินงานปัจจุบัน เพราะมีสินทรัพย์หมุนเวียนไม่พอชำระหนี้สินหมุนเวียนที่คงค้างอยู่ในรอบระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้นค่าของ Current Ratio ของทุกกิจการควรมีค่ามาก จึงจะเป็นสัญญาณที่ดีในการลงทุน เพราะหมายถึงสภาพคล่องในการชำระหนี้ที่ดีของบริษัท

       แต่มีข้อสังเกตสำหรับบางกิจการที่มีมูลค่าของ “สินค้าคงเหลือ (Inventory)” สูง จนทำให้มูลค่าของสินทรัพย์หมุนเวียนรวมในรอบระยะเวลาดำเนินงานสูง ส่งผลให้มีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสินค้าคงเหลือที่มีมูลค่าสูงอาจจะเป็นความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน สำหรับธุรกิจในบางอุตสาหกรรม สินค้าคงเหลือยิ่งเก็บไว้นานยิ่งเสื่อมมูลค่าลง หากมีมากจนเกินไปก็เสี่ยงเป็นสินค้าด้อยค่า ที่จะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในการขายสินค้าออกมาเพื่อชำระหนี้สิน เช่น สินค้าเทคโนโลยี หรือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

       หากบริษัทไม่สามารถขายสินค้าคงเหลือได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือมีระยะเวลาการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม การถือครองสินค้าคงเหลือจำนวนมากจึงเป็นความเสี่ยง นักลงทุนบางคนจึงคำนวณอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนใหม่ โดยตัดรายการสินค้าคงเหลือออกไป เพราะเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ช้ากว่าสินทรัพย์หมุนเวียนชนิดอื่น และพิจารณาเฉพาะสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว เรียกอัตราส่วนนี้ว่า “อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio)” โดยมีวิธีการคำนวณดังนี้

       "Current Ratio = [สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) – สินค้าคงเหลือ (Inventory)] / หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities)"

       ค่าที่คำนวณออกมาได้หลังจากตัดรายการสินค้าคงเหลือออกไป จะมีวิธีพิจารณาเช่นเดียวกับ Current Ratio แม้ว่าค่าที่คำนวณได้จาก Quick Ratio จะต่ำกว่า Current Ratio แต่ก็ให้สาระสำคัญเกี่ยวกับสภาพคล่องของกิจการในการชำระหนี้สินหมุนเวียนได้ดีกว่า บริษัทที่มี Quick Ratio มากกว่า แปลว่าบริษัทมีสภาพคล่องสูง และปราศจากความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เพราะสินทรัพย์หมุนเวียนที่มีอยู่สามารถชำระหนี้สินหมุนเวียนที่มี โดยไม่ต้องขายสินค้าเพิ่ม

       หาก Current Ratio มากกว่า 1 แต่ Quick Ratio มีค่าต่ำกว่า 1 มีความหมายว่าสินทรัพย์หมุนเวียนของกิจการกระจุกตัวอยู่ที่รายการสินค้าคงเหลือมากจนเกินไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ หากไม่สามารถขายสินค้าได้ แต่ทั้งนี้การใช้ Current Ratio หรือ Quick Ratio ควรพิจารณาจากอุตสาหกรรมของบริษัทด้วย เพราะสินค้าคงเหลือของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันอาจมีมูลค่าและโครงสร้างของสินค้าแตกต่างกัน เช่น สินค้าคงเหลือของกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะมีค่าสูง ในขณะที่หนี้สินหลักของกิจการจะเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว เป็นต้น

แหล่งที่มา : https://www.moneywecan.com

 1575
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์