เรื่องเงินๆ ทองๆ นับเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ เพราะถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงกิจการ แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SME ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านการเงินที่ยังไม่ดีพอมากนัก สะท้อนได้จากการทำบัญชีธุรกิจที่ยังขาดความถูกต้อง ทั้งอาจจะเกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม ส่งผลให้การวิเคราะห์วางแผนธุรกิจเกิดความผิดพลาดและคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาด้านการเงินที่ SME มักจะพบเจออยู่บ่ายครั้ง โดยที่อาจจะคาดไม่ถึงว่าจะเป็นเหตุทำให้ทุนหายกำไรหด นั่นก็คือ “ค่าใช้จ่ายแฝง” ที่หลบซ่อนอยู่ ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้ธุรกิจต้องสูญเงินไปอย่างมหาศาล ดังนั้น ก่อนเริ่มทำธุรกิจผู้ประกอบการควรต้องรับรู้ถึงค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ดี
เริ่มจาก “ผลประโยชน์และสิทธิพิเศษของพนักงาน” อย่าคิดแค่การคำนวณค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วยสำหรับพนักงานหนึ่งคน เพราะยังมีค่าประกันสังคมในส่วนที่นายจ้างต้องชำระ สวัสดิการต่างๆ ท่องเที่ยวประจำปี โบนัส ซึ่งผู้ประกอบการบางคนลืมคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงไป ทำให้ค่าใช้จ่ายพนักงานต่อเดือน จาก 15,000 บาท อาจกลายเป็น 18,000-20,000 บาทต่อคนไปเลยทีเดียว และล่าสุดกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่ ที่กำหนดให้การเกษียณอายุ เมื่อครบ 60 ปีคือการเลิกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เลิกจ้างที่อายุงาน 10 ปีขึ้น ไปได้รับเงินชดเชย 10 เดือน ซึ่งประเด็นนี้ ศิริรัฐ โชติเวชการ กรรมการผู้จัดการ Network Advisory Team Ltd. (NAT) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและบัญชี บอกไว้ว่า ผู้ประกอบการ SME ควรต้องให้ความสำคัญและต้องเตรียมพร้อมที่จะตั้งสำรองจ่ายในส่วนนี้ไว้ล่วงหน้า เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายจริง อาจจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ผลประโยชน์และสิทธิพิเศษของพนักงานเท่านั้น บางครั้งการที่ผู้ประกอบการ ให้เงินเดือนตัวเองน้อยๆ เพื่อต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ก็มีผลที่จะทำให้ต้นทุนผิดเพี้ยนได้เช่นกัน
อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่มักจะแอบซ่อนอยู่โดยที่ผู้ประกอบการอาจจะมองข้าม นั่นคือ “ค่าสินค้าเสียหาย” ทั้งนี้ อาจชำรุดจากการขนส่ง หรือเสียหายจากหน้าร้าน หรือแม้แต่สินค้าหมดอายุจนไม่สามารถจำหน่ายได้ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ การประมาณการค่าสินค้าเสียหายล่วงหน้า และบวกเข้าไปในต้นทุนของสินค้าด้วย นอกจากนี้ ศิริรัฐ ยังบอกด้วยว่า การบริหารสต็อกที่ไม่เป็นระเบียบ ก็มีผลโดยตรงกับเรื่องของต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมา SME ส่วนใหญ่มักจะจัดเก็บสต็อกไม่ค่อยเป็นระเบียบ เกิดการสูญหายของสินค้าไปโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่ความเสียหายมากมาย นอกจากจะกระทบในแง่ของต้นทุนของตัวเองแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น นั่นคือ กรณีที่มีกรมสรรพากรมาตรวจสอบ หากสต็อกไปเรียบร้อย พบว่าสินค้าเหลือน้อยกว่าบัญชี เขาจะถือว่าขายไปแต่ไม่ได้มีการลงบัญชี ซึ่งจะโดนปรับทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคล
พร้อมกันนี้ ค่าที่ปรึกษาต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายแฝงที่เกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจเพียงคนเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมีเพื่อนคู่คิด แต่เมื่อเป็นแบบนั้นแล้วก็จะพบว่ารายจ่ายมีโอกาสบานปลายตามไปด้วย ทั้งค่าที่ปรึกษาด้านการตลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ การบัญชี นักกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และมีราคาสูงขนาดไหน
สุดท้ายค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่สำคัญมากๆ ในการทำธุรกิจก็คือ ค่าบริหารจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายภายในสำนักงาน และค่าเดินทางในการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ค่าอุปกรณ์สำนักงาน อาทิ คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ โทรศัพท์ ค่าโทรศัพท์รายเดือน หมึกพิมพ์ กระดาษ อุปกรณ์ทำความสะอาด ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าเลี้ยงรับรองแขก รวมถึงค่าซ่อมบำรุงวัสดุอุปกรณ์ ทั้งหมดนี้ อาจดูแล้วมีราคาไม่สูงมาก แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายรายปี เราจะพบว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้สามารถสร้างผลกระทบต่อกำไรในภาพรวมได้ไม่น้อย ดังนั้น พยายามประหยัด และตรวจสอบบัญชีค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบทุกเดือน เอาเป็นว่าถ้าใครอยากเริ่มต้นธุรกิจ ลองคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ดี เตรียมเงินลงทุนให้พร้อม หาทางขายสินค้าให้ครอบคลุมกับรายจ่ายและค่าใช้จ่ายแฝงให้จงได้
บทความโดย SCB SME