หัวใจสำคัญของการลงทุนที่ยั่งยืนนั้น นักลงทุนควรที่ความสำคัญกับการทำความเข้าใจในงบการเงินของกิจการ โดยนักลงทุนจะต้องทราบถึง ความสำคัญของงบการเงิน ว่ามีความสำคัญอย่างไร เพราะข้อมูลในงบการเงินของแต่ละกิจการนั้น จะสามารถบ่งชี้ให้เราทราบถึงโอกาสในการลงทุน โดยดูจากข้อมูลภายในงบการเงินนั้นๆ สำหรับนักลงทุนระยะสั้นหรือนักเก็งกำไรอาจจะคิดว่าไม่มีความจำเป็นในการศึกษางบการเงินก่อนลงทุน เพราะเพียงแค่เป็นการเก็งกำไรระยะสั้นหรืออาจจะคิดว่า สามารถใช้เพียงแค่ข้อมูลด้านเทคนิคอล (Technical) เท่านั้นก็สามารถลงทุนได้ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเท่าที่ควรเพราะแม้จะเป็นการลงทุนระยะสั้น แต่หากเราทราบที่มาที่ไปของเงินทองที่ใช้ในการดำเนินงาน ที่มาของรายได้ และการใช้ไปของรายจ่ายต่างๆ ของบริษัทนั้นแล้วว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่นั้น เราจะสามารถเก็งกำไรและลงทุนได้อย่างราบรื่น ตามความเหมาะสมบนพื้นฐานอื่นๆได้ และสำหรับนักลงทุนที่เน้นคุณค่า หรือ Value Investor นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาข้อมูลงบการเงินของบริษัท ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนต้องการที่จะกล่าวถึง สาระสำคัญของงบการเงินที่นักลงทุนควรที่จะต้องพิจารณา โดยมีด้วยกันอยู่ 2 รายงาน และ 3 งบ ดังนี้
1. งบแสดงฐานะการเงิน หรือ งบดุล (Balance Sheet) สามารถระบุถึงความมั่งคั่งของสินทรัพย์ หากบริษัทไหนมีโครงสร้างของงบดุลที่แข็งแรงสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
สินทรัพย์ จะแบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินได้ใน 1 ปี หลักๆ คือ เงินสด ลูกหนี้ สินค้าคงคลัง และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ใช้เวลาแปลงเป็นเงินมากกว่า 1 ปี หลักๆ คือ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
หนี้สิน จะแบ่งออกเป็นหนี้สินหมุนเวียนกับ เป็นหนี้สินที่ต้องใช้ใน 1 ปี กับ หนี้สินไม่หมุนเวียนที่เป็นหนี้สินที่ชำระตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป เมื่อแบ่งชนิดของสินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียนและไม่หมุนเวียนแล้ว เราจะสามารถมองเห็นถึงสภาพคล่องของบริษัท เพราะธุรกิจควรมีสินทรัพย์หมุนเวียน (เงินสดหรือลูกหนี้) มากกว่าหนี้สินระยะสั้น (เงินกู้ระยะสั้นที่ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี) ส่วนของเจ้าของ + กำไรสะสม เป็นเงินทุนเริ่มแรกบวกกับกำไรสุทธิที่เกิดจากการทำมาหากินของบริษัท ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน หากบริษัทมีกำไรสะสมมาก ก็แสดงถึงสามารถในการทำมาหากินที่มีประสิทธิภาพและโอกาสในการปันผลสูง หากต้องการทราบถึงความมั่นคงของกิจการ สามารถดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio : D/E) หากธุรกิจมีหนี้สินจำนวนมากแต่ส่วนของเจ้าของน้อยจะถือว่าไม่ดี ยิ่ง “หนี้น้อยส่วนของทุนหนา” ก็จะยิ่งดูดี ดังนั้นอัตราส่วนนี้จะต้องไม่เกิน 2 เท่า
2. งบกำไรขาดทุน (Income Statement) สามารถระบุถึงผลการดำเนินงานของบริษัท โดยเราต้องการหุ้นที่ รายได้เพิ่มต่อเนื่องหรือไม่ หรือมีกำไรเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด เราจะต้องโฟกัสทั้ง รายได้ และ กำไรสุทธิ ซึ่งทั้งสองตัวเลขนี้ ต้องเป็นบวกและควรจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วหรือไตรมาสที่แล้ว และโฟกัสไปที่ ค่าใช้จ่าย ของบริษัทด้วย ว่ามีต้นทุนและค่าใช้จ่ายการขายและบริหารลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตามการจะมีกำไรสุทธิเพิ่มควรจะมาจาก รายได้เพิ่ม ไม่ควรมาจากการลดต้นทุนเพียงอย่างเดียวเพราะจะเป็นการเพิ่มกำไรที่ไม่ยั่งยืน
3. งบกระแสเงินสด (หรือ Cash Flow Statement) สามารถระบุถึงสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทำให้บริษัทสามารถใช้ในการวางแผนการเงินในอนาคตเนื่องจากงบกระแสเงินสดจะแสดงให้ทราบถึงที่มาที่ไป
4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน ใช้ดูขยายความรายการต่างๆ รวมถึงนโบบายทางการบัญชีที่ใช้จัดทำงบการเงิน ในงบการเงินทั้งสาม ดูคดีความฟ้องร้อง และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. รายงานของผู้สอบบัญชี งบการเงินจะต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นผู้แสดงความเห็นต่องบการเงินที่ตรวจสอบว่า งบการเงินนั้นถูกต้องตามควรในสาระสำคัญและได้จัดทำตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่ มีข้อบ่งชี้ในเรื่องความผิดปกติที่ผู้วิเคราะห์งบการเงินควรให้ความสนใจเป็นพิเศษหรือไม่
ดังนั้น ก่อนลงทุนในหุ้นตัวใด นักลงทุนควรรู้จัก Scan หุ้นจากงบการเงินก่อน จะช่วยให้การลงทุนปลอดภัยมากขึ้น สามารถลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงหุ้นที่ควรเลี่ยง และสามารถทำกำไรในตลาดหุ้นได้มากขึ้น
บทความโดย http://doithai.com