เงินมีที่มาอย่างไร เริ่ม ใช้เงิน กันตั้งแต่เมื่อไหร่

เงินมีที่มาอย่างไร เริ่ม ใช้เงิน กันตั้งแต่เมื่อไหร่

เงินมีที่มาอย่างไร เริ่ม ใช้เงิน กันตั้งแต่เมื่อไหร่?

เงิน หรือ เงินตรา นั้น แท้จริงแล้วคือ วัตถุที่ใช้ในการแลกขายซื้อเปลี่ยน เป็นตัวแทนการวัดมูลค่าของสินค้าที่แลกเปลี่ยนกัน เงินหรือเงินตรานั้นในอดีตเริ่มจากการใช้เปลือกหอย อัญมณี และพัฒนามาเป็นโลหะ ส่วนในปัจจุบันนั้นใช้เป็น เหรียญกษาปณ์ และ ธนบัตร แต่เดิมที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อน พุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อกับชุมชนอื่น ในบริเวณใกล้เคียง โดยใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในหลายรูปแบบ เช่น ลูกปัด เปลือกหอย เมล็ดพืช เป็นต้น สำหรับเราชาวไทยนั้นสันนิษฐานว่าได้มีการนำโลหะมาใช้เป็นเงินตรามาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย ซึ่งเรียกโลหะชนิดนี้ว่า เงินพดด้วง

เงินพดด้วง คืออะไร?

เงินพดด้วง นี้ เป็นเงินตราของไทยในสมัยโบราณ เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมเป็นเวลากว่า 600 ปี โดยทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ ตามน้ำหนักพิกัดของราคา ทุบปลายทั้งสองข้างให้งอเข้าหากันแล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาลลงไป ด้วยเหตุที่มีสัณฐานกลมคล้ายตัวด้วง คนไทยจึงเรียกกันว่า เงินพดด้วง
และในสมัยสุโขทัยนั้นยังไม่มีการผูกขาดการผลิต เงินพดด้วงจึงมีความหลากหลายในเนื้อเงินที่ใช้ทำ รวมถึงน้ำหนักและขนาดอีกด้วย ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทางการก็ได้ห้ามไม่ให้ราษฎรผลิตเงินตราขึ้นเอง เงินพดด้วงจึงได้มาตรฐานมากขึ้น โดยมีตราประทับ 2 ดวง คือ ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล
โดยเงินพดด้วงได้มีการใช้มาเป็นระยะเวลานานจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้นการค้าเฟื่องฟู การผลิตเงินพดด้วงด้วยแรงงานคนไม่สามารถผลิตได้ทันต่อความต้องการใช้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียได้ส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “เหรียญเงินบรรณาการ”
ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินจากบริษัทเทเลอร์ เข้ามาในช่วงปลายปี 2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงกระสาปณ์สิทธิการ” ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่มีการนำธนบัตรออกใช้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นมา

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ละครยอดฮิตอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ในเรื่องนั้นก็ได้มีการใช้เงินพดด้วงด้วย และในเมื่อวันนี้เราคุยกันถึงเรื่องที่มาของเงินกันแล้ว เราก็เลยมีเกร็ดความรู้เล็กๆ เกี่ยวกับค่าเงินของในยุคนั้นมาแนะนำกันครับ
มาตราเงินไทยในสมัยโบราณ
ตามมาตราเงินไทยในสมัยโบราณนั้น เมื่อเรียงตามมูลค่าจะเป็น ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง โดยมีพิกัดอัตรา ดังนี้
  • 800 เบี้ย เป็น 1 เฟื้อง
  • 50 เบี้ย เป็น 1 โสฬส(สิบหก) 16 โสฬส เป็น 1 เฟื้อง
  • 2 อัฐ เป็น 1 เสี้ยวหรือไพ 4 อัฐ เป็น 1 เฟื้อง
  • 2 เสี้ยวหรือไพ เป็น 1 ซีก 2 เสี้ยวหรือไพ เป็น 1 เฟื้อง
  • 2 ซีก เป็น 1 เฟื้อง 8 เฟื้อง เป็น 1 บาท
  • 2 เฟื้อง เป็น 1 สลึง 4 สลึง เป็น 1 บาท
  • 1 มายนหรือมะยง เป็น กึ่งบาท หรือ 2 สลึง
  • 4 บาท เป็น 1 ตำลึง
  • 20 ตำลึง เป็น 1 ชั่ง
  • 80 ชั่ง เป็น 1 หาบ

บทความโดย: https://www.moneyguru.co.th

 2688
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์