อนาคตนักบัญชีกับการเป็นผู้ช่วยสำคัญในการการวิเคราะห์ธุรกิจ

อนาคตนักบัญชีกับการเป็นผู้ช่วยสำคัญในการการวิเคราะห์ธุรกิจ

สำหรับบทความคราวนี้ เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่จะนำไปสู่การบริหารธุรกิจ จึงได้หยิบยกเรื่องการวิเคราะห์ธุรกิจมาเปลี่ยนบรรยากาศอธิบายให้ผู้อ่าน และนักบัญชีได้ลองศึกษากันบ้าง โดยหวังไว้ว่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการนำไปพูดคุยกับฝ่ายบริหาร เพื่อเสนอภาพผลงานของการดำเนินธุรกิจ เพราะโดยหน้าที่ของฝ่ายบริหารนั้นมีหน้าที่ที่จะนำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กรมาใช้ประกอบการวางแผนเตรียมการรับมือกับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือนำมาใช้เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยการผลิต ซึ่งข้อมูลที่ฝ่ายบริหารต้องนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจนั้น ส่วนที่ถือเป็นข้อมูลสำคัญก็คือ ‘ข้อมูลบัญชี’ ด้วยเหตุที่ข้อมูลบัญชีนั้นเป็นข้อมูลที่สะท้อนภาพของการดำเนินธุรกิจได้อย่างชัดเจน และนอกจากนั้นก็ยังสามารถสะท้อนภาพนโยบายขององค์กรได้อีกด้วย โดยนักบัญชีจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แจกแจง รวมถึงตีความข้อมูล และการพยากรณ์คาดการณ์ในอนาคตอีกด้วย

ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอน Advance นั้น นักบัญชี และฝ่ายบริหาร รวมถึงหน่วยงานภายในองค์กรควรจะกลับมาทบทวนนโยบาย แนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วย (Business Analysis) เพื่อวิเคราะห์ว่าธุรกิจของเรานั้นดำเนินการมาแล้วประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แน่นอนว่าธุรกิจทุกธุรกิจ ที่เปิดขึ้นมาต้องมุ่งหวังที่จะแสวงหากำไรจากการดำเนินงานอย่างแน่นอน ดังนั้นการที่จะไปสู่ความเป็นเลิศในการประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ธุรกิจให้ขาด โดยผมขอนำเสนอขั้นตอนในการวิเคราะห์ 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. Strategy Analysis การวิเคราะห์กลยุทธ์ ถือเป็นปัจจัยแรกที่มีความสำคัญก่อนที่จะไปทำการวิเคราะห์งบการเงิน เพราะถ้าหากไม่ทำการวิเคราะห์กลยุทธ์ของธุรกิจก่อน ก็จะทำให้ไม่ทราบเลยว่า อะไร? ที่เป็นตัวผลักดันธุรกิจ และอะไร? ที่เป็นปัจจัยความเสี่ยง (Risk factors) ด้วยสาเหตุที่ว่ามานี้ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ประกอบการวิเคราะห์กลยุทธ์ด้วยทั้งนั้น เพราะในหลายครั้ง ที่การวิเคราะห์ขาดการพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ ทำให้การสะท้อนภาพของธุรกิจไม่ชัดเจน ประกอบกับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กิจการหรือธุรกิจที่ตั้งขึ้นมานั้น มีการดำเนินงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ทบทวนว่าเราสร้างธุรกิจนี้มาเพื่ออะไร และอะไรที่เป็นตัวผลักดันกำไรของธุรกิจที่แท้จริง

    สรุปได้ว่า เทคนิคที่สำคัญของขั้นตอนการวิเคราะห์กลยุทธ์ คือต้องดูว่า ธุรกิจที่ประกอบการอยู่นั้น มีสินค้า/บริการอะไร? และเป็นเพราะสาเหตุอะไร? ที่สามารถทำให้การประกอบธุรกิจไปถึง หรือไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และอีกเทคนิคหนึ่งคือ นักบัญชีควรจะต้องนำเสนอภาพของ Profit Driver ให้ฝ่ายบริหารได้นำไปใช้สำหรับกำหนดกรอบในการทำกำไร พร้อมทั้งประเมินปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำให้สินค้าหรือบริการของกิจการไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ดังนั้นฝากไว้ว่า ‘นักบัญชีจึงไม่ควรวิเคราะห์ตัวเลขทางบัญชีโดยไม่เข้าใจกลยุทธ์ขององค์กรว่าเป็นอย่างไร’

  2. Accounting Analysis การวิเคราะห์นโยบายการบัญชี บ่อยครั้งที่เห็นได้ว่า ‘นโยบายการบัญชีที่เลือกมาใช้นั้นมักจะไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ’ ดังนั้นก่อนที่จะทำการวิเคราะห์ ถึงแม้ว่าเราจะรู้ตัวผลักดันธุรกิจ หรือรู้ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่เข้าใจถึงกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจก็ตาม แต่ปรากฎว่านโยบายทางการบัญชีที่นำมาใช้ในการจัดทำนั้นมันไม่สะท้อนการทำงาน และความเป็นจริงที่ดำเนินการอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ การตัดค่าเสื่อมราคา เดิมก่อนที่จะทำการลงทุนในสินทรัพย์ มีการประมาณการนำเสนอไว้ว่าจะใช้งาน 45 ปี แต่เมื่อถึงเวลาใช้งานจริง กลับทำเพียงแค่ 20 ปี อย่างนี้การแสดงจึงไม่เกิดความสัมพันธ์กับการดำเนินการจริง หรือบางครั้งมีการนำหลักการทางภาษีมาใช้เป็นนโยบายในการจัดทำบัญชี ตัวอย่างเช่น วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา ที่ไม่สะท้อนภาพจริงของธุรกิจ โดยไปยึดหลักการของ พรฎ.#145 มาเป็นเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสื่อมราคา ซึ่งในทางปฏิบัติการคิดค่าเสื่อมราคาตามหลักการบัญชีนั้นมีการวางแนวทาง หรือวิธีการที่หลากหลาย ให้เลือกใช้ เพื่อให้การสะท้อนภาพ Economic Reality ด้วย

    หรือแม้แต่ธุรกิจที่มีการซื้อมาขายไป อย่างร้านสะดวกซื้อที่มีการรับสินค้าเข้ามาก่อน แล้วระบายสินค้าที่ได้มาออกไปก่อนนั้น ดูเหมือนจะมีการตีราคาสินค้าคงเหลือแบบ FIFO แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีการเลือกใช้นโยบายการบัญชีในการตีราคาสินค้าคงเหลือแบบ Weighted Average แบบนี้ฝ่ายบริหาร หรือนักบัญชีเองก็ต้องใช้หลักความระมัดระวังในการวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน เพราะนโยบายทางการบัญชีที่เลือกมาใช้ไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่กิจการดำเนินการอยู่

    ดังนั้นหลักการในการจะวิเคราะห์ได้นั้น ควรยึดหลักการที่จะต้องมีการนำตัวเลขในงบการเงินมาทำการปรับปรุงให้เกิดความถูกต้องก่อน (Undo Accounting Distortion) เพื่อให้การวิเคราะห์นั้นสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจได้อย่างชัดเจน และถูกต้อง

  3. Financial Analysis การวิเคราะห์ทางการเงิน ขั้นตอนนี้ แนะนำว่าจะเริ่มดำเนินการได้ควรจะต้องปฏิบัติในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเสียก่อน (แต่เท่าที่เห็นเรามักจะมุ่งมั่นทำขั้นนี้ก่อน ซึ่งอยากให้ปรับแนวคิดใหม่นะครับ) เพราะหากมีการดำเนินการสอดคล้องกันตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ จนถึงการแสดงรายการในงบการเงินตามนโยบายการบัญชี เชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันแล้ว จะทำให้ตัวเลขผลที่จะใช้ในการวิเคราะห์เกิดความถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างดี ดังนั้น การที่จะวิเคราะห์ทางการเงินควรจะต้องสะท้อนภาพของ Business Model ด้วยจึงจะถือว่าผลที่ได้จากการวิเคราะห์นั้น ก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน และการวิเคราะห์ที่ได้มาจะต้องอยู่ในบริบทของกลยุทธ์ที่ได้มีการวางแผนไว้อีกด้วย

  4. Pro Forma Analysis เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะถูกดำเนินการ โดยการวิเคราะห์ธุรกิจที่ดี และก่อเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจนั้น จะต้องสามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ว่าสมมติหากในปีหน้าธุรกิจต้องการขยายตัวจะต้องเตรียมการหรือดำเนินการในส่วนใดเพิ่มเติมบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการ Forecast ตัวเลขอออกมาในเชิงพยากรณ์


บทความโดย : http://www.jobdst.com

 2798
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์