การประกอบธุรกิจของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการ เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากจะต้องนำรายได้มาคำนวณกำไรสุทธิแล้วก็ต้องนำรายจ่ายมาคำนวณกำไรสุทธิด้วย ซึ่งรายได้และรายจ่ายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิ
โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ในกรณีจำเป็นผู้มีเงินได้จะขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิและวิธีการทางบัญชี เพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
ในการนำรายได้หรือรายจ่ายมาคำนวณกำไรสุทธินั้นจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงินได้มีการคิดค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยหรือไม่ หรือหากมีการคิดค่าตอบแทนแต่ต่ำกว่าท้องตลาดหรือไม่ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน โดยกำหนดไว้ดังนี้
"ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน"
ดังนั้นหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีการโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่คิดค่าตอบแทน หรือคิดแต่ต่ำกว่าตลาดเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน ธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการเมื่อมีการดำเนินธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการมักจะมีการกำหนดราคาขายสินค้าหรือให้บริการตามใบราคา (Price List) ซึ่งอาจจะแยกเป็นราคาขายปลีก ขายส่ง ขายผ่านตัวแทน ที่มีราคาขายหรือให้บริการไม่เท่ากัน
แต่มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนดอัตราในการให้ส่วนลดแก่ลูกค้าแต่ละราย ที่ผู้ประกอบการสามารถให้ส่วนลดแก่ลูกค้าได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินหากขายสินค้าหรือให้บริการต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันไม่สมควร อะไรคือเหตุอันสมควร
องค์ประกอบของ "เหตุอันสมควร" จะมีดังนี้
บริษัทแห่งหนึ่งประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องเสียงติดรถยนต์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ลำโพง เครื่องเสียง (พาวเวอร์แอมป์) จอภาพขนาดเล็ก อะไหล่เกี่ยวกับเครื่องเสียง เป็นต้น บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจอภาพขนาด 7 นิ้ว จากบริษัท ก จำกัด บริษัทจึงได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากบริษัท ข จำกัด และบริษัท ค จำกัด รวมจำนวน 760 ชิ้น เพื่อจะนำมาส่งมอบให้กับบริษัท ก แต่เนื่องจากแผนการตลาดของบริษัท ก เปลี่ยนแปลงไปจึงได้ปฏิเสธการสั่งซื้อสินค้าเป็นเหตุให้บริษัทมีสินค้าคงเหลือค้างสต็อกจำนวน 359 ชิ้น
บริษัทจึงได้ติดต่อขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท (ราคาซื้อหรือราคาต้นทุนชิ้นละ 11,300 บาท) จำนวน 350 ชิ้น เพราะสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว สินค้าที่ขายมีราคาตลาดชิ้นละ 4,200-5,000 บาท นอกจากนี้ บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่บริษัท ค ราคาชิ้นละ 40 เหรียญสหรัฐ เป็นเงินประมาณ 1,261,160 บาท
เนื่องจากเมื่อบริษัทได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ข และบริษัท ค บริษัททั้งสองได้ผลิตสินค้าเพื่อเตรียมส่งมอบให้แก่บริษัท ซึ่งสินค้าดังกล่าวได้สั่งทำและนำเข้ามาเพื่อขายให้กับบริษัทโดยตรงไม่สามารถนำไปขายที่อื่นได้ โดยสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญาในกรณีดังกล่าว
การที่บริษัทได้ขายจอภาพติดรถยนต์ขนาด 7 นิ้ว ให้กับบริษัทในเครือเดียวกันอยู่ในต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,425 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาทุนและราคาตลาด โดยอ้างว่าสินค้าในตลาดปัจจุบันใช้จอภาพขนาด 8 นิ้ว เข้าลักษณะเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาด และคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามราคาตลาดตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากสัญญาซื้อขายมิได้มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงระหว่างบริษัทและบริษัท ค ในเรื่องของการยกเลิกสัญญาและผลของการยกเลิกสัญญา ในกรณีดังกล่าวบริษัทจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามข้อตกลงซึ่งได้กระทำนอกเหนือจากสัญญาให้บริษัท ค. การจ่ายเงินชดเชยของบริษัทจึงเป็นการกระทำโดยสมัครใจของบริษัท ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และกรณีที่บริษัทได้ขายสินค้าให้กับบริษัทในเครือเดียวกันซึ่งอยู่ในต่างประเทศ โดยบริษัทได้ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศ บริษัทจะได้รับสิทธิ์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้นการที่บริษัทได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาดยกเว้นมีเหตุอันสมควร มิฉะนั้นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน
บทความโดย : www.accountancy.in.th