ชีวิตมนุษย์เราเกิดมาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น การดูแลสุขภาพเลยเป็นสิ่งสำคัญมากๆ แต่นอกจากสุขภาพกาย สุขภาพใจ ที่เราต้องดูแลเป็นอย่างดีแล้ว ในยุคทุนนิยมแบบนี้ พี่ทุยคิดว่าการดูแล “สุขภาพทางการเงิน” ให้ดีอยู่เสมอก็เป็นเรื่องที่ควรทำเช่นกัน
การมี “สุขภาพทางการเงิน” ที่ดี คืออะไร ?
สำหรับพี่ทุย คือ การที่เรามีเงินใช้ตลอดทุกช่วงเวลาของชีวิตของเรานั่นแหละ ไม่ว่าเราจะแก่ตัวขึ้น มีครอบครัว หรือช่วงที่มีเรื่องฉุกเฉินต่างๆ แต่นอกเหนือจากแผนการเงินที่ควรมีแล้ว พี่ทุยว่าที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ แนวคิดของการที่จะมี “สุขภาพทางการเงิน” ที่ดีนั่นเอง
สำหรับบทความนี้พี่ทุยมี 5 แนวคิดมานำเสนอ สำหรับคนที่อยากมีสุขภาพทางการเงินที่ดี นั่นก็คือ..
1. ใช้เงินให้น้อยกว่าที่หามาได้ ไม่มีทางจน
เป็นหลักการง่ายๆของคนที่มี “สุขภาพทางการเงิน” ที่ดี แต่พี่ทุยคิดว่าตอนนี้หลายๆคนกำลังสอบตกเรื่องนี้อยู่ ปัญหาคนของยุคนี้ก็คือ “ความอยาก” มากกว่า “ความสามารถ” เพราะความอยากเราโดนกระตุ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็เจอโฆษณาเต็มไปหมด และเมื่อความอยากมากกว่า ก็จะทำให้เราใช้จ่ายมากกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้เราเป็นหนี้ได้ง่ายๆเลย
2. หนี้ไม่ใช่เงินของเรา
แนวคิดที่สองของคนที่มี “สุขภาพทางการเงิน” ที่ดีต่อจากข้อแรกมาเลย พอหลายๆคนเป็นหนี้แล้วชอบคิดว่า “หนี้เป็นเงินของเราเอง” พี่ทุยจะบอกว่าอันตรายมากๆ ห้ามคิดเด็ดขาดว่า “เงินกู้” ก็คือ “เงินกู” และดอกเบี้ยจ่ายก็เป็นตัวการหลักที่ทำให้เรามี “สุขภาพทางการเงิน” ที่แย่ด้วย
3. เงินเฟ้อไม่น่ากลัวเท่าการขาดทุน
ถ้าใครได้ศึกษาเรื่องการเงินมาสักหน่อย ต้องรู้จักคำว่า “เงินเฟ้อ” กันมาบ้างแน่ๆ พี่ทุยว่าเงินเฟ้อก็น่ากลัวนะ มันทำให้ความมั่งคั่งเราลดลงไป วิธีแก้ก็คือเอาเงินไปลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อก็จะแก้ปัญหาได้
แต่พี่ทุยจะบอกว่า การที่เราอยากจะลงทุนควรศึกษาให้ดีก่อนเสมอเพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าเราเอาเงินวางไว้เฉยๆ อย่างมากมูลค่าก็ลดเพราะโดนเงินเฟ้อกินไปหน่อย แต่ถ้าลงทุนแล้วขาดทุนนอกจากจะโดนเงินเฟ้อกิน เงินเราก็ยังหายไปอีกด้วยนะ ซวย 2 ต่อเลยล่ะ
4. ใช้การมองโลกในแง่ร้ายให้เป็นประโยชน์
แน่นอนว่าการมองโลกในแง่ร้ายก็มีประโยชน์บ้างอยู่เหมือนกัน พี่ทุยชอบใช้การมองโลกในแง่ร้ายในการวางแผนการเงินนะ เพราะจะทำให้เรามองได้รอบคอบขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น เพราะปัญหาของคนก็คือการที่มองโลกแง่ดีจนเกินไป เช่น เราคงไม่ซวยป่วยหรอก เราคงไม่โชคร้ายเกิดอุบัติเหตุแบบคนอื่นหรอก
แต่อย่าลืมว่า “คนอื่น” ของ “คนอื่น” ก็คือตัวเราเนี้ยแหละ ยิ่งเรามองโลกในแง่ร้ายแล้วสามารถวางแผนผ่านสถานการณ์นั้นๆมาได้ โอกาสที่เราจะมี “สุขภาพทางการเงิน” ที่ดีก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก
5. อิสรภาพทางการเงินต้องใช้เวลาสร้าง
การมีอิสรภาพทางการเงินเป็นสิ่งที่ดีและพี่ทุยก็อยากมีเหมือนกัน แต่การจะมีอิสรภาพทางการเงินได้ พี่ทุยว่าต้องใช้เวลาสร้างนะ ใจร้อนไม่ได้แน่นอน ถ้าเราเข้าใจว่าไม่ได้มาโดยง่าย แน่นอนว่าเราก็จะไม่มีทางโดนหลอก เคยมีคำกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราจะโดนหลอก ประกอบไปด้วย 2 เหตุผล อย่างแรกคือ “เราไม่รู้” และ อย่างที่สองก็คือ “เราโลภ”
หลายๆครั้งที่มีข่าวโดนหลอกกันโดยเฉพาะเรื่องแชร์ลูกโซ่ ส่วนใหญ่ก็จะโดนหลอกล่อด้วยผลตอบแทนกันทั้งนั้น เช่น ลงทุน 1,000,000 บาท ก็สามารถรับเงินเดือนละ 100,000 บาทไปเลย ! ทำให้คนก็แห่กันไปลงทุน เพราะคิดว่าอยากมีอิสรภาพทางการเงิน พี่ทุยเตือนเลยว่าการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนเกิน 10% ต่อปี ต้องระวังไว้ก่อนและศึกษาการลงทุนนั้นให้รอบคอบก่อนเสมอ
“สุขภาพทางการเงิน” ที่ดี ใครๆก็อยากมี แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไม่มี วิธีการก็ไม่ได้ยากอะไร ไม่ต้องตื่นเช้าไปออกกำลังกาย ไม่ต้องคุมอาหารกินคลีน พี่ทุยว่าก็คงเหมือนการลดความอ้วนเนี้ยแหละ รู้กันหมดว่าทำยังไงถึงจะผอม อันนี้ก็คงเหมือนกัน รู้ว่าจะทำยังไงถึงจะมี “สุขภาพทางการเงิน” ที่ดี แต่ไม่ทำแค่นั่นเอง..
บทความโดย : www.moneybuffalo.in.th