คู่มือการ “วางแผนการเงิน” ฉบับสมบูรณ์

คู่มือการ “วางแผนการเงิน” ฉบับสมบูรณ์

การ "วางแผนการเงิน" เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าหากเราต้องการมีเงินใช้ตลอดชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเรา

“วางแผนการเงิน” หากว่าเราต้องการที่จะวางแผนจริงๆ พี่ทุยว่าเราควรเริ่มที่การ “ทำบัญชีรายรับรายจ่าย” เพื่อทำให้เราเหลือเงินออม แล้วนำเงินออมไปทำให้ให้งอกเงยอีกทีนึง สมการเงินออมที่พี่ทุยแนะนำเสมอก็คือ

สมการเงินออม : รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย

แต่ถ้าเราออมเงินผิดวิธี คิดว่าใช้ก่อนแล้วค่อยออมเงินทีหลังก็ได้ สุดท้ายพี่ทุยเห็นหลายๆคนก็ไม่เคยเหลือเงินออมสักทีตอนสิ้นเดือน ดังนั้นถ้าเรายังมีปัญหาเรื่องออมเงินไม่ได้ พี่ทุยว่าเราต้องมาแก้ที่สมการออมเงินของตัวเราก่อน

แต่หลังจากที่เราเริ่มมีเงินออม พี่ทุยว่าหลายๆคนคงมีอาการเหมือนกัน นั่นก็คือ

อยากจะเริ่มลงทุน
อยากจะซื้อ LTF RMF เพื่อลดหย่อนภาษี
อยากจะได้เงินปันผลเยอะๆ

จริงๆพี่ทุยอยากจะให้ลืมความคิดพวกนี้ไปก่อน การวางแผนการเงินแบบพื้นฐานจริงๆควรเริ่มต้นที่ “สามเหลี่ยมทางการเงิน” ก่อนเสมอ

คู่มือการวางแผนการเงินฉบับสมบูรณ์

เราจะวางแผนการเงินจากด้านล่างขึ้นข้างบนเสมอ เราเริ่มจากฐานด้านล่างของสามเหลี่ยมทางการเงินที่ใช้สำหรับวางแผนการเงินกันก่อนว่าเริ่มต้นที่ตรงไหนอย่างไร

 

คู่มือการวางแผนการเงินฉบับสมบูรณ์

เวลาที่เริ่มต้นวางแผนการเงินเราควรเริ่มต้นที่ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs) กันก่อน โดยส่วนนี้จะเริ่มที่ เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน (Emergency Cash) 3-6 เดือน ก่อนเสมอ เงินส่วนนี้ก็คือเงินที่เก็บไว้ให้พอเพียงกับค่าใช้จ่าย ของเรา 3-6 เดือน แล้วรู้มั้ยว่าเงินก้อนนี้มีไว้เพื่อทำอะไรกันบ้าง ?

พี่ทุยคิดว่าหลายๆคนน่าจะตอบว่า เป็นเงินเผื่อไว้ตอนที่เราประสบอุบัติเหตุ หรือปัญหาเรื่องสุขภาพต้องใช้เงินเยอะๆ แน่นอนพี่ทุยจะบอกว่าเกือบถูกแล้วล่ะ แต่จริงๆเงินก้อนนี้เอาไว้เผื่อในกรณีที่รายได้เราหยุดลง

ไม่ว่าจะเป็นโดนไล่ออกจากงาน ตกงาน ยอดขายไม่ดี อะไรก็ตามแต่ที่ทำให้รายรับเราไม่เหมือนเดิม แต่ในเวลานั้นอย่าลืมว่ารายจ่ายของเราไม่เคยหยุดตามรายได้ที่ปรับตัวลดลงเลย

ในการ “วางแผนการเงิน” เราควรจะเตรียมเงินเผื่อไว้ใช้ 3 เดือน หรือ 6 เดือนดีล่ะ ?

ส่วนตัวพี่ทุยคิดว่ามันขึ้นอยู่กับ “แหล่งรายได้” เราแล้วแหละ ถ้าเรามี “อาชีพ” ที่สามารถหางานใหม่ได้รวดเร็ว แค่ 3 เดือนก็พอแล้ว แต่ถ้าเราทำงานที่ขยับตัวได้ยาก ไม่ค่อยมีความแน่นอน อย่างเช่น ดารา นายแบบ นางแบบ ควรสำรองไว้เกิน 6 เดือนด้วยซ้ำ ! เพราะความแน่นอนมันไม่มี เวลางานไม่เข้าทีหรือเจอข่าวฉาว อยู่ดีๆรายได้ก็หายไปเลยเป็นปีๆเลยก็มีนะ

หรือถ้าใครมีแหล่งรายได้ทางเดียว เช่น มนุษย์เงินเดือน แล้วไม่มีรายได้ทางอื่นเลย ก็ควรมีอย่างน้อยๆ 6 เดือน พี่ทุยว่าเหลือๆดีกว่าขาดจริงมั้ยล่ะ ?

ส่วนต่อมาหลังจากที่เราเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว เราจะมาดูที่การทำประกันที่พอเพียง (Sufficient Insurance) ตรงเนี้ยแหละที่จะคอยรองรับตอนเราเกิดอุบัติเหตุหรือว่าประสบปัญหาทางสุขภาพ ส่วนที่เราเป็นกังวลกัน นั่นก็คือ “การที่มีประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพอย่างพอเพียง” พี่ทุยเน้นเสมอเรื่องคำว่า “พอเพียง”

พี่ทุยไม่ได้บอกว่าเราควรต้องมีเท่าไหร่ เพราะแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน แล้วโรงพยาบาลแต่ละแห่งก็มีค่ารักษาพยาบาลไม่เท่ากัน ดังนั้นทางที่ดีก็คือ เรากลับไปตรวจสอบว่าโรงพยาบาลที่เราเข้าใช้บริการบ่อยๆหรือว่าในกรณีที่ฉุกเฉินแล้วต้องเข้าโรงพยาบาลจะเป็นที่ไหน ก็ลองไปสอบถามพวกค่ารักษาพยาบาลต่างๆ แล้วก็มาซื้อประกันให้ครอบคลุมค่ารักษาไว้ก่อนดีที่สุด

พี่ทุยไม่ได้เป็นกังวลกรณีจ่ายค่ารักษา 2,000 – 3,000 บาท เพราะยังไงก็น่าจ่ายได้มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว แต่พี่ทุยเป็นห่วงกรณีที่ต้องจ่ายเป็นแสนเป็นล้านมากกว่า ว่าเบิกได้เท่าไร พอเพียงมั้ย อันนี้สำคัญที่สุด

ประกันยังคงเป็นผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวในตลาดที่สามารถใช้บริหารความเสี่ยงได้ ก่อนที่เราจะลงทุนกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เราควรเริ่มจากสิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่า “ความจำเป็นพื้นฐาน” หรือ “Basic Needs”

ถ้ายังไม่เตรียมพร้อมความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวมันจะมีปัญหาแน่ๆ พี่ทุยว่าก็เหมือนกับตอนที่เราสร้างบ้านนั่นแหละ ถ้าลงเสาเข็ม เทพื้นไม่ดี ต่อให้สร้างสูงแค่ไหน หรือสวยแค่ไหน สักวันมันก็ต้องพังลงมาอยู่ดี

คู่มือการวางแผนการเงินฉบับสมบูรณ์

หลังจากที่พี่ทุยแนะนำให้ จัดการเรื่อง “ความต้องการพื้นฐาน” เรียบร้อยแล้ว ก็มาดูเรื่องการลงทุนกันเลย แต่ .. เป็นการลงทุนแบบมี “เป้าหมาย” ชัดเจน คือการวางแผนการลงทุนเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น การวางแผนเกษียณ (Retirement Planning) ซึ่งหลายๆคนชอบมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น

แต่พี่ทุยบอกเลยไว้ตรงนี้เลยนะว่า “คนที่ไม่วางแผนเกษียณ ไม่เคยได้เกษียณ” อาจจะเป็นคำพูดที่ดูแรงไปหน่อย แต่พี่ทุยเห็นด้วยว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะเวลาจะเกษียณอายุจริงๆ พี่ทุยว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วที่เตรียมไว้พอมั้ย ? พอถึงเวลามันจะไม่กล้าเกษียณตัวเองหน่ะสิ แย่เลย ทำงานทั้งชีวิต ไม่มีเวลาใช้ชีวิตเลย ! ซึ่งการวางแผนเกษียณอายุก็เป็นแผนการเงินที่สำคัญมากๆเวลาที่เราวางแผนการเงิน

การวางแผนเกษียณอายุ เป็นการวางแผนระยะยาว จึงควรวางเงินลงทุนแบบ “ระยะยาว” เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น) แต่ว่าควรออมเงินเดือนละเท่าไหร่ เพื่อให้พอกับเป้าหมาย อันนี้แล้วแต่คนเลยว่า..

  1. เกษียณอายุเท่าไหร่ — ถ้าเกษียณเร็ว ก็ต้องออมเยอะ
  2. ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ เดือนละเท่าไหร่ — ถ้ายิ่งเยอะ ก็ต้องยิ่งออมเยอะ
  3. ความสามารถในการลงทุน — ถ้ามีมาก ก็ออมน้อย
  4. อายุปัจจุบัน — ถ้ายิ่งเยอะ ยิ่งเหนื่อย ต้องออมเยอะ

อีกแผนการเงินนึงที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับคนที่มีครอบครัวและมีลูกน้อยอยู่ นั่นก็คือ การวางแผนเพื่อการศึกษาบุตร (Education Planing)

การวางแผนการศึกษาบุตรก็ง่ายมากๆ คือการคำนวณว่าลูกเราเกิดปุ๊ป เราต้องวางแผนว่าเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ เพื่อให้ลูกเราจบ ปริญญาตรี เป็นอย่างน้อยในสมัยนี้

แต่นอกจากการวางแผนเกษียณอายุ และการวางแผนการศึกษาบุตรแล้ว จริงๆก็ยังมีแผนการเงินอื่นๆอีกพอสมควร เช่น การวางแผนเพื่อซื้อคอนโดในอีก 5 ปี ก็เป็นการวางแผนการเงินได้เช่นกัน

โดยคิดว่าอีก 2 ปี เราต้องใช้เงินดาวน์เท่าไหร่ จะได้รู้ว่าเราต้องออมเงินเดือนละเท่าไหร่ และนำไปลงทุนที่ไหนบ้าง ฯลฯ อย่างกรณีวางแผนซื้อคอนโดนี้ เป็นการลงทุนระยะกลาง การลงทุนควรวางเงินใน LTF หุ้นกู้เอกชน กองทุนรวมต่างๆ ก็เหมาะสมอยู่เหมือนกัน แต่ต้องมาดูด้วยว่าเรารับความเสี่ยงได้ขนาดไหนอีกครั้งนึง

หรือจะเป็นการวางแผนเพื่อการเที่ยวรอบโลก ก็เป็นแผนการเงินได้เหมือนกันนะ แต่อย่าลืมจัดความสำคัญของเป้าหมายก่อนนะ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วความต้องการของเรามักจะเยอะ แต่ที่แน่ๆเลยเราไม่สามารถทำทุกเป้าหมายได้พร้อมกัน ยกเว้นว่าเราจะมีรายได้ที่มากพอ

ดังนั้นพี่ทุยก็จะแนะนำว่าให้เริ่มจัดการเป้าหมายที่จำเป็นก่อน เช่น วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ หรือวางแผนการศึกษาบุตร แล้วค่อยจัดการเรื่องเป้าหมายที่ไม่จำเป็นรองๆลงมา เช่น การเที่ยวรอบยุโรป ญี่ปุ่น นู้นนี่นั่น

พออ่านมาถึงตรงนี้ พอรู้แล้วใช่มั้ยว่า ทำไมเราต้องจัดการเรื่อง “ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs)” กันก่อนเสมอ ลองมาดูตัวอย่างสักหน่อยละก็ หากไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย..

สมมติว่าวันนี้เราเก็บเงินเพื่อการศึกษาของลูกเราอยู่แล้วปรากฎว่าโชคร้ายประสบอุบัติเหตุ หรือ อยู่ๆก็ตรวจพบเนื้อร้าย (มะเร็ง) แล้วเราต้องเอาเงินค่าเทอมของลูกเรา เอาไปจ่ายให้กับหมอ แบบนี้ลูกเราจะทำยังไงล่ะ ? ค้างค่าเทอมเอาไว้ก่อนงั้นหรอ ? พี่ทุยว่าถ้าเราสามารถป้องกันได้ก็น่าจะป้องกันก่อน

ถ้าเราจัดการเรื่อง “ความจำเป็นพื้นฐาน” แล้วพอมีเหตุการณ์ที่เราไม่อยากจะให้มันเกิดขึ้น ลูกของเราก็ยังเรียนปกติ แบบสบายดีและทุกอย่างก็ปกติดี ใช้ชีวิตตามเดิม พี่ทุยว่าอันนี้แหละคือความสำคัญของการวางแผนการเงินเลยล่ะ

พี่ทุยว่าการวางแผนอะไรก็ตาม ถ้าเริ่มต้นยิ่งเร็วก็ยิ่งดี เราก็ยิ่งเหนื่อยน้อยลง การปลูกต้นไม้ที่ดีที่สุดคือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเวลาที่ดีรองลงมา คือ วันนี้นี่แหละ !

คู่มือการวางแผนการเงินฉบับสมบูรณ์

หลังจากเราจัดการเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญๆเรียบร้อยแล้ว พี่ทุยว่าก็ถึงเวลาที่หลายๆคนถนัดแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่หลายคนๆเข้าใจว่าต้องทำเป็นอันดับแรก นั่นคือ “การลงทุน” จะเรียกว่าเป็นการลงทุนตามใจชอบได้เลย เอาที่ตนเองถนัด อยากลงทุนทำอะไรก็จัดได้เลยเต็มที่ ไม่ว่าจะเล่นหุ้น ทำธุรกิจส่วนตัว ทำอสังหาริมทรัพย์ ได้ทั้งนั้นเลย เพราะเงินก้อนนี้สามารถรับความเสี่ยงได้และเป้าหมายของเงินก้อนนี้ก็คือการทำให้ความมั่งคั่งหรือเงินของเราเพิ่มขึ้น

ข้อดีที่สุดที่พี่ทุยชอบการวางแผนการเงินในลักษณะนี้ก็คือ ต่อให้เงินลงทุนทั้งก้อนนี้หายไปทั้งหมดก็ตาม ไม่ว่าจะเจอวิกฤติหรือว่าลงทุนผิดพลาดไป เราก็ยังสามารถใ้ช้ชีวิตได้เหมือนเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เจ็บป่วยมีเงินรักษา ตกงานก็ยังมีเงินใช้ปรับตัวได้สบายๆ ลูกเรายังได้เรียนเหมือนอย่างที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่เค้าเกิดมา ตอนเราแก่ตัวไปก็ยังมีเงินใช้ ไม่เดือดร้อนใคร

แต่สิ่งที่น่าเศร้าก็คือคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันยัง “วางแผนการเงิน” แบบนี้อยู่

คู่มือการวางแผนการเงินฉบับสมบูรณ์

คือการที่เอาเรื่องการลงทุนมานำทุกอย่าง โดยไม่มีการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง ผลที่ตามมาก็คือเมื่อการลงทุนเกิดความผิดพลาดทุกอย่างที่เราตั้งใจไว้ ทุกอย่างท่ีหวังไว้ก็หายแว่บไปกับตา

ด้วยเหตุนี้แหละทำให้ตอนปี 2540 หรือช่วงวิกฤติที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักเมืองไทยในนาม วิกฤติต้มยำกุ้ง หรือ Tom Yum Goong Crisis คนไทยมีการฆ่าตัวตายเยอะมาก เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์หมดไปกับการลงทุนทั้งในธุรกิจและตลาดหุ้น พอการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดทุกอย่างก็พังตามไปด้วย บางคนที่ไปกู้จากต่างประเทศอยู่หนี้ก็เพิ่มมากกว่า 2 เท่า เพราะค่าเงินบาทปรับตัวจาก 25 บาทเท่ากับ 1 ดอลล่าร์ เป็น 56 บาทเท่ากับ 1 ดอลล่าร์ในชั่วข้ามคืน

พี่ทุยว่าเราน่าจะเห็นภาพกันแล้วนะว่าการ “วางแผนการเงิน” ทำไมถึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในชีวิตได้เยอะไปหมด

พี่ทุยไม่รู้ว่าจะพูดยังไง บอกได้แค่ว่าลงมือทำเถอะอย่ารอเลย ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวแล้วถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันมาเยี่ยมเราในวันที่เราไม่พร้อม สุดท้ายเราก็ต้องมาบ่นกับตัวเองว่า รู้งี้น่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ พี่ทุยว่าตอนนั้นก็ไม่ทันแล้วล่ะ

บทความโดย : www.moneybuffalo.in.th

 2034
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์