การวาง “ระบบบัญชี” คืออะไร

การวาง “ระบบบัญชี” คืออะไร

การวางระบบบัญชี 

       การวางระบบบัญชีเพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บข้อมูลทางบัญชีและการเงิน อันประกอบด้วยเอกสารต่างๆ บันทึกทางการบัญชี รายงาน เพื่อช่วยให้ฝ่ายจัดการสามารถปฏิบัติหน้าอันอยู่ในความรับผิดชอบของตนให้ลุล่วงไปด้วยดีสำหรับใช้เป็นเครื่องวัดผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา อีกทั้ง ธุรกิจจำเป็นต้องมีระบบบัญชีที่ดี เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในด้านการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การวางระบบบัญชีจึงมีความสำคัญมากในการช่วยให้ธุรกิจสามารถติดตามและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวางระบบบัญชี ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังต่อไปนี้

  1. เอกสารและบันทึกทางการบัญชี ประกอบด้วย

√ แบบฟอร์มต่างๆ อาทิ ใบกำกับสินค้า (Invoice) ใบสำคัญสั่งจ่าย (Vouchers) ในเสร็จรับเงิน (Receipt)
√ สมุดลงรายการเบื้องต้นหรือสิ่งอื่นที่ใช้ทดแทน ได้แก่ สมุดบัญชีรายวันซื้อ, สมุดบัญชีรายวันขาย, สมุดบัญชีรายวันรับเงิน, สมุดบัญชีรายวันจ่ายเงิน, และสมุดบัญชีรายวันทั่วไป
√ บัญชีแยกประเภท ซึ่งใช้ลงรายการจากสมุดลงรายการเบื้องต้น
√ รายงานหรืองบต่างๆซึ่งจะต้องเสนอต่อฝ่ายจัดการ
  1. วิธีการต่างๆ ในการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้แบบฟอร์ม

  2. ทิศทางการเดินเอกสาร (Document Flow Chart)

  3. การกำหนดรหัสบัญชี และผังบัญชีที่เหมาะสมกับธุรกิจ สำหรับใช้ในการออกงบการเงิน

  4. การเลือกใช้โปรแกรมทางบัญชีสำเร็จรูปสำหรับบันทึกรายการค้าของกิจการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เหตุใดจึงจำเป็นต้องวางระบบบัญชี

          การวางระบบบัญชีเปรียบเหมือนกับการวางแผนสร้างอาคารสักหลังหนึ่ง ต้องร่างแบบ ตรวจทานแบบ เริ่มก่อสร้าง แก้ไขแบบบางส่วนเมื่อก่อสร้างแล้วติดปัญหา มีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อประโยชน์ใช้สอยในแต่ละส่วน ไปจนถึงสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ เมื่อเข้าอยู่แล้วก็ยังจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามสภาพการใช้สอยที่เปลี่ยนไป หรือตามข้อกฎหมายกำหนด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าการวางระบบบัญชีมีความยุ่งยาก จนเกินกว่าจะทำได้ จุดมุ่งหมายของการวางระบบบัญชี คือ ให้มีแนวปฏิบัติสำหรับการบริหารและปฏิบัติการ สอดคล้องกับการทำงานของธุรกิจนั้น ๆ สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการ เพื่อวัดผลและสามารถตรวจสอบได้ การวางระบบบัญชีที่ดีของกิจการหนึ่ง อาจไม่เหมาะสมกับอีกกิจการหนึ่งก็ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับวิธีการปฏิบัติงานและธรรมชาติของแต่ละธุรกิจ แม้ในกิจการขนาดเล็กก็มีความจำเป็นที่จะต้องวางระบบบัญชีเช่นกัน เช่น ให้มีการจดบันทึก หรือลงบัญชีในแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้น (รับ,จ่ายเงิน, เบิกสินค้า เป็นต้น) เพื่อจะได้สามารถวัดประสิทธิภาพและสรุปผลการดำเนินงานของกิจการได้

ลักษณะของการวางระบบบัญชีที่ดี

           การวางระบบบัญชีที่ดีคือ ต้องสะท้อนความจริง เที่ยงตรง ป้องกันการทุจริต ตรวจสอบซึ่งกันและกัน และสามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อการตัดสินใจได้ทันเวลา หากว่ากิจการของท่านมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ครบถ้วนแล้วก็สามารถมั่นใจได้ว่า จะสามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่นคง และแข่งขันกับผู้อื่นได้อย่างแน่นอน

วางแผนการสำรวจและวิเคราะห์

1.ผังองค์การ นโยบายของบริษัท จะต้องทราบถึงการบริหารงานภายในองค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นระดับพนักงาน หัวหน้า ผู้จัดการ ผู้อำนวยการหรือกรรมการของกิจการ อีกทั้งควรทราบนโยบายการบริหารงานอำนาจการอนุมัติ

  1. รายละเอียดของสินค้า/บริการ การสำรวจข้อมูลอันเกี่ยวข้องกับตัวสินค้าผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตสินค้าสำเร็จรูปหรือการให้การบริการแก่ลูกค้า การตั้งราคา การกำหนดต้นทุน การคำนวณหาสินค้าคงเหลือของกิจการ

  2. แยกประเภทของงานบัญชี การเงิน งบการเงิน กำหนดรูปแบบงานบัญชีตามประเภทของการดำเนินงาน แนวทางการจัดทำรายการต่างๆ เพื่อเสนอต่อผู้บริหาร การจัดทำงบการเงินไม่ว่าจะเป็นงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกำไรสะสม

  3. ผังแสดงการเดินทางของข้อมูล เอกสาร พิจารณาดูการเดินทางของเอกสารต่างๆ ว่ามีการเดินทางไปแหล่งที่เกี่ยวข้องถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่เริ่มออกเอกสารจนสิ้นสุดกระบวนการไม่ว่จะเป็น ใบส่งของ ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน หรือการออกเอกสารด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

  4. รายละเอียดของการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงาน การใช้ทรัพย์สิน การจัดซื้อหรือการคิดค่าเสื่อมราคา

  5. ข้อมูลทางการตลาด การขาย การประชาสัมพันธ์ การวางแผนการตลาด การกำหนดขั้นตอนในการจำหน่าย การจ่ายค่านายหน้า หรือค่าใช้จ่ายของพนักงานขาย แนวทางการประชาสัมพันธ์

  6. >รายละเอียดของการกู้ยืมเงิน สัญญากู้ยืมเงิน การตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย วันครบกำหนด การชำระดอกเบี้ยหรือคืนเงินต้น วงเงินกู้ หรือเบิกเงินเกินบัญชี

 

 ขั้นตอนการวางระบบบัญชี

การออกแบบและกำหนดระบบของบัญชี

  1. ผังบัญชี และรหัสบัญชี ผังบัญชีและรหัสบัญชีจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้จัดทำบัญชีสะดวกง่ายต่อการพิจารณา รายการค้าให้ถูกต้องและรัดกุมยิ่งขึ้น หากสมารถทำคำอธิบายชื่อบัญชีในแต่ละบัญชีได้ ก็จะทำให้ผู้จัดทำบัญชีดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

  2. สมุดบัญชีต่างๆ ที่ใช้ในการบันทึกบัญชี การกำหนดรูปแบบของสมุดบัญชีต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายบัญชี ส่วนรูปร่างหน้าตาของสมุดบัญชี ในทางปฏิบัติมักจะนิยมใช้สมุดบัญชีรายวันให้ถูกต้อง ผู้ออกแบบจะต้องทำให้สอดคล้องกับนโยบายของกิจการ และคำนึงถึงการตรวจสอบ และควบคุมภายในได้เป็นอย่างดี

  3. เอกสารประกอบการบันทึกบัญชี การออกแบบใบสำคัญจ่าย-รับเงิน เพื่อช่วยในการบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง ผู้ออกแบบจะต้องทำให้สอดคล้องกับนโยบายของกิจการ และคำนึงถึงการตรวจสอบ และควบคุมภายในได้เป็นอย่างดี

  4. การจัดทำรายงาน การออกแบบรายงานเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ การพิจารณาหรือการนำไปวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหาร

  5. การรองรับระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีอื่นๆ ในกรณีที่กิจการต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออยู่นอกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องพิจารณาถึงเอกสารใบกำกับภาษี รายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

การวางแผนการนำออกมาใช้

  1. ทดลองการใช้เอกสาร เส้นทางการเดินของเอกสาร เมื่อได้ออกแบบและกำหนด แนวทางเดินของเอกสารขึ้นมาเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นการนำ รูปแบบของเอกสารต่างๆ ออกมาใช้เพื่อพิจารณาดูการเดินของเอกสารว่ามีปัญหาในจุดหรือแหล่งใด หรือผู้ปฏิบัติได้เขียนหรือใช้เอกสารได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่

  2. การลงรายการต่างๆ ในสมุดบัญชี หรือคอมพิวเตอร์ การนำเอกสารรายการค้าบันทึกในสมุดบัญชีหรือคอมพิวเตอร์จะต้องจัดเตรียมข้อมูล เอกสารเพื่อบันทึกลงในสมุดบัญชีต่างๆ ได้ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอย่างไร

  3. การทดลองรายงาน การออกแบบรายงานแล้วนำออกมาใช้มักจะพบปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ รายงานที่นำออกมาใช้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้บริหาร ดังนั้น เมื่อมีการทดลองออกรายงานทางการเงิน ผุ้ออกแบบจะต้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแนะนำหรือระบุความต้องการเพิ่มเติมเพื่อจะได้นำรายงานออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์

การติดตามผลและปรับปรุงแก้ไขระบบบัญชี

  1. การลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป ขั้นตอนในการออกเอกสาร การอนุมัติ การเบิก จ่ายเงินการบันทึกรายการบัญชี หากพบว่าขั้นตอนใดซ้ำซ้อน หรือไม่มีความจำเป็นทำให้เกิด ความยุ่งยากเสียเวลาก็ให้ตัดรายการ หรือขั้นตอนนั้นออกไป

  2. ผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน การออกแบบระบบบัญชีมักจะมีผลกระทบต่อการทำงานในระยะเริ่มต้น ผู้ปฏิบัติยังไม่เคยชิน จะต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจว่าจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งจึงจะไม่ล่าช้าหรือเสียเวลา

สำหรับการวางระบบโปรแกรมบัญชีออนไลน์ myAccount Cloud  สามารถดูรายละเอียดได้ตาม Link ด้านล่าง  
https://www.myaccount-cloud.com/Article/Detail/112292/Implement-Solution
 38028
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์