ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนรวม

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนรวม

นักธุรกิจต้องต่อยอดเป็น ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนรวม

     ตอนยังเด็กเรามักถูกผู้ใหญ่สอนให้รู้จักกับการออมเงิน  เมื่อเก็บเงินได้เต็มกระปุกก็นำไปฝากธนาคาร หรือนำไปฝากในวันเด็กเพื่อจะได้รับกระปุกอันใหม่และของที่ระลึกกลับบ้าน ในตอนนั้นเราอาจรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นตัวเลขในสมุดบัญชีธนาคารเพิ่มพูนมากขึ้นทุกปี  

     แต่เมื่อเราโตขึ้นเราเริ่มรู้จักและเข้าใจกับความหมายของคำว่า “ต่อยอด” หลายคนจึงเริ่มมองหาช่องทางการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เงินที่มีอยู่งอกเงยนอกเหนือไปจากการเก็บออมในบัญชีธนาคาร  จึงเกิดทางเลือกใหม่เป็นการออมกึ่งลงทุน หรือที่เรารู้จักกันในนามของ  “กองทุนรวม”

กองทุนรวม ( Mutual Fund ) คือ  โครงการลงทุนที่ระดมเงินจากผู้ซื้อหน่วยลงทุนรายย่อยหลาย ๆ คน มารวมกันให้เป็นเงินก้อนใหญ่แล้วนำไปจดทะเบียนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล จากนั้นก็บริหารจัดการกองทุนโดยมืออาชีพ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน เมื่อผลิดอกออกผลก็นำผลตอบแทนที่ได้มาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนตามสัดส่วนของการลงทุนในกองทุนรวมนั้น

ดังนั้น กองทุนรวม จึงเหมาะกับ คนที่อยากลงทุนแต่ไม่มีประสบการณ์   ความรู้  ความเชี่ยวชาญ  และคนที่มีเงินไม่มากแต่อยากทำให้เงินงอกเงย  เพราะกองทุนรวมมีการกระจายความเสี่ยง มีนโยบายที่หลากหลาย ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยจากธนาคาร

สามารถซื้อขายได้ทางโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ททุกวัน ทำให้สะดวกและมีสภาพคล่องสูง และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้มีประสบการณ์ในการลงทุน

5 เรื่องต้องรู้ก่อนการลงทุนกับกองทุนรวม

1.กำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุน

ในเบื้องต้นต้องสำรวจสถานะทางการเงินของตัวเองเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร  มีเงินที่สามารถนำมาลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน  ซึ่งเงินที่ใช้ในการลงทุนควรเป็นเงินที่ปราศจากภาระผูกพันและไม่ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตประจำวัน  

จากนั้นจึงวางแผนการเงินว่ามีเป้าหมายของการลงทุนเพื่ออะไร  เพราะถ้าหากติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ก็อาจเสียเวลาหลงทางไปไกล ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเสียเวลาเปล่า  เช่น ต้องการซื้อบ้านซื้อรถ  เพื่อนำเงินไปแต่งงาน  เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษาบุตร หรือเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในยามแก่เฒ่า  

ถ้าหากมีเป้าหมายหลายอย่างควรจัดเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการจัดพอร์ตลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป้าหมายของการลงทุนควรตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง  ที่มีความชัดเจนและสมเหตุสมผล

ส่วนระยะเวลาการลงทุนจะเป็นตัวกำหนดแนวทางการลงทุนว่าจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้ามีระยะเวลาการลงทุนนานก็อาจเสี่ยงได้มากหน่อยเพราะความผันผวนไม่สูงมาก แต่ถ้ามีระยะเวลาการลงทุนน้อย ก็ไม่ควรเอาเงินไปเสี่ยงมาก ควรเน้นให้เงินต้นอยู่ครบมากกว่า จึงต้องมีการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างรอบคอบและรัดกุม

ดังนั้น จึงควรเริ่มลงทุนกับเป้าหมายที่ใช้ระยะเวลานานก่อน เช่น การออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ  เพราะนอกจากจะไม่ต้องเผชิญกับความผันผวนมากแล้ว  เงินเก็บแต่ละเดือนก็ใช้ไม่สูงมาก แถมยังได้รับผลตอบแทนที่ดีมีโอกาสบรรลุเป้าหมาย

2. เข้าใจประเภทของการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง

เนื่องจากกองทุนมีหลายแบบ ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้  กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น  กองทุนที่มีความเสี่ยงแบบปานกลาง เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมผสม  และกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง  เช่น  กองทุนรวมกลุ่มอุตสาหกรรม  กองทุนรวมหุ้น  เป็นต้น

หากต้องการความแน่นอนควรเลือกลงทุนกับกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับกลางในสัดส่วนที่มากกว่ากองทุนที่มีความเสี่ยงสูง  โดยพิจารณาร่วมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เพราะบางคนอาจรับการขาดทุนได้เพียง 10%  ในขณะที่บางคนสามารถรับการขาดทุนได้มากกว่านั้น  หากเรามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เราจะสามารถวางแผนได้อย่างเหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงของการลงทุนในครั้งนี้

3. รู้ระยะเวลาการลงทุนของแต่ละทรัพย์สิน

ระยะเวลาการลงทุนของกองทุนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน หากเรานำเงินที่จำเป็นต้องใช้ในระยะเวลาอันใกล้ไปลงทุนกับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง ก็อาจจทำให้รู้สึกไม่สบายใจและเป็นกังวลเวลาที่เห็นราคาผันผวน  ดังนั้น  เราจึงต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ระหว่าง เป้าหมาย สินทรัพย์ ระยะเวลา และความเสี่ยง  จึงจะได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า

4. วางแผนเงินลงทุนอย่างมีวินัย

คือ การเลือกตัดสินใจลงทุนในรูปแบบเงินก้อนหรือกระแสเงินสด  หากเป็นเงินก้อนควรเน้นไปที่การจัดพอร์ตลงทุน แบบดูเป้าหมายและความเสี่ยง แต่ถ้าลงทุนแบบกระแสเงินสด ต้องลงทุนแบบเท่า ๆ กัน ในทุก ๆ เดือน ( DCA ) จะดีกว่า  ซึ่งการลงทุนแบบหลังนี้ต้องอาศัยวินัยเป็นอย่างมาก  เพราะถ้าไม่ทำอย่างต่อเนื่องก็คงไม่สำเร็จอย่างแน่นอน  ควรมีเงินสำรอง 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินจะได้มีเงินสำรองจ่ายโดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเงินในพอร์ตการลงทุน

5. ติดตามข่าวสาร หาความรู้ หาตัวช่วยคัดกรอง

ควรหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมาอ่านเพิ่มเติม และควรติดตามข่าวสารอยู่เสมอ อาจหาข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนต่าง ๆ เพิ่มเติมจากในเว็บไซด์  ธนาคาร  บริษัทประกันชีวิต  หรือ บลจ. ( บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจำกัด ) ซึ่งบางแห่งมีโปรแกรมช่วยในการคำนวนเพื่อหามูลค่าเงินลงทุนที่เหมาะสมและตรงกับเป้าหมาย ทำให้เรามองภาพการลงทุนกับเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้  การหาข้อมูลและทำความเข้าใจกับภาพรวมของสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น

จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีบรรยากาศและทิศทางที่เหมาะสมกับการลงทุนหรือไม่  หรือ จะมีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างไร  มากน้อยแค่ไหน

ที่สำคัญ ต้องอ่านและฟังอย่างมีวิจารณญาณว่ากองทุนที่เลือกมานั้นมีความเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ และจะมีแผนสำรองอย่างไรหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์เอาไว้
ดังนั้น ในการลงทุนแต่ละครั้งจึงควรอ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วนก่อนทุกครั้ง เพราะไม่มีกองทุนไหนที่ดีที่สุด หรือ จะเป็นกองทุนที่ดีตลอดไป  การทำการบ้านมาเป็นอย่างดีจะช่วยลดความเสี่ยงได้มากในการตัดสินใจลงทุนกับกองทุนรวม

บทความโดย: https://www.leaderwings.co

 1984
ผู้เข้าชม
พบปัญหาการโหลดเนื้อหา คลิกที่นี่ เพื่อ Refresh
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์