นักบัญชีที่ทำงานในบริษัทและกิจการร้านค้าต่างๆ

นักบัญชีที่ทำงานในบริษัทและกิจการร้านค้าต่างๆ

1. สภาพแวดล้อมในการทำงาน

สถานที่ทำงาน

ต้องบอกก่อนว่าทุกๆ บริษัทต้องมีอาชีพบัญชีอยู่แล้ว เพราะว่างานบัญชีมันต้องเอาไปส่งต่อหลายคนตามที่กฎหมายระบุ เพราะฉะนั้นทุกๆองค์กร แม้ว่าจะเป็น non-profit หรือว่าอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นสถานที่ทำงานมันก็ต้องแล้วแต่ว่าเป็นธุรกิจไหน จะเป็นตึกออฟฟิศ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็เป็นแบบนั้น หรือว่าเป็นโรงงานอย่างที่คุยกันเมื่อสักครู่ เขาก็จะไปอยู่ใกล้โรงงานเพราะว่าใกล้กับข้อมูลที่สุด หรืออย่างบริษัทเป็นศูนย์การค้า ก็จะมีบ้างที่ต้องไปทำ Survey ตามศูนย์การค้า หรือจะเป็นโรงพยาบาลมันก็ต้องมีแผนกบัญชีเหมือนกัน แล้วแต่ธุรกิจ

ถ้าบริษัทเล็กมากๆ ก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะเอาให้ source ข้างนอกเข้ามาทำ ทางเจ้าของธุรกิจก็จะส่งเอกสารไปให้เขาลงบัญชี แล้วก็ถ้าเป็นไซส์ใหญ่ขึ้นมานิดนึงก็จะมีพนักงานบัญชี แผนกบัญชีไว้ภายในองค์กร มันก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า สถานที่ทำงานก็จะแล้วแต่ธุรกิจ อย่างในเครือมีโรงไฟฟ้า 6 โรง บัญชีบางส่วนก็จะอยู่ที่นี่ เอาเอกสารอะไรต่างๆมาลงที่นี่ แต่บางส่วนก็ไปลงที่ไซท์งาน มันขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลที่จะเอามาบันทึกมันอยู่ที่ไหน

สภาพการทำงาน 

ในออฟฟิศ จริงๆ เอกสารก็เยอะอยู่แล้ว ต้องอยู่กับบัญชี มีคนมาหาเราเยอะเพราะว่าทุกคนในบริษัทต้องมาเบิกเงิน อย่างฝ่ายขายเขาก็ต้องมีการเก็บเงินลูกค้า คือทุกคนในบริษัทต้องมาหาเรา เราก็จะแบ่งกันว่าคนนี้ดูทำเบิก ทำจ่าย คนนี้ดูบิลลิ่งลูกค้า แบ่งๆ กันไป บรรยากาศในการทำงานก็เฮฮาปาร์ตี้ สนุกสนาน ไม่ต้องเครียด ส่วนการออกนอกสถานที่ต่างๆ บรรยากาศก็คล้ายๆ กันนะ

ระยะเวลาในการทำงาน 

ต่างกันตรงประเภทของธุรกิจมากกว่า เวลาเข้าทำงานของที่นี่มัน 8 โมง ถึง 5 โมงเย็น ถ้าเป็นธุรกิจที่ขนาดไม่ใหญ่มากก็อาจจะไม่ต้องก็อาจจะไม่ต้องทำโอทีมาก ทำแค่ช่วงปิดบัญชีตอนต้นเดือน แต่ถ้ามันมีงานเพิ่มมาอย่างเช่นพวกรายงานต่างๆ ก็อาจจะทำงานหนักขึ้น working hour ก็จะยาวขึ้น มันก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจด้วย อย่างวันก่อนพี่เพิ่งไปเจอ CFO ของ Seven ที่เขาทำเกี่ยวกับการขายพวก iphone ก็เป็นอีกลักษณะนึงคือเป็น retail งานเขาก็จะละเอียดยิบมากมาย ส่วนงานของพี่ก็จะไม่ได้มีรายการการซื้อขาย (Transaction) ทื่เยอะขนาดนั้น ตัว Working Hour มันก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจ เพราะอย่างถ้าขาย iphone หนึ่งเครื่องก็ต้องบันทึกแล้ว ใช้คนเยอะกว่า งานเยอะกว่า แต่ถ้าเป็นขายไฟฟ้าอย่างธุรกิจที่พี่อยู่ โรงไฟฟ้าโรงหนึ่งเดือนหนึ่งมีอินวอยแค่ใบเดียว เพราะว่าเราขายให้ธุรกิจ ไม่ได้ขายให้รายย่อย เพราะฉะนั้นงานก็จะเป็นคนละแนวกัน

อาชีพนี้ต้องทำงานร่วมกับอาชีพ/ตำแหน่งงานใดบ้าง

อย่างที่บอกว่าบัญชีจริงๆ มันก็คือการจดบันทึก บันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นในองค์กร แล้วแปลงมันให้อยู่ในรูปของตัวเลข เพราะฉะนั้นเราต้องรู้หมดเลยว่าในองค์กร ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อที่เราจะได้แปลมันเป็นตัวเลขได้อย่างถูกต้อง และคนอื่นจะได้นำไปใช้ต่อ

ไม่ว่าวิศวกรจะเดินทางไปดูไซต์งาน เราก็ต้องรู้ว่าเขาไปทำอะไร เราก็ต้องถามเขาว่าเป็นอย่างไร เวลาเขาจะมาเบิกเงิน เราก็ต้องดูว่าเขามีหลักฐานต่างๆ เรียบร้อยไหม ทางฝ่าย business development เราก็ต้องดูว่าโครงการที่เขาพัฒนาอยู่มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่มันจะเกิดเป็นโครงการจริงๆ ถ้ามันมีความแน่นอนในระดับหนึ่งแล้ว เราก็จะลงบัญชีอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันยังเป็นช่วง ของการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) เราก็จะลงบัญชีอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปเกี่ยวข้องกับทุกแผนกเพื่อให้งานมันออกมาถูกต้อง อันนี้คือการไปเอาข้อมูลเขามา

ส่วนการส่งต่อ คนที่ใช้งานของเรา อันดับแรกเลยก็ต้องเป็นระดับบริหาร ข้อมูลต่างๆ ที่เราเก็บ เราจะแปลงและนำเสนอออกมาอย่างไรให้ผู้บริหารเข้าใจ เพราะฉะนั้นในยุคสมัยนี้ข้อมูล (Data) เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ข้อมูลของเราต้องอัปเดตตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าผ่านไป 3 เดือนแล้วผู้บริหารเพิ่งมาทราบว่าขายสินค้าชิ้นนี้ขาดทุน อันนี้คือผู้ใช้ข้อมูลของเราอันดับ 1 เลย ความถูกต้องแม่นยำอาจไม่สำคัญเท่ากับกำหนดเวลาที่ต้องนำเสนอ ถูกต้องสัก 90-95% ก็ถือว่าเราควรที่จะนำเสนอไปก่อน

ถ้าเป็นผู้ใช้ข้อมูลภายนอกองค์กรก็จะเป็นพวก สรรพากร ต้องส่งภายในวันที่ที่กำหนด ไปตามปกติ ผู้ตรวจสอบบัญชีก็จะเข้ามาตรวจสอบงานของเรา เราก็ต้องสื่อสารว่าเราทำไปถูกต้องไหม มีเอกสารสนับสนุนไหม ถ้าเป็นบริษัทในตลาดก็ยังมีอีกหลายคนที่เราต้องติดต่อประสานงานด้วย อย่างเช่นทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. ที่จะเข้ามาช่วยในการตรวจสอบเพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้ถือหุ้นรายย่อย แล้วก็ยังมีนักลงทุนอีก ก็คือผู้ที่ซื้อหุ้นเรา หรือในอนาคตอยากจะซื้อหุ้นเรา เขาก็ได้ข้อมูลจากงบการเงินเป็นหลัก แต่ละไตรมาสที่เราส่งข้อมูลไป คนที่เกี่ยวข้องก็จะมีประมาณนี้

2. คุณลักษณะของงาน

เป้าหมายของงาน/โจทย์ใหญ่ของงาน/ความท้าทายของงาน 

เราอยู่กับตัวเลข หน้าที่ของเราคือเราต้องทำงบการเงิน ปิดตัวเลขออกมาให้เป็นตัวเลขที่ถูกต้องและทันเวลา เพื่อให้ผู้บริหารได้นำไปใช้เอาไปตัดสินใจ อย่างบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มันก็จะมีบุคคลภายนอกที่ต้องใช้งบการเงินนี้ด้วย หน้าที่ของเราก็คือทำงบออกมาให้ถูกต้อง และที่สำคัญคือทันเวล

หรือก็อาจจะบอกแบบสรุปได้ว่า เป้าหมายคือการจัดการกับข้อมูล ให้ถูกต้อง และทันเวลา จริงๆมันก็ต้องทำให้ดีที่สุดทั้งสองด้าน เพราะถ้าหากว่าข้อมูลถูกต้องแต่นำไปใช้ไม่ได้เพราะข้อมูลมันล้าสมัยไปแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์ ก็เลยเป็นเหตุผลที่พี่บอกไปว่าพนักงานบัญชีจะต้องได้รับความกดดันในเรื่องของการทำงานให้ทันภายในกำหนดเวลาและรอบคอบด้วย ไม่ใช่ว่าทำแล้วผิด มันต้องได้ทั้งสองอย่าง

และโดยพื้นฐานแล้วอาชีพบัญชีในที่ต่างๆ ก็ทำเหมือนกันก็คือทำเรื่องบันทึกบัญชี แต่นอกเหนือจากนั้นเช่นการวิเคราะห์หรือการให้ข้อมูลด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับบัญชี ทาง outsource อาจจะไม่ได้มีบริการตรงนี้ให้  เพราะว่าจริงๆแล้วเขาไม่รู้จักบริษัท เขาก็ลงบัญชีตามเอกสารที่ได้รับ

Work process

ขั้นตอนแรกก็ต้องไปเอาข้อมูลทุกอย่างมาก่อน ทุกแผนกก็ต้องเอาข้อมูลมาส่งให้ทางบัญชีว่ามันมีแบบนี้เกิดขึ้น ถ้ามีค่าใช้จ่ายทางบัญชีก็จะมาตั้งหนี้ รับรู้ว่าเดี๋ยวเราต้องไปจ่ายตังเขานะ มีเงินออกไปก็มาบันทึก คือเป็นทุกขั้นตอนในการเกี่ยวข้องกับเงินๆทองๆทั้งหลายแหล่ จ่ายไปก็บันทึกว่ามีจ่ายไปนะ ปั่นไฟขายไปเสร็จก็มาจดบันทึกว่าเดือนนี้ขายไปกี่หน่วย คนจดมิเตอร์ก็ต้องมาบอกฝ่ายบัญชีว่าเดือนนี้จะต้องไปเรียกเงินเขามากี่บาท เพราะเราขายไปกี่บาท แล้วก็ต้องไปส่งเอกสาร ออกอินวอยไปคิดเงินกับลูกค้าของเรา ซื้อสินทรัพย์ (Asset) อะไรมาคนที่ซื้อก็ต้องมาบอกเราเดี๋ยวจะมีของมาส่งนะ เราก็ต้องมาบันทึกว่าเงินเราออกไปก็มีของเข้ามาแทน รายการการซื้อขายต่างๆพวกนี้ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนของบริษัท บัญชีก็จะต้องรู้

พอเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างนี้เสร็จ ในแต่ละเดือนเขาก็จะมาสรุปเป็นงบการเงินของแต่ละเดือน จริงๆควรจะปิดเป็นแต่ละเดือน แต่บางบริษัทที่ไม่จำเป็นเขาก็ไม่ปิดทุกเดือน แต่พี่ก็คิดว่าควรจะปิดทุกเดือน เขาก็จะมาสรุปหน้าตาเป็นงบการเงินขึ้นมา ก็จะมีงบแสดงฐานะทางการเงิน ว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินทุน เป็นเท่าไหร่บ้าง คล้ายๆกับบอกว่าเงินในกระเป๋าเราตอนนี้มีเท่าไหร่บ้าง แล้วก็มีอีกงบนึงเป็นงบกำไรขาดทุน ก็ดูว่าเดือนนี้เราทำมาหาได้ แล้วจ่ายไปทั้งหมดเป็นบวกหรือเป็นลบ หลักๆก็จะมีสองงบนี้ ถ้าขยันหน่อยก็จะมีงบกระแสเงินสด(Cash Flow) ดูว่าในเชิงกระแสเงินสดจริงๆแล้ว เงินออกและเข้าประมาณเท่าไหร่ หลักๆ ภายในเดือนนึงก็จะต้องทำ 3 งบนี้ออกมา

ถ้าในช่วงไตรมาส บริษัทในตลาดก็จะมีงานเพิ่มขึ้นมา ในด้านของผู้ตรวจสอบบัญชีเขาก็จะเข้ามาตรวจเรา เราก็ต้องมีเอกสารมาสนับสนุนเป็นหลักฐาน ทำงานเพิ่ม ตอบคำถามเขา อธิบายว่ารายการการซื้อขายพวกนี้มันมีความเป็นมาอย่างไร คอยตอบคำถามเขาแล้วเราก็ต้องออกงบส่งตลาดหลักทรัพย์ พอสิ้นปี ผู้ตรวจสอบบัญชีก็จะมาตรวจด้วยความละเอียดอีกระดับนึง

นอกจากงานลงบัญชีและออกงบพวกนี้แล้วก็จะมีเรื่องของการทำงบประมาณ (Budget) ซึ่งช่วงเดือนสิงหาคมนี้แหละก็เป็นช่วงของการทำงบประมาณ เราก็ต้องติดต่อขอความร่วมมือของทุกคนในบริษัทให้ช่วยไปประมาณให้หน่อยว่าปีหน้าคุณจะมีการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง เพื่อที่ทางบัญชีจะได้รวบรวมและนำเสนอกับทาง director  ว่าปีหน้าน่าจะมีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ ซึ่งงบประมาณตรงนี้ก็จะนำมาใช้ในการควบคุมรายรับรายจ่ายในปีถัดไป เปรียบเทียบกับงบประมาณซึ่งอันนี้ก็ต้องนำส่งทางผู้บริหารว่ามันมีอะไรที่นอกรายการออกไปหรือเปล่า ซึ่งรายการที่หลุดออกไปนั้นเราก็ต้องนำมาพิจารณาว่าสมควรหรือไม่ อย่างไร อันนี้ก็เป็นส่วนของงบประมาณ

นอกจากนั้นก็จะแล้วแต่แผนก แล้วแต่บริษัทว่าจะให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในส่วนของ Management Accounting ผู้บริหารต้องการรายงานอย่างไรเพื่อดูผลงาน

งานทางด้านบัญชีมันจะมีบทบาทในเรื่องของกลยุทธ์ของทางบริษัทในเรื่องของการสังเกตุการณ์ว่ากลยุทธ์ที่บริษัทต้องการจะทำให้สำเร็จนี้ ตัวเลขและบัญชีมันจะสะท้อนว่าเราจะไปถึงตามนั้นได้ไหม อันนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแผนกบัญชีกับทางผู้บริหารว่า ตัวเลขตัวไหนที่ผู้บริหารสนใจ เพื่อที่จะมองว่ามันมีอะไรที่เราต้องควรระวังหรือเปล่าที่จะทำให้มันไม่เป็นไปตามแผน อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เพิ่มมาจากงานพื้นฐาน เป็นการประสานงานกันของทางผู้บริหารกับทางแผนกบัญชี เพื่อที่จะทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลเพียงพอในการสนใจ งานที่เป็นบัญชีแท้ๆ ที่เป็นงานหลักก็จะมีประมาณนี้

เสร็จจากตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของแผนกอื่น อย่างเช่นฝ่ายบริหารนำไปตัดสินใจในการทำสิ่งต่างๆ ผ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relation) นำข้อมูลต่างๆไปส่งต่อให้นักลงทุนว่าตกลงผลงานตรงนี้เป็นอย่างไร นำข้อมูลไปแปลให้มันเข้าใจง่ายขึ้นและเป็นไปในแนวทางธุรกิจมากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นอีกฝ่ายที่นำข้อมูลของทางบัญชีไปใช้

Career path/ความก้าวหน้าของสายอาชีพ 

มันมาได้หลายทางมาก ถ้าทางตรงที่สุดเลยก็เริ่มจากพนักงานบัญชีเข้ามาเป็นเด็กน้อยจบใหม่ เสร็จแล้วก็เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ เป็นหัวหน้าส่วน สุดแล้วแต่ว่าเขาจะซอยแผนกอย่างไร แล้วก็เป็น Accounting Manager อันนี้ก็จะแตะถึงระดับบริหารแล้ว ต้องคอยกำกับดูแล หลังจากนั้นเขาก็จะซอยอีกเป็น ผู้อำนวยการ ไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึง CEO ถามว่าไปถึงได้ไหม ก็ไปถึงได้ ก็มีหลายๆ CFO (Chief Financial Officer) ที่กระโดดข้ามไปถึง CEO ได้เหมือนกันแต่ก็ต้องเลือกอุตสาหกรรมดีๆ ส่วนมากก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่ได้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในเรื่องอย่าง Consumer Product อันนั้นก็จะออกแนวการตลาด ถ้าเป็นอย่าง Project Finance ก็มีโอกาสที่สายงานบัญชีจะขึ้นไปได้ เพราะว่าอย่างความสำเร็จของโครงการก็อาจจะมาจากแค่ส่วนของวิศวะ กับเงิน ก็ต้องเลือกธุรกิจดีๆ เหมือนกันว่าเราจะขึ้นไปได้ไหม อันนี้คือสายตรง

มันก็หายากเหมือนกันนะจากการที่เข้ามาเป็นพนักงานบัญชีระดับต้นเลยจนถึง CEO มันก็เป็นไปได้แต่ก็คงยาก ถ้าเปรียบเทียบกับพวกหนังจีนกำลังภายใน พวกที่เข้าบู้ตึ้งตั้งแต่วันแรกไปเป็นเจ้าสำนักมันก็ไม่ค่อยมีหรอก มันจะมีแบบไปตกถ้ำตกเขากันก่อนแล้วค่อยกลับมาเก่งเลย แล้วกลับเข้ามาในจุดสูงๆ แล้วก็กลายเป็นเจ้าสำนัก เพราะฉะนั้นทางที่หลบออกไปข้างนอกก่อนกลับเข้ามาในสายงานบัญชีก็จะมี ผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นทางหนึ่ง ไปโตไปสะสมประสบการณ์ว่าถ้าเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีมืออาชีพ มันจะทำงานรอบด้านกว่า ได้เจออุตสาหกรรมที่กว้างกว่า และอีกอย่างคือได้เจอผู้บริหาร มันสามารถพัฒนาทักษะอะไรได้เข้มข้นกว่าการทำงานในบริษัทหรือองค์กรมาตั้งแต่ต้น เพราะว่าการทำงานในองค์กรจะทำให้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น ในบริษัทนั้นลักษณะงานของตัวเอง แล้วค่อยๆ เพิ่มขอบเขตงานขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นงานมืออาชีพอย่างผู้ตรวจสอบมันจะรู้หลายๆ อย่าง แต่จะไม่ได้รู้ลึกเป็นบริษัทแต่ละบริษัท ซึ่งจริงๆ พอกระโดดมาในระดับบริหารบางทีมันอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ลึกลงไปในทุกรายการการซื้อขาย มันคนละทักษะกันเพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คนที่เริ่มตั้งแต่ต้นจะลำบากในการพัฒนาทักษะที่จำเป็น พอขึ้นมาถึงระดับบริหารแล้วกลายเป็นคนนอกจะมีมากกว่า

อีกวงจรหนึ่งที่สามารถทำได้ก็อาจจะเป็น Banking อย่างตำแหน่ง CFO ก็จะมีบัญชีกับการเงิน Banking อย่างการลงทุน Investment Banker ก็จะสามารถช่วยได้ เพราะว่าเขาก็จะมีความรู้ในการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น หุ้นกู้ เพิ่มทุน ออกตราสารต่างๆ ที่มันแปลกๆ ซึ่งก็จะช่วยขับเคลื่อนบริษัทได้ จริงๆแล้วแม้กระทั้งมาจากสายงานอื่นเลยที่จะตีวงกลับมาเป็น CFO ได้ เป็นวิศวะ ทำงาน Business Development ก็สามารถที่จะมาทำเป็น CFO ได้เหมือนกัน

แต่ถ้าหากให้เจาะจงแค่บัญชี ลิมิตสูงสุดที่ Accounting Manager ก็จะมาได้สองทางก็คือทำไปตั้งแต่เข้ามาแล้วก็ไต่ขึ้นไปเป็น Accounting Manager กับเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี แล้วก็กลับเข้ามาเป็น Accounting Manager อาจจะมาจากการแนะนำกันจากลูกค้าหรือทางใดก็แล้วแต่ทำให้ได้โอกาสนี้ มันก็จะเร็วกว่า

บุคลิก นิสัยของคนที่เหมาะจะทำอาชีพนี้ 

ก็ต้องมีความแม่นยำ ถ้าทำแล้วผิดตลอดก็ไม่ดี เขาก็มีผลสำรวจออกมาว่าจริงๆ พนักงานบัญชีอีกแปปนึงจะสูญพันธุ์แล้ว อาชีพบัญชีจริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้ เพราะพนักงานบัญชี แค่เอาเอกสารมา บันทึกต่างๆ ต่อไปในอนาคตบัญชีอาจจะลงรูปแบบหน้างานไปเลยก็ได้ วิศวะคุณจะลงรูปแบบอะไร ก็วางโปรแกรมลงไปเลยว่าเบิกอันนั้น สุดท้ายปลายทางจะบันทึกเป็นแบบนี้โดยที่ไม่จำเป็นว่ารายการการซื้อขายนี้ต้องเป็นนักบัญชีที่ทำการบันทึก คนที่ทำบัญชีที่ปลายทางอาจถูกแทนที่ไปด้วยคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายถ้าเราแปลกตัวเองจากนักบัญชีธรรมดาเป็นคนที่ค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ Management Accounting, วิเคราะห์ต่างๆ อาชีพพวกนี้มันยังไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพราะฉะนั้นนักบัญชีรุ่นใหม่ก็ต้องใฝ่รู้ พัฒนาให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ข้อมูลมาอย่างนี้ ลงอย่างนั้น ต้องเขาใจว่าจริงๆ แล้ว เหตุผลที่ขับเคลื่อนรายการการซื้อขายมันคืออะไร เพื่อที่จะไม่ถูกแทนที่ไปด้วยเครื่องจักรก็เหมือนอาชีพอื่นงานที่ใช้แรงงาน (Skill Labor) มันก็ถูกแทนที่ไปด้วยเครื่องจักร

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการประกอบอาชีพนี้

อาชีพนี้อันหนึ่งก็คือต้องมีจริยธรรม เพราะว่าเราเป็นคนที่อยู่กับตัวเลข มันอาจจะมีช่องโหว่ของกฎระเบียบที่คุมเราอยู่ บางทีก็อยู่ที่เราด้วยว่าเราเลือกจะทำแบบไหน จริงๆ บางทีถ้าเราหลบไปนิดนึงมันอาจจะไม่มีคนรู้ก็ได้ แต่ถ้าเรามีพื้นฐานที่ดี ต้องมีจริยธรรมของวิชาชีพ เลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูก เพราะฉะนั้นคนที่จะนำข้อมูลไปใช้ก็จะได้ใช้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ก็มีเรื่อง คือ กฎระเบียบ จริงๆ แล้วก็มีหลายอย่าง แต่ว่าตอนนี้ที่เจอคือกฎระเบียบมันมีหลายอย่างมาก และมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ฐานบัญชีมันก็ปรับเรื่อยๆ ซึ่งพนักงานที่ทำงานก็อาจจะไม่มีโอกาสเรียนรู้อะไรพวกนี้ เราก็ต้องขวนขวายและส่งเขาไปอัปเดตสิ่งต่างๆ มาตรฐานบัญชีก็ออกใหม่เรื่อยๆ และซับซ้อนขึ้นเรื่อย อย่างมาตรฐานบัญชีเขาก็จะไปลอกมาจากเมืองนอกก็จะช้ากว่าเมืองนอก 2-3 ปี เราเองก็ต้องมีความกระตือรือร้นในการเข้าไปอ่านมาตรฐานเมืองนอก เพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรจะถูกนำมาใช้ในเมืองไทยบ้าง

มาตรฐานอย่างเดียวก็ยังพอไหวแต่ว่าสรรพากรเองก็ออกกฎมาอีกมากมาย ซึ่งข้อมูลมันค่อนข้างเยอะมาก ในกรณีที่เกิดขึ้น บางทีเราอาจจะต้องไปดูว่ามีใครที่เคยมีปัญหาแบบนี้อีกบ้าง อาจจะโทรไปปรึกษา Call Center ปรึกษาสรรพากรที่ดูแลเรา กฎมันเยอะมาก เราจะต้องไปหาข้อมูลเพื่อที่เราจะได้ทำได้ถูก อย่างปีนี้ก็มีอีกแล้วเรื่อง Transfer Pricing เราก็ต้องคอยติดตาม เครียมตัวล่วงหน้า เมื่อบังคับใช้เราจะได้สามารถใช้ได้เลย เพราะฉนั้นพี่ว่าความท้าทายของสมัยนี้ก็คือเรื่องของกฎระเบียบ และจัดการข้อมูลเพื่อที่จะทำให้มันถูก

3. คุณค่าและผลตอบแทน

คุณค่า ผลตอบแทน ต่อตนเอง คนรอบข้างและสังคม

อย่างแรกเลยก็คงจะเป็นเงินก่อน ปกติเริ่มต้นเลยก็ประมาณ 20,000 บาท บวกลบแล้วแต่ที่ แต่ว่าปลายทางเป็นเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทเหมือนกัน บางทีอาจจะเป็นหลายแสนเลยก็ได้ถ้าขึ้นไปถึงระดับบนๆของบริษัท แต่มันก็ขึ้นอยู๋กับประเภทขององค์กรว่าเป็นที่มีต่างชาติมาลงทุนหรือเปล่า ยากในการทำงานไหม ยิ่งยากก็ยิ่งแพง ถ้าง่ายๆ ก็ไม่แพง อันนี้ความแตกต่าง มันก็จะกว้างมากในเรื่องของผลตอบแทน

และในฐานะของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การทำงบการเงินให้มันถูกต้อง ไม่มีนอกมีใน ข้อมูลแชร์ออกไปให้นักลงทุนได้ทำความเข้าในกับบริษัท มีข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจ อันนี้พี่ก็รู้สึกว่ามันก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างนึง เวลาพี่มีโอกาสได้ไปเจอนักลงทุน พี่ก็ยินดีอย่างยิ่งเลยที่จะแชร์ข้อมูลให้เขารู้เท่าๆ กับผู้บริหาร เพราะว่าก็ถือว่าเขาเอาเงินมาให้เราใช้ และทำให้บริษัทสามารถไปพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยพยายามที่จะช่วยให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เขาต้องการข้อมูลอะไรเราก็ให้การสนับสนุนไป

สิ่งที่ต้องสูญเสีย

แล้วแต่บริษัท บางบริษัทช่วงต้นเดือนอาจจะต้องทำโอที บางทีก็ถึงเที่ยงคืน แต่มันก็มีช่วงเวลาของมัน ถ้าไม่ใช่ช่วงนี้ก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสมาก อย่างน้อยก็ยังคาดการณ์ได้ไม่เหมือนพวกที่ทำ Investment Banking ที่ไม่สามารถบอกได้เลยว่าเย็นนี้นัดทานข้าวกับเพื่อนได้ไหม อย่างน้อยบัญชีก็นัดไม่ได้ในช่วงนี้แต่ช่วงอื่นก็อาจจะนัดได้

ความเสียสละอีกอันนึงในมุมมองของพี่ถ้าเป็นนักบัญชีก็คือเรื่องของการทำงานซ้ำๆ และเรื่องความละเอียดรอบคอบ มันอาจจะไม่ได้สนุก หวือหวาเหมือนการได้ไปเจอลูกค้าเหมือนแผนกงานอื่นๆ หรือว่าลักษณะงานเปลี่ยนไปเรื่อยๆ งานบัญชีถ้าเป็นพนักงานบัญชีมันจะทำเหมือนเดิมทุกๆ เดือน ถ้าคนที่ไม่ชอบการทำงานซ้ำๆ มันก็จะทรมานเหมือนกัน อันนี้พี่ก็มองว่าเป็นความเสียสละเหมือนกันนะเพราะพี่ไม่ค่อยชอบ แต่ถ้าคนที่เขาชอบทำงานที่ควบคุมได้ รู้ว่าทำได้ดีแน่นอนเขาก็อาจจะไม่เรียกว่าเสียสละก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนลักษณะไหน ก็จะมีอยู่สองอย่างนี้แหละที่พี่คิดว่ามันอาจจะต้องใช้ความอดทนบ้าง

4. ทักษะ ความรู้ ความสามารถ

พื้นฐานก็ต้องรู้ว่าลงบัญชีทำอย่างไร กฎระเบียบพื้นฐานก็ควรจะรู้ แต่ก็ไม่มีใครที่รู้ไปทุกอย่างภายในการเริ่มงานวันแรก สิ่งที่ควรจะมีจริงๆ ก็คือความขี้สงสัย ไม่ใช่ว่าพอมีรายการการซื้อขายที่แปลกๆมา ก็เดาๆ ลงไปแบบนี้แหละ ก็ต้องมีความขวนขวาย ในการที่จะไปหา ศึกษาต่อว่าแบบนี้ควรจะทำอย่างไร จริงๆ ความรู้มันก็มีอยู่ทั่วไป อาจจะถามเพื่อนๆ ที่อยู่บริษัทอื่นก็ได้ว่าแบบนี้ลงอย่างไร บางทีเราอาจจะไม่เคยเจอ พี่คิดว่าถ้าเลือกคนมาร่วมทีม พี่อยากได้คนที่ขี้สงสัย อยากเรียนรู้ ไม่นิ่งนอนใจ หรือว่ารู้แค่ไหนก็แค่นั้น

อีกข้อนึงที่อยากจะเสริมให้น้องๆ คือภาษาอังกฤษ ตอนนี้มีปัญหามากจากการที่ไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษกัน อย่างกฎต่างๆ เมืองไทยก็ลอกเมืองนอกมา ถ้าเรารู้ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมา พวกความรู้ที่เราจะไปขวนขวายมันก็จะมีวงกว้างขึ้นมากเลย เราก็จะสามารถไปเรียนรู้ก่อนที่จะมาปรับใช้ในเมืองไทย แต่ว่าตอนนี้หาคนที่รู้ภาษาอังกฤษมาเป็นพนักงานบัญชีไม่ค่อยจะมีเลย สิ่งนี้จะเป็นข้อดีในอนาคตของทุกคนเลย

ทักษะอื่นๆเพิ่มเติมที่มีแล้วจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก็น่าจะเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ จริงๆ มันก็ดีกับทุกอาชีพแหละเพราะว่าถ้าเราทำได้เราก็น่าจะทำได้ดีกว่าคนอื่น อย่างสมมติว่าเราปิดบัญชี ถ้าเราแค่ปิดบัญชีได้เฉยๆ เราก็อาจจะเป็นได้แค่นักบัญชีคนนึงที่ทำได้ แต่ถ้าเราทำได้มากกว่านั้นก็จะต่อยอด เราวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันบอกอะไรกับเรา เราจะบอกผู้บริหารได้ว่าตรงนี้ดีหรือไม่ดี ควรจะทำหรือไม่ทำอะไรต่อ อันนี้ก็เหมือนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง เราก็จะโดดเด่นกว่าคนอื่นถ้าเราวิเคราะห์ได้

5. เครื่องมือที่ใช้ในอาชีพนั้น

คอมพิวเตอร์สำคัญมาก เพราะอย่างที่บอก ระบบต่างๆมีหลายระบบ งานของพี่ส่วนใหญ่มันจะอยู่บนพวก Microsoft Excel ยังไม่เท่าไหร่ แต่พวกลูกน้องเขาก็ต้องมาเรียนรู้ระบบบัญชี ซึ่งมันก็ต้องใช้เยอะ มันก็จะแตกต่างกันไปในแค่ละโปรแกรม

องค์กรเล็กมากสุดๆ เลยใช้ Excel ก็ได้ ใช้ลงด้วยมือสมัยนี้พี่ไม่แน่ใจแต่คิดว่าไม่น่ามีแล้ว ซับซ้อนขึ้นไปก็จะเป็นระบบบัญชี Stand alone ของแผนกบัญชีนั้นๆ คอยรับจ่าย ตั้งหนี้ ตามหนี้ต่างๆไป ใหญ่ขึ้นมาอีกก็เป็น ERP คือเชื่อมกันหมดเลยทั้งองค์กร จะสั่งซื้ออะไร เบิกอะไร คือมันเชื่อมกันไปหมดเลย เป็นโลกเดียวกัน ทำอะไรที่ไหนอย่างไรก็จะเชื่อมกันหมดเลย อันนี้ก็จะต้องลงทุนหลายสิบล้าน แล้วก็จ้างมืออาชีพ และที่ปรึกษาเข้ามาในการทำสิ่งต่างๆ และเพื่อสอนในการใช้ด้วย ซึ้งก็แล้วแต่ว่าองค์กรใหญ่แค่ไหน ถ้าเป็นองค์กรใหญ่มากๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นแบบ ERP หมดแล้ว เพราะว่าถ้ามันเป็นแบบ Stand Alone แต่ละแผนกจะทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน

บทความโดย : www.a-chieve.org

 1164
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์