ค้นหากำไรจากการบริหารต้นทุนในคลังสินค้าของกิจการ (ตอนที่ 1)

ค้นหากำไรจากการบริหารต้นทุนในคลังสินค้าของกิจการ (ตอนที่ 1)

คลังสินค้ามีไว้เพื่อเก็บรักษาสินค้าของกิจการให้ปลอดภัย และพร้อมขายซึ่งบอกตรงนี้เลยว่า..วางสินค้าไว้เฉยๆ ในแต่ละวันมีต้นทุนเกิดขึ้นดังนั้นวันนี้จะมาให้ทุกคนทำความรู้จักว่า ต้นทุนของคลังสินค้าคำนวณเป็นตารางเมตรทำกันอย่างไร

ต้นทุนของคลังสินค้าประกอบด้วย

1. ตัวคลังสินค้ารวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียงที่ใช้งานถ้าสร้างเอง ต้นทุนจะอยู่ในรูปค่าเสื่อมราคา ให้คำนวณออกมาเป็นรายเดือนถ้าเช่า ต้นทุนจะอยู่ในรูปค่าเช่า

2. สินทรัพย์ถาวรที่ใช้งานในคลังสินค้าได้แก่ ชั้นวางสินค้า รถโฟล์คลิฟท์ รถลาก ตู้เก็บสินค้า เครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้ควบคุมสต็อก เป็นต้น รายจ่ายเหล่านี้จ่ายไปเพื่อใช้งานเกินกว่า 1 ปี และมีจำนวนเงินสูงรายจ่ายเหล่านี้ ต้นทุนจะอยู่ในรูปค่าเสื่อมราคา โดยให้คำนวณออกมาเป็นรายเดือน

3. เงินเดือนและค่าแรงจ้างคนงานที่ดูแลคลังสินค้าทั้งพนักงานประจำ หรือจ้างชั่วคราวในบางช่วงเวลา เพื่อนำมาทำงานจัดขนสินค้า

4. ค่าสาธารณูปโภคที่ใช้ในคลังสินค้าได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ที่ใช้ในงานคลังสินค้าถ้าแยกจากสำนักงานใหญ่ไม่ได้ชัดเจนต้องอาศัยการแบ่งสรรตามพื้นที่

5. ค่าซ่อมแซมคลังสินค้าและสินทรัพย์ถาวรที่เกี่ยวข้องเป็นค่าใช้จ่ายที่นานๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็ต้องรวมคำนวณเป็นต้นทุน เพราะเกี่ยวข้องกับการทำงานในคลังสินค้า

6. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในคลังสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุสำนักงาน ค่าบรรจุภัณฑ์ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในคลังสินค้า ที่ กล่าวมา 6 หัวข้อ เป็นค่าใช้จ่ายหลักๆ ปกติที่เกิดขึ้นกับกิจการที่มีคลังสินค้าโดยทั่วไป แต่บางธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่ายเฉพาะ แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับการทำงานในคลังสินค้า ก็ขอให้รวบรวมคำนวณเป็นต้นทุนของคลังสินค้า

ปัญหาของธุรกิจ SMEs ที่มักพบเป็นประจำคือ รวบรวมรายจ่าย และค่าใช้จ่ายไม่ครบถ้วน เพราะ ไปกังวลเรื่องของใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงิน จำไว้ว่าเงินในมือถ้าจ่ายไปเพื่อใช้ในการทำงานในคลังสินค้า แม้จะไม่มีใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษี ก็ถือว่าเป็นต้นทุนทั้งหมด ในแง่ของบัญชีบริหาร (เอกสารไม่ครบ ไม่มีจริงๆ จัดให้มีขึ้นมาได้นะ และถูกต้องตามประมวลรัษฎากรด้วย ไว้วันหลังจะเล่าให้ฟัง) เมื่อ จัดเก็บรายจ่าย และค่าใช้จ่ายมาครบถ้วน ซึ่งพยายามทำให้อยู่ในรูปรายเดือน จากนั้น นำพื้นที่การใช้งานในคลังสินค้าทั้งหมด มาหาร เพื่อคำนวณ เป็นต้นทุนคลังสินค้าแต่ละเดือน หน่วยเป็น บาทต่อตารางเมตร (เอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องในการจัดวางสินค้านะคะ อย่าไปเอาศาลพระภูมิ สวนพักผ่อนหลังโกดัง หรือที่จอดรถมานะ) เมื่อคำนวณทุกเดือน จะพบว่าแต่ละเดือนต้นทุนต่อตารางเมตรอาจไม่เท่ากัน (จะแยกต้นทุนให้ดูวันหลังว่าเป็นไง)

แต่วันนี้อยากชี้ให้เห็นว่า ทุก ตารางเมตร ในแต่ละเดือน มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เป็นต้นทุนอยู่ ดังนั้นสินค้าที่อยู่ในคลังนานๆ ไม่ก่อให้เกิดกำไร นี่ควรรีบจัดการออกไป หรือแม้กระทั่งนิสัยชอบเอาคลังสินค้าเป็นห้องเก็บของเก่า เอาคอมเก่าๆ มาวางทิ้งก็ควรเลิกทำ “คลังสินค้าไม่ใช่ห้องเก็บของมีต้นทุนเกิดขึ้นทุกวัน จงบริหารพื้นที่ในคลังให้เกิดกำไรกันเถอะ”

บทความโดย : http://thaiaccwriter.com

 1241
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์