5 ประเภทภาษีที่เจ้าของธุรกิจต้องจ่าย

5 ประเภทภาษีที่เจ้าของธุรกิจต้องจ่าย

     สวัสดีคร้าบ วันนี้เรามาพูดคุยในเรื่องของภาษีกันบ้างดีกว่า  หลายๆคนมักจะมีคำถามในใจว่าหลังจากเปิดบริษัทหรือจดทะเบียนทำธุรกิจต้องเสียภาษีอะไรบ้าง วันนี้เลยขอสรุปให้ฟังว่า ถ้าหากเราทำธุรกิจในรูปแบบของ "นิติบุคคล" เมื่อไร เราจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 เรื่อง ดังนี้ครับ  

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายภาษีอากรที่ชือว่า"ประมวลรัษฎากร"  ถ้าหากเราทำธุรกิจธรรมดาทั่วไปในรูปแบบของบริษัทฯหรือห้างหุ้นส่วน นั่นแปลว่ากิจการของเรานั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างแน่นอนครับ   โดยปัจจุบันผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฏากร ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   สำหรับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะมี 2 แบบ ก็คือ แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 สำหรับภาษีสำหรับรอบลบัญชีที่ต้องยื่นภายใน 150 วันหลังจากวันที่ปิดบัญชี และ แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 ที่ต้องยื่นภายใน 2 เดือนหลังจากรอบบัญชีครึ่งปีด้วยครับ  

2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั้นมีความหมายคือ "ภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า" หรือวิธีการจัดเก็บภาษีวิธีหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของเราต้องเสียภาษีไว้ล่วงหน้า โดยกฎหมายกำหนดให้คนที่จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษีไว้เมื่อมีการจ่าย ซึ่งเป็นไปตามประเภทของเงินได้และอัตราภาษีที่กำหนด   หรือพูดง่ายๆก็คือ ภาษีที่ถูก“หัก” ไว้ตั้งแต่ตอนผู้จ่าย “จ่าย” เงินได้ให้กับเรานั่นเองครับ แหม่ ช่างเป็นวิธีการเก็บภาษีที่รวดเร็วซะนี่กระไร คล้ายๆกับหลักการออมเงินที่ว่า “ออมก่อนใช้” แต่สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย คงต้องเรียกว่า “เก็บ ก่อน จ่าย”   โดยคนที่หักภาษีไว้นั้น ต้องนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 3 กรณีที่หักบุคคลธรรมดา และ ภ.ง.ด. 53 กรณีที่หักนิติบุคคล ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปด้วยนะครับ  

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้น จากคนทำธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการประเภทต่างๆ โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือ ผู้ประกอบการ และผู้นำเข้า ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิต ผู้ให้บริการผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก ส่งออก ผู้นำเข้า ซึ่งมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1,800,000 บาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม   ถ้าสังเกตให้ดีใน ทุกๆวันที่เรามีการใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ อย่างเพลิดเพลินไม่ว่าจะเป็นกิน เที่ยว เปรี้ยวซ่า ลัลล้าต่างๆ เมื่อเหลือบมองดู "บิล" หรือ “ใบเสร็จ” เราอาจจะเห็นคำว่า "ใบกำกับภาษี" ซึ่งมีตัวเลขบอกว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้น มี "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" อยู่ในนั้นกี่บาท เช่น ซื้อสินค้าในราคา 535 บาท เราจะเห็นตัวเลขค่าสินค้าราคา 500 บาทและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 35 บาท แบบนี้แหละคร้าบ   และสำหรับคนที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะต้องเสียภาษีชนิดนี้จากการซื้อขายหรือให้บริการ โดยต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป  

4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่ง ที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก เช่น กิจการธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่มีชื่อว่า ภ.ธ. 40 และในกรณีทั่วไปของธุรกิจ เมื่อมีการขายอสังหาริมทรัพย์หรือการให้กู้ยืมเงินจะเสียภาษีที่อัตรา 3.3% (รวมอัตราภาษีท้องถิ่น)  

5. อากรแสตมป์

อากรแสตมป์ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่ง แต่จะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยจะใช้การขีดฆ่าแสดงถึงการใช้แสตมป์ดังกล่าว ซึ่งผู้ที่จะขีดฆ่าได้ต้องเป็นไปตามกำหนดของประมวลรัษฎากร โดยคำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรหมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ หรือจะพูดง่ายๆก็คือ "สัญญา" นั่นแหละครับ เช่น ตราสาร (สัญญา) เช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน ฯลฯ  

บทความโดย: https://aommoney.com

 2068
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์