เงินสดเป็นเหมือนเส้นเลือดของกิจการ งบกระแสเงินสดจะเป็นตัวบอกว่าเงินไหลไปทางไหนบ้าง โดยงบกระแสเงินสดจะแบ่งเป็น 3 ส่วน
คือ 1.กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 2. กระแสเงินสดจากการลงทุน 3. กระแสเงินจากการจัดหาเงิน
เวลาอ่านควรให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ควรมีค่าเป็นบวกและใกล้เคียงกับกำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุน แสดงให้เห็นว่าบริษัทมี สภาพคล่องทำมาหากินแล้วมีเงินงอกจากการดำเนินงาน บริษัทสามารถนำเงินส่วนนี้สามารถนำไปลงทุน จ่ายดอกเบี้ย จ่ายเงินต้น และปันผลได้ ถ้าบริษัทที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมีค่าเป็นลบแสดงว่าเริ่มมีการขาดสภาพคล่อง แม้จะมีกำไรสุทธิในงบกำไรขาดทุนก็ตาม
ส่วนกระแสเงินสดจากการลงทุน (CFI) ควรมีค่าเป็นลบ แสดงถึงบริษัทมีการลงทุนขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบว่าลงทุนแล้วมีประสิทธิภาพให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ให้ดูที่ อัตราหมุนเวียนทรัพย์สิน และ ROA ควรมีค่าสม่ำเสมอ แสดงถึงเงินที่ลงทุนซื้อสินทรัพย์ไป สามารถสร้าง รายได้ และกำไรกลับมาให้ผู้ถือหุ้นได้
กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (CFF) ควรมีค่าเป็นลบเช่นกัน เพราะแสดงว่าบริษัทเอาเงินไปจ่ายหนี้เงินต้น หรือจ่ายปันผล ในการวิเคราะห์ว่าบริษัทมีการจัดหาเงินเหมาะสมหรือไม่ ดูจากส่วนหนี้สิน และ ROE ควรมีค่าสม่ำเสมอ
ในส่วนของการจ่ายเงินปันผล ให้ดูอัตราจ่ายปันผลเทียบกับกำไรมั่นคงต่อเนื่อง ถ้าบริษัทกำลังโต ไม่ควรจ่ายมาก ควรเอากำไรบางส่วนไปสร้างการเติบธุรกิจ โดยทฤษฎี g (Sustainable Growth) = ROE x ( 1 – Dividend Payout Ratio) กิจการที่จ่ายปันผลมากแสดงว่าอุตสาหกรรมเริ่มอิ่มตัว การเติบโตเริ่มลด เอาเงินมาปันผลให้ผู้ถือหุ้นไปทำอย่างอื่นดีกว่า
งบกระแสเงินสด ของ MINT
จากตัวอย่าง งบกระแสเงินสดของ MINT ที่น่าสนใจคือ งบ 6 เดือนแรก CFO ติดลบ ไปดูรายละเอียดเงินที่หายไป (ค่าลบ) มาจากเงินไปจมกับสินค้าคงเหลือ และเอาไปจ่ายเจ้าหนี้การค้า ทำให้สินค้าคงเหลือ และเจ้าหนี้การค้าเพิ่มขึ้นและลดลงตามลำดับ ผลกระทบที่เห็นในอัตราส่วนทางการเงินคือ จะเห็นระยะเวลาขายสินค้าเพิ่มขึ้น และระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้าลดลงมาก
ถ้าบอกว่าตุนของเยอะเพราะได้ของราคาถูก จ่ายเจ้าหนี้เร็วได้ส่วนลดเยอะ แสดงว่างวดต่อไปควรจะเห็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น ถ้าสินปีไม่ดีขึ้นเรามีปัญหากัน
บทความโดย : www.finnomena.com