วิธีคำนวณ จุดคุ้มทุน B.E.P. หรือ Break Even Point

วิธีคำนวณ จุดคุ้มทุน B.E.P. หรือ Break Even Point

        ในการทำธุรกิจ สิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือกว่าความอยากทำทั้งปวงคือการที่ธุรกิจประสบผลกำไร หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ขาดทุน และได้มากกว่าที่ลงทุนไป ปัญหาคือในการเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆนั้น ถ้ายังมีประสบการณ์ไม่มาก ผู้ประกอบการมักคาดการณ์ได้ลำบากว่า ธุรกิจที่ตนเองทำจะคุ้มทุนหรือไม่ และคืนทุนเมื่อไร กล่าวคือ ไม่ทราบว่าจะคิดคำนวณจุดคุ้มทุนออกมาอย่างไร และการใช้ความรู้สึกในการตอบคำถามนี้ ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นสักเท่าไร ดังนั้นการทำให้ออกมาเป็นตัวเลขจะช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้นเยอะ จากการตอบคำถามสองข้อด้านล่างนี้

          1. ต้องขายเท่าไหร่จึงจะคุ้มทุน? 
          คำตอบ: ปริมาณชิ้นของสินค้าที่ต้องขาย (จำนวนครั้งของบริการที่ต้องทำ)

          2. ต้องใช้เวลาแค่ไหนจึงจะคุ้มทุน? 
          คำตอบ: ระยะเวลาที่จะขายสินค้า(บริการ) ให้ได้เท่ากับจำนวนที่จะคุ้มทุน

แต่ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบมาเพื่อตอบคำถามทั้งสองข้อด้านบนยังมีตัวแปรที่เราต้องรู้จักเบื้องต้นสองตัว ได้แก่

          1. รายจ่ายทั้งหมด (Total Cost) คือ ต้นทุน ประกอบด้วยรายจ่ายคงที่ (Fix Cost) เช่น ค่าเช่าที่ และรายจ่ายแปรฝันต่อชิ้นสินค้า (Variable Cost) เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้าง ค่าไฟ เราจะหารเฉลี่ยออกมาเป็นต่อชิ้นสินค้า แล้วคูณด้วยจำนวนชิ้นที่ผลิต

          2. รายรับทั้งหมด (Total Revenue) คือ ปริมาณขาย (Quantity) คูณด้วยราคา (Price)

        สามารถอธิบายโดยใช้กราฟก็ได้ โดยความสัมพันธ์นี้จะเกี่ยวข้องกับกราฟเส้นตรงสองเส้น เส้นหนึ่งคือกราฟรายจ่าย ส่วนอีกสั้นหนึ่งคือกราฟรายรับ มาดูที่กราฟรายจ่ายก่อน เพราะทุกครั้งที่เริ่มต้นธุรกิจรายจ่ายเกิดขึ้นก่อนรายรับเสมอ จากกราฟจะประกอบไปด้วยแกนตั้งแสดงจำนวนเงิน ส่วนแกนนอนจะแสดงปริมาณสินค้า ความชันของกราฟเป็นบวกตรงตามหลักความจริงว่า ยิ่งเราผลิตสินค้ามากขึ้น รายจ่ายเราก็มากขึ้นไปด้วย 


       ส่วนอีกกราฟคือ กราฟรายรับ หลังจากเริ่มขายสินค้าและบริการ ธุรกิจจะมีรายรับเข้ามา กราฟจะมีสองแกนเช่นเดียวกับกราฟรายจ่ายคือแกนตั้งแสดงจำนวนเงิน และแกนนอนแสดงจำนวนชิ้นสินค้า กราฟของความชันเป็นบวกตามความเป็นจริงว่า ถ้าเราขายสินค้าได้มากขึ้น รายรับของเราก็มากขึ้นไปด้วย


แล้วจุดคุ้มทุนอยู่ที่ไหน? 
       จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าจุดคุ้มทุน หรือจุดคืนทุนคืออะไร จุดคุ้มทุนคือจุดที่คนทำธุรกิจเท่าทุน ซึ่งก็คือมีรายจ่ายเท่ากับรายรับ ไม่ขาดทุนในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กำไร เราสามารถหาจุดคุ้มทุนได้โดยการเอากราฟรายจ่ายกับกราฟรายรับมาซ้อนกัน ความชันของกราฟทั้งสองเส้นนั้นไม่เท่ากันเพราะเราต้องขายในราคาที่สูงกว่าต้นทุนเพื่อเอากำไรอยู่แล้ว ดังนั้นกราฟเส้นตรงทั้งสองเส้นจะมาตัดกันที่จุดๆหนึ่งซึ่งคือจุดคุ้มทุน (Break Even Point หรือ B.E.P. คือ จุดคุ้มทุน) คำตอบอยู่บนกราฟเลย แต่ถ้าไม่อยากวาดกราฟก็คำนวณหาได้ วิธีการนั้นไม่ซับซ้อน


หลักการคำนวณจุดคุ้มทุน (B.E.P.: Break Even Point)

          จุดคุ้มทุน คือ รายรับ = รายจ่าย
          รายรับ คือ ปริมาณขาย* x ราคา**

        *ต่อไปจะแทนปริมาณขาย ด้วยตัวย่อ Q
        **ต่อไปจะแทนราคา ด้วยตัวย่อ P

        รายจ่าย คือ รายจ่ายคงที่ + รายจ่ายแปรผันต่อชิ้นคูณจำนวนชิ้นสินค้าที่ผลิต

         ดังนั้นที่จะคุ้มทุนเมื่อ รายรับ = รายจ่าย

         จะมีวิธีการคำนวณดังนี้ QP = รายจ่ายคงที่ + รายจ่ายผันแปร

       จากสมการความสัมพันธ์ข้างบนนี้ จะมีข้อมูลที่เราต้องรู้แน่นอนอยู่แล้ว คือ รายจ่ายคงที่และรายจ่ายผันแปรต่อชิ้น เรายังแบ่งการคิดออกได้เป็น 2 กรณี ตามความต้องการรู้ของเราดังต่อไปนี้

        กรณีที่ 1 อยากรู้ว่าต้องขายกี่ชิ้นถึงจะคุ้มทุน ? 
          - กรณีนี้เราต้องมีราคาในใจแล้วว่าจะขายราคากี่บาท ต้องการหาปริมาณขาย
        กรณีที่ 2 อยากรู้ว่าต้องการขายชิ้นละราคาเท่าไรถึงจะคุ้มทุน ? 
          - กรณีนี้จะใช้เมื่อเรามีสินค้าอยู่ในมือจำนวนที่แน่นอน รู้แล้วว่ามีของอยู่กี่ชิ้น แล้วอยากทราบว่าจะขายชิ้นละเท่าไรถึงคุ้มทุน

มาดูตัวอย่างกันเลยดีกว่าเพื่อความเข้าใจ จริงๆแล้วเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนเลย ใช้วิธีการคิดแบบสมการหนึ่งตัวแปรง่ายมากๆ แต่บอกอะไรกับเราได้เยอะ ช่วยเราตัดสินใจได้มาก

ตัวอย่างที่ 1 ต้องขายกี่ชิ้นถึงจะคุ้มทุน ?

คุณจรวยทำกำไลแฮนด์เมดขายที่ตลาดนัด โดยมีค่าเช่าแผงวันละ 400 บาท มีค่าเดินทางอีกวันละ 80 บาท ค่าไฟวันละ 20 บาท ค่าวัสดุในการผลิตวงละ 40 บาท คุณจรวยจะขายกำไลขายวงละ 80 บาท อยากทราบว่าต้องขายกี่วงจึงจะคุ้มทุน จากข้อมูลด้านบนเราจะได้

          · รายจ่ายคงที่ คือ ค่าเช่าแผง ค่าเดินทาง ค่าไฟ =(400+80+20)=500 บาท
          · รายจ่ายแปรผัน คือ ค่าวัสดุในการผลิต = 40 บาทต่อชิ้น
          · ราคาขาย (P) คือ 80 บาทต่อชิ้น

จากสมการ QP = รายจ่ายคงที่ + รายจ่ายผันแปรต่อชิ้น
สามารถแทนค่าลงไปเพื่อหาจำนวนชิ้นที่จะคุ้มทุนได้เลย แทนค่าจะได้ดังนี้

          80Q = 500 + 40 (จำนวนชิ้น)

แก้สมการแล้วหาคำตอบได้ตามปกติ หรือถ้าไม่ถนัดแก้สมการเราสามารถจัดรูปสมการเพื่อหา Q “ปริมาณขาย” ได้เลยดังนี้

          Q = ต้นทุนคงที่ / (P – รายจ่ายผันแปร)
          แทนค่าจะได้ Q = 500 / (80 – 40)

ได้คำตอบเท่ากับ 12.5 ชิ้น (มีเศษให้เราปัดขึ้น) เพราะฉะนั้น คุณจรวยจะคุ้มทุนเมื่อขายกำไล 13 ชิ้นที่ราคา 80 บาทต่อชิ้น

ตัวอย่างที่ 2 ต้องขายในราคาเท่าไหร่จึงจะคุ้มทุน ?
คุณจรวยทำกำไลแฮนด์เมดขายที่ตลาดนัด โดยมีค่าเช่าแผงวันละ 400 บาท มีค่าเดินทางอีกวันละ 80 บาท ค่าไฟวันละ 20 บาท ค่าวัสดุในการผลิตวงละ 40 บาท คุณจรวยมีกำไลอยู่ 100 วง อยากทราบว่าต้องขายราคาวงละกี่บาทจึงจะคุ้มทุน ตัวอย่างนี้เรากำลังหา “ราคา” P

          · รายจ่ายคงที่ คือ ค่าเช่าแผง ค่าเดินทาง ค่าไฟ = (400+80+20)=500 บาท
          · รายจ่ายแปรผัน คือ ค่าวัสดุในการผลิต = 40 บาทต่อชิ้น
          · จำนวนสินค้าที่ต้องการขาย (Q) = 100 วง

จากสมการ ราคาขาย x จำนวนชิ้นสินค้า = รายจ่ายคงที่ + รายจ่ายผันแปรต่อชิ้น
สามารถแทนค่าลงไปเพื่อหาจำนวนชิ้นที่จะคุ้มทุนได้เลย แทนค่าจะได้ดังนี้

          P (100) = 500 + 40 (100)

แก้สมการแล้วหาคำตอบได้ตามปกติ หรือถ้าไม่ถนัดแก้สมการเราสามารถจัดรูปสมการเพื่อหา P “ราคาขาย” ได้ดังนี้

          P = {รายจ่ายคงที่ + (รายจ่ายผันแปร x Q)} / Q
          แทนค่าจะได้ P = {500 + 40(100)} / 100

คำนวณออกมาจะได้ 45 บาท เพราะฉะนั้นคุณจรวยจะคุ้มทุนเมื่อขายกำไลวงละ 45 บาทจำนวน 100 วง

เมื่อทราบจุดคุ้มทุนแล้ว เราจะประเมินความน่าลงทุนในธุรกิจได้ดังนี้

        ธุรกิจนั้นต้องขายมากแค่ไหนจึงจะคุ้มทุน เปรียบเทียบกับความยากง่ายในการขายด้วย ถ้าต้องขายมาก หรือเป็นสินค้าที่ขายยากต้องใช้เวลานานกว่าจะขายได้สักชิ้น หรือมีรายจ่ายที่สูงมากทำให้ได้กำไรน้อยและต้องผลิตที่ละมากๆ จึงจะได้กำไรก็อาจไม่น่าลงทุน ควรตระหนักว่าจุดคืนทุนนี้เป็นเพียงจุดที่เท่าทุนหรือเสมอตัวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อทราบจุดคุ้มทุนแล้ว ต้องขายสินค้าให้ได้มากกว่า หรือตั้งราคาให้สูงกว่าที่คำนวณได้เพื่อให้เกิดกำไร หรืออีกวิธีการหนึ่งคือลดรายจ่ายจากต้นทุนคงที่ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยตรง หรือลดรายจ่ายแปรผันลงก็ได้เช่นกัน ซึ่งในครั้งหน้าเราจะนำสูตรการคำนวณที่ประยุกต์มากขึ้นมานำเสนอ

บทความโดย: http://www.businessplus.co.th

 48185
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์