หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการเป็นบุคคลธรรมทั่วไป ประกอบสัมมาอาชีพปกติ ไม่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือกิจการใดๆ นั้นไม่จำเป็นจะต้องทำการเสียภาษี แต่เราขอบอกเลยว่าคุณคิดผิดค่ะ เพราะความจริงแล้วบุคคลธรรมดาก็มีหน้าที่เสียภาษี หากมีลักษณะตรงกับข้อกำหนดที่ข้อกฎหมายได้กำหนดไว้ แต่ข้อกำหนดในการจ่ายภาษีเงินได้จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี
– บุคคลธรรมดาที่มีแหล่งเงินได้ในไทย จากการทำงาน ประกอบกิจการ (ไม่จดทะเบียนบริษัท) หรือมีสินทรัพย์ในไทย และผู้มีแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ ที่มีลักษณะตรงกับข้อกำหนดทางกฎหมาย
– ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ที่มีเงินได้ตามข้อกำหนดกฎหมายที่ทางรัฐระบุเอาไว้
– ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ที่มีเงินได้ขั้นต่ำถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีคือ ผู้จัดการมรดก หรือทายาทของผู้ตาย
– กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ในปีภาษีถัดจากปีที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตาย หากมรดกยังไม่ได้ถูกแบ่ง และมรดกมีเงินได้ขั้นต่ำถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็ต้องเสียภาษี
– วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ข้อควรรู้โครงสร้างภาษี (ยื่นในช่วงต้นปี 2562)
– อัตราภาษีถูกปรับในช่วงอัตราร้อยละ 30 และอัตราภาษีร้อยละ 35
– คุณสามารถเพิ่มจำนวนการหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่ยอดรวมต้องไม่เกิน 100,000 บาท
– คุณสามารถทำการเพิ่มค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท / คน (ไม่จำกัดคน)
– กรณีที่สามี ภรรยามีเงินได้ทั้งคู่ สามารถทำการหักค่าลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
– กองมรดกสามารถทำการลดหย่อนได้เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาท