ออมอย่างไร ให้มีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต

ออมอย่างไร ให้มีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต

หากจะกล่าวว่า ‘เงินออม คือ จุดตั้งต้นของความสำเร็จทางการเงิน’ ก็คงจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงนัก เพราะหากเราได้ศึกษาชีวิตของเศรษฐีหรือคนที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน เกือบทุกคนมีพื้นฐานความร่ำรวยมาจาก ‘การประหยัด อดออม’ นั่นเอง

 

แล้วเงินออม หมายถึงอะไร

เงินออม หมายถึง เงินที่เก็บสะสม เพื่อให้พอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ ตามเวลา และควรเป็นเงินก้อนแรกที่หักออกจากรายได้ที่มีเข้ามาทันที ก่อนที่จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ (หรือเก็บก่อนใช้) ซึ่งสามารถแสดงสมการเงินออมได้ดังนี้

 

รายได้ - เงินออม = รายจ่าย

 

แม้ทุกคนจะรู้ว่าการออมเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จากสถิติการออมของคนไทยจะพบว่า ในปัจจุบันมีคนไทยร้อยละ 77.4 เท่านั้นที่มีการออมเงิน ในขณะที่อีกร้อยละ 22.6 ไม่มีเงินออม และเมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึก จะพบว่า รูปแบบการออมเงินของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของบัญชีฉุกเฉิน หรือบัญชีเงินเก็บระยะสั้น มากกว่าการออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณ ซึ่งจากผลสำรวจของนิด้าโพลพบว่าจุดมุ่งหมายของการออมเงินของคนไทย คือ

ใช้ในยามฉุกเฉิน  41.35%

เพื่อการศึกษาบุตร  26.08%

เพื่อการเกษียณอายุ  23.81%

ซื้อบ้านและรถ  6.50%

การศึกษาของตนเอง  2.26%

นอกจากนี้เมื่อถามถึงระยะเวลาที่สามารถออมเงินได้ พบว่าสามารถออมเงินได้

มากกว่า 5 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี  44.74%

ระหว่าง 1 – 5 ปี  32.23%

น้อยกว่า 1 ปี  11.85%

มากกว่า 10 ปี  11.18%

เท่ากับว่าเรานิยมออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นและระยะปานกลางเท่านั้น ยังไม่ตระหนักและให้ความสำคัญในการออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว นั่นก็คือ เป้าหมายเพื่อการเกษียณอายุ ซึ่งน่าเป็นห่วงมากจริงๆ ที่คนยังไม่ตระหนักว่า หากไม่รีบวางแผนเกษียณอายุให้เร็วที่สุด โอกาสที่เราจะไม่สามารถเกษียณอายุได้ยิ่งมีมากเท่านั้น

 

แล้วยิ่งเมื่อเทียบเงินออมเพื่อการเกษียณอายุต่อ GDP ของเรากับประเทศอื่นๆ ก็จะยิ่งเห็นว่าเรามีการออมเพื่อเกษียณอายุที่น้อยมากจริงๆ

นอกจากนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีการบริหารเงินออม โดยพบว่าคนส่วนใหญ่จะนำเงินออมไปฝากไว้ในบัญชี หรือผลิตภัณฑ์การเงินที่ไม่ได้ทำให้เงินออมนั้นงอกเงย

แน่นอนว่า ‘การออม เป็นจุดตั้งต้นของความสำเร็จทางการเงิน’ แต่ยุคนี้ สมัยนี้ แค่ออมเงินอย่างเดียว ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เราต้องรู้จักบริหารให้เงินออมงอกเงยด้วย

เคล็ดลับบริหารเงินให้งอกเงย คือ ออมให้มาก อย่างน้อยให้ได้ 20 - 30% ของรายได้ กันเงินออกมาเพื่อเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน มีการบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันอย่างเหมาะสม เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเป็นตัวการทำลายเงินออม และนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยผ่านการลงทุนหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ การลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าลืมลงทุนในการเพิ่มพูนความรู้ของตัวเองด้วย เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง สิ่งที่เสี่ยงกว่าคือการที่เราไม่เริ่มลงทุน แต่สิ่งที่เสี่ยงที่สุด คือการลงทุนในสิ่งที่เราไม่มีความรู้

ขอยกตัวอย่างวิธีการออม ให้มีกินมีใช้ตลอดชีวิต สมมติคุณมีเงินเดือน 25,000 บาท คุณควรจัดสรรเงินของคุณดังนี้

  • เก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1,250 บาท / เดือน
  • ฝากระยะสั้นหรือกองทุนรวมตลาดเงิน 2,500 บาท / เดือน 
  • กันไว้จ่ายประกันชีวิตรายปี 1,250  บาท / เดือน
  • ซื้อกองทุนรวม 3,750 บาท / เดือน  (หากมีการเสียภาษีแนะนำให้ซื้อ LTF และ RMF)
  • จับจ่ายใช้สอย 16,250 บาท / เดือน

บทความโดย:นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์

 985
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores