4 เรื่องพื้นฐานที่เรามักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงทุน

4 เรื่องพื้นฐานที่เรามักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงทุน

ในความคิดของผม เรื่องการลงทุนไม่มีถูกผิดทั้งหมด 100% เพราะอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมักจะมีเรื่องทัศนคติส่วนบุคคลและความคิดเห็นของคนหมู่มากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ

แต่จะมีความเข้าใจบางอย่างที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ แน่นอนว่ามันไม่ใช่ความผิดที่ทำเป็นเรื่องใหญ่โต หรือความผิดที่ไม่ควรทำ เพราะในความเข้าใจเรื่องการลงทุนต่างๆ ยังมีบางมุมที่เราเข้าใจมันไม่ดีพอแอบซ่อนอยู่ในนั้น

ปั้นเงินจะพาไปดูว่ามีความเข้าใจผิดแบบไหนบ้างที่เราสามารถพบเจอได้ในโลกของการลงทุน

1. หุ้น / กองทุนรวม ที่ราคาน้อยกว่าแปลว่ามันถูกกว่า

อันนี้คือเรื่องที่นักลงทุนเข้าใจผิดและเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าเช่น หุ้น ก. ราคา 8 บาท ถูกกว่าหุ้น ข. ราคา 25 บาท

ในความเป็นจริงการเข้าลงทุนซื้อหุ้นจะดูที่ราคาหุ้นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่แสดงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้นออกมา

การประเมินมูลค่าว่าหุ้นนั้นจะมีราคาถูกหรือแพงสามารถคำนวนได้หลายวิธีเช่น PER P/BV SOTP หรือ DCF เป็นต้น (ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ต้องไปศึกษาวิธีการอย่างละเอียดกันเองนะ)

สมมติว่าเราประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ก. ออกมาได้ที่ 6 บาท หุ้น ข. 32 บาท นั่นแปลว่าในตอนนี้หุ้น ก. กำลังซื้อขายแพงกว่ามูลค่าที่แท้จริง หุ้น ก. จึงดูแพงกว่าหุ้น ข. ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงทันที

ซึ่งผลลัพธ์ของการประเมินมูลค่า แต่ละคนอาจจะออกมาไม่เท่ากันบางครั้งเราจึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าใครถูกหรือใครผิด เพราะของแบบนี้มันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

2. ซื้อหุ้น/กองทุนที่มีเงินปันผล ดีกว่าไปซื้อตัวที่ไม่มีเงินปันผล

เงินปันผลเปรียบได้เหมือนน้ำผึ้งหอมหวานที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นหรือกองทุน เงินปันผลก็เหมือนสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความสามารถของบริษัทได้

ทำให้เราเข้าใจกันไปเองว่าซื้อหุ้นที่มีปันผลนั้นต้องดีกว่าแน่นอน

ต้องบอกก่อนว่าหุ้นปันผลไม่ได้เป็นหุ้นที่ดี 100% บางครั้งหุ้นที่ประกาศปันผลได้อาจจะมาจากกำไรสะสมก้อนสุดท้ายเพราะปีนี้บริษัทกำลังจะขาดทุน..หุ้นปันผลบางตัวอาจจะอยู่ในวัฐจักรขาลง และมีโอกาสที่จะไม่จ่ายปันผลอีกต่อไป

ในขณะที่หุ้นบางตัวไม่นำกำไรมาจ่ายปันผลก็เพราะต้องการเก็บเงินสดไว้สำหรับการขยายกิจการ บางทีการทำอย่างนั้นอาจจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ และจะทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตาม ซึ่งก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าการปันผลของหุ้นปกติ

อย่าลืมตรวจสอบคุณภาพของกิจการและวัฐจักรธุรกิจก่อนซื้อหุ้นหรือกองทุนกันด้วยล่ะ

3. ซื้อกองทุนออกใหม่/หุ้น IPO ดีกว่าลงทุนในของเก่าๆ

หลายคนชอบลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม IPO เพราะคิดว่าเราได้เปรียบในการซื้อหุ้น/กองทุนที่เพิ่งเข้าตลาด ยังไงๆในอนาคตหุ้นก็ต้องขึ้นสูงกว่าราคา IPO แน่นอนอยู่แล้ว

ข้อนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะเรามักจะเห็นว่าในช่วงแรกหรือวันแรกที่หุ้นเข้าตลาดจะมีการทำราคาซื้อขายสูงกว่าราคา IPO

เพราะแน่นอนว่ามีคนคิดเหมือนกัน ถ้าซื้อตอนนี้ยังไงราคาก็ต้องขึ้นในอนาคต บางตัวเป็นอย่างที่คิด บางตัวก็ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นานมันก็โดนเทขายออกมาจนเหลือราคาต่ำกว่าราคา IPO

แต่ถึงกระนั้นก็มีหุ้นอีกหลายตัวที่เข้าตลาดหุ้นมาวันแรกแล้วซื้อขายต่ำกว่าราคา IPO

นั่นหมายความว่าหุ้น/กองทุนรวมที่เข้าตลาดมาใหม่ ไม่ใช่หุ้นที่ดีและไม่ใช่โอกาสลงทุนอย่างที่หลายคนเข้าใจ 100%

ดังนั้นก่อนจะลงทุนกับของใหม่ เราควรศึกษาข้องมูลทุกอย่างเกี่ยวกับมันให้ละเอียดและครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งผลประกอบการในอดีต โอกาสในการเติบโต และความมั่นคงของกิจการ เป็นต้น และอย่าคาดหวังกับ IPO มากจนเกินไป

 

4. ลงทุนในหุ้นระยะยาวยังไงก็ได้กำไรแน่นอน 100%

เราอาจจะได้ยินบ่อยครั้งว่าการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น ถ้าเป็นการลงทุนระยะยาวมากกว่า 10 ปีแล้วจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเป็นบวกซึ่งมากกว่าผลตอบแทนจากสินทรัพย์อื่น

ซึ่งปั้นเงินก็เคยพูดถึงการลงทุนในหุ้นลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง

แน่นอนว่าไม่มีการลงทุนชนิดใดที่ไม่มีความเสี่ยง แม้แต่เงินฝากธนาคารที่ปัจจุบันคุ้มครองวงเงินต้นแค่ 1 ล้านบาทแรกเท่านั้น นั่นหมายความว่าทุกสินทรัพย์มีความเสี่ยงอยู่เสมอต่อให้เป็นระยะสั้นหรือระยะยาว

การลงทุนในหุ้นแบบระยะยาวต้องใช้คำว่า “มีโอกาสสูง” ที่ผลตอบแทนเฉลี่ยจะเป็นบวก และปิดโอกาสการขาดทุนได้ดีกว่าสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ

แต่ก็ไม่การันตีเหมือนกันว่ามันจะทำได้ตามที่คาดหวังอย่าง “แน่นอน”

ยิ่งถ้าใครบอกว่าลงทุนหุ้นระยะยาวหรือกองทุนดัชนียังไงก็ได้ผลตอบแทน 8-10% อันนี้ก็ไม่ใช่ FACT ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน 100% แค่มีโอกาสสูงที่จะเป็นไปได้


ที่จริงแล้ว 4 เรื่องนี้ไม่ใช่ความเข้าใจผิดทั้งหมด แต่เป็นแค่เรื่องพื้นฐานที่หลายคนมักจะเข้าใจผิด

ยังมีอีกหลายเรื่องเลยแหละที่นักลงทุนยังคิดว่าสิ่งที่เชื่อคือ FACT ทั้งหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในโลกของการลงทุนไม่มีทางที่ข้อมูลทุกอย่างจะถูกต้อง 100%

บทความโดย:aommoney.com

 819
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores