4 อันดับ โรคร้ายทางการเงิน

4 อันดับ โรคร้ายทางการเงิน

ทุกวันนี้ นอกจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังมีอีกโรคที่กำลังระบาดไปทั่ว ทั้งที่คนนั้นอาจจะตั้งใจเป็นหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเป็นแล้ว หากไม่รีบทำการรักษา เชื้อร้ายจะเกาะกินเราไปตลอดชีวิต

1. โรคทรัพย์จาง

อาการ

นี่คือไข้หวัดแห่งวงการการเงิน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีอาการหน้ามืด อ่อนเพลีย เนื่องจากร่างกายขาดวิตามิน M (Money) พูดง่าย ๆ คือ “เงินน่ะมี แต่น้อย” พบได้ทั่วไปในกลุ่มวัยทำงาน และมีการระบาดหนักในช่วงกลางเดือนไปถึงสิ้นเดือน และอาการมักจะหายไปในช่วงเงินเดือนออก

 

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรักษาตามอาการ ไม่ใส่ใจที่จะรักษาให้หายขาด ซึ่งการจะรักษาให้หายขาดนั้น จำเป็นต้องวางแผนการใช้จ่ายใหม่ บริโภคให้น้อยกว่ารายจ่าย และเมื่อมีรายรับ ให้รีบหักไว้ออมก่อนทันที เพราะถ้าไปรอออมตอนสิ้นเดือนก็มักจะไม่มีเหลือมาให้ออมสักที

 

2. โรคความต้องการในโลหิตสูง (แต่เงินในกระเป๋าต่ำ)

อาการ

โรคนี้เกิดจาก Lifestyle ของตัวผู้ป่วย และอาจส่งต่อกันทางกรรมพันธุ์ด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักมีความต้องการที่จะบริโภคสิ่งต่างๆ สูง ไม่ว่าจะถูกหรือแพง สวนทางกับจำนวนเงินในกระเป๋า ที่ไม่ได้มีมากพอที่จะจ่ายทุกอย่างที่ตนเองต้องการ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะมีอาการลุกลามไปยังโรคทรัพย์จาง ชักหน้าไม่ถึงหลัง และโรคปวดเกษียณด้วย

 

การรักษา

แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่ายเงินของตัวเอง ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเริ่มการวางแผนออมเงินอย่างเป็นระบบ หากต้องการซื้อสิ่งไหนให้ใช้การวางแผนออมเงินและลงทุนมาช่วยในการเก็บเงินซื้อของสิ่งนั้น รวมถึงแบ่งเงินไปลงทุนหรือกันเงินไว้ใช้สำรองฉุกเฉินบ้าง

 

3. โรคหมดไหลย้อน

อาการ

โรคนี้มักเกิดจากการป่วยเป็นโรคทรัพย์จางก่อน และเมื่อไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจึงมีอาการของโรคหมดไหลย้อนตามมา โดยอาการที่ว่า คือ ตัวผู้ป่วยมีเงินในกระเป๋าต่ำ จึงหาทางออกโดยการหยิบยืมเพื่อนฝูง ลามไปหาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เกิดเป็นที่มาของโรค “หมดไหลย้อน” คือตัวเองไม่ได้หมดคนเดียว แต่ไปทำให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้องหมดตามไปด้วย

การรักษา

ผู้ป่วยมักจะมีเหตุผลในการเป็นโรคนี้ว่า “ช่วงนี้ช็อต เตรียมเงินไม่ทัน มีเรื่องเดือดร้อน ขอมาหมุนก่อน เดี๋ยวเดือนหน้าเอามาคืน” แม้บางครั้งจะรู้ว่าไม่เป็นความจริง แต่ก็หลวมตัวเป็นเจ้าหนี้อยู่บ่อยครั้ง การรักษาจึงต้องเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย ลดการใช้จ่ายในรายการที่ไม่จำเป็น หรือถ้าช็อตบ่อยจริงๆ ก็ควรเตรียมเงินสำรองเผื่อไว้เลย หากรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากจะมีเงินในกระเป๋า ยังเป็นการรักษามิตรภาพระหว่างกันไว้ด้วย

 

4. โรคปวดเกษียณ

อาการ

นี่คือเนื้อร้ายแห่งวงการการเงิน ความรุนแรงของโรคสูง หากปล่อยปะละเลยจนมีอาการเรื้อรัง จะทำให้รักษายากมากๆ และเริ่มระบาดในกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 40+ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว หน้ามืด เครียด เนื่องจากรู้ตัวว่าเงินที่มีไม่พอจะเลี้ยงตัวเองตอนเกษียณ ครั้นจะไปพึ่งพาลูกหลานก็ลำบาก (เพราะลูกหลานก็ไม่ไหวเหมือนกัน) โดยจากผลสำรวจพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักเคยป่วยเป็นโรคทรัพย์จางมาก่อน

การรักษา

ไม่มี

การป้องกัน / ทุเลาโรค

สำหรับคนวัย 40+ ที่เริ่มรู้สึกว่าป่วยเป็นโรคปวดเกษียณแล้ว แนะนำว่าให้รีบปรึกษานักวางแผนการเงิน หาแนวทางในการออมเงินและเริ่มลงมือวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง หากยังไม่เคยออมเงินก็ต้องเข้าโหมดรัดเข็มขัด ก่อนที่จะสายเกินไป

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นสัญญาณการป่วยเป็นโรคนี้น้อยลงในกลุ่มคนที่มีการวางแผนออมเงินตั้งแต่อายุ 30+ โดยหากเริ่มออมเงินเร็ว เตรียมพร้อมเรื่องเกษียณเร็ว ยิ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้น้อย

 

บทความโดย:ปริพรรห์ ปริยอุดมทรัพย์

 948
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores