เชื่อว่าผู้ลงทุนหลาย ๆ ท่านที่พอคุ้นเคยกับการลงทุนในกองทุนรวม คงจะเคยเห็นคำว่า “ Benchmark “ หรือที่เรียกว่า “เกณฑ์มาตรฐาน” อยู่บ่อยครั้งเมื่อมีการพูดถึงผลการดำเนินงานของกองทุนรวม อีกทั้ง Benchmark ที่แสดงไว้นั้นก็มีอยู่หลายตัวทีเดียว แต่คุณ ๆ เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว Benchmark ที่พูดถึงอยู่นี้คืออะไร แล้วทำไมถึงต้องใช้ Benchmark เหล่านี้ด้วย และที่สำคัญ Benchmark เหล่านี้บอกอะไรกับเราบ้างในฐานะผู้ลงทุน
Benchmark คืออะไร?
“ Benchmark “ คือ เกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ต้องกำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้ก็เนื่องจากเวลาที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ( บลจ. ) แสดงผลการดำเนินงานของกองทุนรวม บลจ. ก็อยากให้ผู้ลงทุนทราบว่า ผลงานที่ บลจ. ทำได้ในงวดนั้น ๆ มันดีหรือไม่อย่างไร ซึ่งการที่จะบอกได้นั้นก็ต้องมีเกณฑ์มาตรฐานมาเป็นตัวเปรียบเทียบ ดังนั้น Benchmark จึงเปรียบได้กับค่าเฉลี่ยของตลาด ซึ่งหากกองทุนรวมได้ผลตอบแทนสูงกว่า Benchmark แล้ว ก็หมายความว่า บลจ. นั้นบริหารกองทุนรวมได้ดี และผลตอบแทนของกองทุนรวมนั้นชนะตลาดนั่นเอง
Benchmark ที่ใช้ในการเปรียบเทียบจึงเป็นดัชนีที่ชี้ให้ผู้ลงทุนได้ทราบว่า
จะรู้ได้อย่างไร ว่า Benchmark ตัวไหนที่เหมาะสม?
เนื่องจากกองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย Benchmark ที่จะใช้ว่า บลจ. บริหารกองทุนรวมได้ดีหรือไม่ จึงมีอยู่หลายตัว แตกต่างกันไปตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนรวม อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนหลายๆ คนคงมีคำถามอยู่ในใจว่า “ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า Benchmark ตัวไหนที่เหมาะสม ? “
หลักสำคัญ ในการเลือก Benchmark ที่เหมาะสม คือ Benchmark ที่จะนำมาใช้เปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในแต่ละนโยบายการลงทุนนั้น ต้องมีลักษณะการลงทุน (หลักทรัพย์ที่ลงทุน + ระยะเวลาการลงทุน) และระดับความเสี่ยงที่สอดคล้องกับกองทุนรวมในแต่ละนโยบายการลงทุนนั้น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น
หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ Benchmark ที่ใช้กัน คือ Zero Rate Return ( ZRR) Bond Index โดยจะเลือก ZRR Index ในระยะเวลาที่สอดคล้องกันกับระยะเวลาการลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้นั้น ๆ เช่น กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวประมาณ 3 ปี Benchmark ที่เหมาะสม คือ ZRR Index – 3 year
กองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย Benchmark ที่เหมาะสมจึงควรเป็น Bond Index ของประเทศในเอเชีย เช่น JP Morgan Asia Credit Index ( JACI )
กองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก Benchmark ที่เหมาะสมควรเป็น MSCI World Index
การกำหนด Benchmark ที่ใช้สำหรับการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมนี้ บลจ. จะระบุ Benchmark ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวนเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบด้วย
สุดท้ายนี้ อยากจะฝากถึงคุณ ๆ ผู้ลงทุนไว้ว่า ในฐานะเจ้าของเงินลงทุนต้องไม่ลืมหน้าที่ในการติดตามผลการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งนอกจากจะพิจารณาถึงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ( NAV ) แล้ว ก็อย่าลืมพิจารณาถึงผลการดำเนินงานของกองทุนรวมเมื่อเทียบกับ Benchmark ในแต่ละรอบระยะเวลาแสดงผลการดำเนินงานของกองทุนรวมด้วยนะคะ
บทความโดย: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย