ธุรกิจไม่เจอทางตัน เมื่อรู้ทันต้นทุนทางการเงิน

ธุรกิจไม่เจอทางตัน เมื่อรู้ทันต้นทุนทางการเงิน

Highlight: งินทุนคือสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ แต่ถ้าเมื่อเงินทุนที่มีไม่เพียงพอกับการดำเนินงาน ก็ต้องพึงพาแหล่งทุนภายนอก อย่าง สถาบันการเงิน ดังนั้นไม่ว่าจะค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืม เพื่อนำเงินกู้มาใช้ในการดำเนินงานล้วนเป็น “ต้นทุนทางการเงิน” ที่ผู้ประกอบการต้องรู้และวางแผนบริหารจัดการให้ดี

ในการดำเนินธุรกิจของคุณ “เงินทุน” เป็นสิ่งจำเป็นแรกๆ ที่ต้องมีไว้ใช้ในการลงทุนเริ่มแรก หรือหมุนเวียนในกิจการเมื่อเริ่มเปิดดำเนินงาน แต่หาก “เงินทุน” ที่คุณมีไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นแหล่งในการจัดหาเงินทุนภายนอกที่สำคัญได้ และนั่นคงไม่พ้นเรื่องของค่าใช้จ่ายและภาระดอกเบี้ยที่อาจตามมาได้ในที่สุดเมื่อมีการกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนภายนอกหรือสถาบันการเงินเหล่านี้


ตามความหมายของรายการย่อในงบการเงิน ที่แนบท้ายคำชี้แจงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ.2551 ได้ให้ความหมายของต้นทุนทางการเงินว่า หมายถึง...


“ต้นทุนทางการเงิน คือ ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการก่อหนี้สินของกิจการ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมธนาคารที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยที่เกิดจากสัญญาเช่าการเงิน เป็นต้น”


ดังนั้น จากความหมายข้างต้น ทำให้ “ต้นทุนทางการเงิน” ของกิจการ อาจไม่ได้หมายความถึง

- ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการเช่าซื้อรถยนต์ส่วนตัวของกรรมการบริษัท

- ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยของผู้บริหาร

- ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อเรื่องส่วนตัวต่างๆ ของบุคคลในธุรกิจ


ส่วนกรณีที่ “ดอกเบี้ยที่เกิดจากสัญญาเช่าการเงิน” ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทางการเงินนั้น มีสิ่งที่น่าสนใจและต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็คือเรื่องของ “สัญญาเช่าการเงิน” ว่า จะต้องมีลักษณะแบบใดถึงเข้าหลักเกณฑ์นั้นสามารถอธิบายลักษณะสำคัญของสัญญาเช่าดังกล่าวได้ดังนี้     สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 17 (ปรับปรุง 2552) ได้ให้ความหมายของสัญญาเช่าการเงินไว้ว่า เป็นสัญญาที่โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ไปให้แก่ผู้เช่า โดย


1. เป็นสัญญาเช่าระยะยาว ที่ผู้เช่ามีฐานะเป็นเสมือนเจ้าของสินทรัพย์


2. มีการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ผู้เป็นเจ้าของพึงได้รับจากทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่า


3. เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังคงเป็นของผู้ให้เช่า ผู้เช่าเลือกซื้อสินทรัพย์ที่เช่านั้นหรือไม่ก็ได้ ในการเลือกซื้อ ราคาที่จะซื้อมักต่ำกว่าราคายุติธรรมของสินทรัพย์นั้น ณ วันที่สิทธิการเลือกซื้อมีผลบังคับใช้ ในกรณีที่ไม่เลือกซื้อสินทรัพย์นั้น ผู้เช่าจะต้องส่งมอบสินทรัพย์นั้นคืนแก่ผู้ให้เช่า ในกรณีที่เป็นการเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์จะตกเป็นของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อตามเงื่อนไขทุกประการ


4. โดยทั่วไปสัญญาเช่ามักจะให้ผู้เช่าประกันความเสียหาย และผู้เช่าจะต้องเสียค่าบำรุงสินทรัพย์ที่เช่าเอง ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าไม่ได้


 
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาเช่าอีกประเภทที่อาจคล้ายกันในบางกรณีแต่กลับไม่ถือเป็น “สัญญาเช่าการเงิน” แต่เราเรียกว่า “สัญญาเช่าดำเนินงาน” ซึ่งมีลักษณะสำคัญ ดังนี้


สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) หมายถึง สัญญาเช่าที่ไม่ใช่สัญญาเช่าการเงินหรืออีกนัยหนึ่ง สัญญาเช่าดำเนินงานคือ สัญญาเช่าที่ไม่ได้มีการโอนความเสี่ยง และผลตอบแทนทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดที่เป็นเจ้าของพึงได้รับจากสินทรัพย์ให้แก่ผู้เช่า แสดงว่า ผู้เช่าย่อมไม่ใช่เจ้าของสินทรัพย์ที่เช่านั้น ดังนั้น เนื้อหาของสัญญาเช่าดำเนินงานคือ การเช่าขณะที่เนื้อหาของสัญญาเช่าการเงินคือ การซื้อสินทรัพย์ จากความหมายของสัญญาเช่าดำเนินงาน สามารถสรุปลักษณะสัญญาของสัญญาเช่าดำเนินงานได้ดังนี้


1. เป็นสัญญาเช่าที่ผู้เช่าไม่ได้มุ่งหวังจะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์เหนือสินทรัพย์นั้น


2. อายุของสัญญาเช่ามักจะสั้นกว่าอายุการให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าอาจจะนำสินทรัพย์นั้นไปให้ผู้อื่นเช่าต่อได้อีก


3. ในการบำรุงรักษาสินทรัพย์ที่เช่า หรือการซ่อมแซมสินทรัพย์ที่เช่า เป็นความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า


4. ผู้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญานั้นก่อนกำหนดได้หากเห็นว่าสินทรัพย์ที่เช่านั้นหมดประโยชน์ลง

 

ฉะนั้นเมื่อสามารถแบ่งประเภทของสัญญาเช่าได้อย่างชัดเจนแล้วก็จะทราบได้ว่า “ดอกเบี้ย” ที่เกิดขึ้นจัดเป็นต้นทุนทางการเงินได้หรือไม่?


ส่วนเรื่องของค่าธรรมเนียมธนาคารที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน ที่ถือเป็นต้นทุนทางการเงิน อาจหมายถึง

- ค่าธรรมเนียมในการจัดการวงเงินกู้

- ค่าธรรมเนียมในการประเมินวงเงินกู้

- ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินกู้ยืมนั้นๆ


ทั้ง “ค่าธรรมเนียมธนาคาร” และ “ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืม” เพื่อนำเงินกู้มาใช้ในการดำเนินงานถือเป็น “ต้นทุนทางการเงิน” ด้วยกันหมดทั้งสิ้น และกิจการต้องบันทึกในบัญชี ค่าใช้จ่ายของกิจการที่สามารถหักได้จากรายได้เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิและภาษีในที่สุด


คิดแบบคนรวย...คิดแบบบัญชี

https://businesslinx.globallinker.com

 899
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores