4 กุญแจสำคัญในการลงทุนใน P2B Lending

4 กุญแจสำคัญในการลงทุนใน P2B Lending

เทคโนโลยี (Technology) และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet networking) นอกจากจะช่วยให้ชีวิตประจำวันของสังคมง่ายขึ้นแล้ว อินเตอร์เน็ตยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Business opportunities) และการลงทุน (Investment)ให้มีความหลากหลายมากขึ้นจากอดีต และช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกให้เติบโตก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกด้วย

การลงทุนบนแพลตฟอร์ม Peer to Business Lending หรือ P2B เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นมาในหลายประเทศภายหลังจากที่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมีการพัฒนามากขึ้น เป็นเรื่องที่นักลงทุนรายย่อยในประเทศไทยกำลังจับตามอง เพราะประเทศไทยเองก็กำลังจะออกกฎหมายการกู้ยืมเงินในลักษณะนี้เข้ามารองรับการลงทุนรูปแบบใหม่ในอีกไม่ช้า

Peer to Business Lending (P2B) เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการขยับขยายธุรกิจ และนักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนที่ดีกว่าท้องตลาด ได้มีโอกาสในการลงทุนที่มากขึ้น แน่นอนว่าการลงทุนในรูปแบบนี้แม้จะอยู่ในแนวคิดแบบเดิมคือการปล่อยเงินกู้สินเชื่อให้แก่ธุรกิจ ที่นักลงทุนบางคนอาจจะเคยหยิบยืมเงินทุนให้คนใกล้ชิด หรือแม้แต่การเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากในสถาบันการเงินต่างๆ และสถาบันการเงินนั้นๆ นำเงินไปบริหารจัดการต่อโดยการนำไปให้สินเชื่อ แต่ก็ต้องยอมรับว่า Model การกู้ยืมเงินที่ทำผ่านเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ตทั้งหมด ยังเป็นรูปแบบที่ใหม่อยู่สำหรับคนไทย และก่อนที่จะมีกฎหมายเข้ามารองรับการลงทุนรูปแบบนี้ในประเทศไทย มี 4 เรื่องสำคัญที่นักลงทุนไทยต้องทำความเข้าใจเพื่อความปลอดภัยของเงินลงทุน และผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวัง

1.  รูปแบบผลตอบแทนของการลงทุน

การลงทุนแบบ P2B นักลงทุนจะมีบทบาทการเป็นผู้ให้กู้ยืม (Loaner) นำเงินออมของตนเองเข้าสู่แพลตฟอร์ม P2B ซึ่งภายในแพลตฟอร์มจะมีธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ผ่านการตรวจสอบและผ่านการคัดเลือกมาแล้ว ให้นักลงทุนสามารถเลือกธุรกิจที่ต้องการลงทุนหรือให้ยืมเงินได้ด้วยตนเอง ดังนั้นผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับจากการลงทุนบนแพลตฟอร์มนี้ก็คือ “ดอกเบี้ยรับจากเงินกู้ยืม”

เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่นักลงทุนมีบทบาทเป็นเจ้าหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange : B/E) และหุ้นกู้ภาคเอกชน (Corporate Bond) นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Income) ซึ่งจ่ายตามอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่ระบุไว้ โดยการให้กู้ยืมบนแพลตฟอร์ม P2B จะให้ดอกเบี้ยมากกว่าหรือเท่ากับตราสารหนี้ตามท้องตลาด แม้การให้เงินกู้ยืมกับบริษัทที่เข้ามาในแพลตฟอร์มจะมีความเสี่ยงสูงกว่า และเครดิตความน่าเชื่อถือที่น้อยกว่าบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ในตลาด แต่มีข้อดีที่เงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูงเมื่อเทียบกับตราสารชนิดอื่น นอกจากนี้หากลงทุนในตราสารเช่นพันธบัตรรัฐบาล นักลงทุนรายย่อยส่วนมากจะไม่ได้รับสิทธิในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกหรือตลาดพันธบัตรออกใหม่ (Primary Market) ซึ่งเป็นแหล่งกลางในการเสนอขายและซื้อพันธบัตรออกใหม่ โดยจะเสนอขายให้กับนักลงทุนบางประเภทเท่านั้น และนักลงทุนกลุ่มนั้นก็คือ กลุ่มนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก โดยผ่านการประมูลที่จัดขึ้นโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) แยกการประมูลออกเป็น 2 ประเภท คือ การประมูลแบบแข่งขันราคา (Competitive Bid) และ การประมูลแบบไม่แข่งขันราคา (Non-Competitive Bid) นักลงทุนรายย่อยจะสามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล ได้ใน Secondary Market หรือตลาดรอง โดยซื้อผ่านสถาบันต่างๆที่ได้รับพันธบัตรมาจากการประมูล นอกจากนี้แม้ในหุ้นกู้ภาคเอกชนเอกก็ดี หากเป็นหุ้นกู้ที่เปิดให้แต่เพียงนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ที่มีสถานะทางการเงินตามที่กำหนดไว้ หรือที่เรียกว่า Private Offering (PO) ก็ทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนในรูปแบบนี้ได้ยากอีกเช่นเดียวกัน ดังนั้นแพลทฟอร์มการกู้ยืมเงิน P2B จึงถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ของนักลงทุนรายย่อยนั่นเอง

2.  ความเสี่ยงของการลงทุนบนแพลตฟอร์ม P2B

ความเสี่ยงในการลงทุนของแพลตฟอร์ม P2B คือ “การผิดนัดชำระหนี้” ของบริษัทที่เป็นผู้กู้ยืมเงิน ผู้ลงทุนโอกาสสูญเสียเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมด อย่างไรด็ดี เช่นเดียวกับการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ หรือแม้แต่การลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ Default risk หรือความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ก็อาจเกินขึ้นได้ในทุกการลงทุน เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจ ทั้งนี้แพลตฟอร์ม P2B จะมีการคัดกรองบริษัทที่มีความเสี่ยงในการผิดรับชำระหนี้ โดยพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไร โครงสร้างทางการเงิน และสภาพคล่องของบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงขั้นต้นให้กับนักลงทุน นักลงทุนมีหน้าที่วิเคราะห์โอกาสในการลงทุน และความเสี่ยงที่เหลืออยู่จากกิจการ

3.  เลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความเข้าใจสูงสุด

การเลือกลงทุนกับบริษัทที่เข้ามากู้ยืมเงินทุนภายใต้แพลตฟอร์ม P2B ก็ไม่ต่างกับการลงทุนในหุ้นสามัญระยะยาวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (Stocks Market)โดยทั่วไปนักลงทุนจะเลือกหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพ และมีความสามารถในการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตนเองได้รับเงินส่วนแบ่งกำไร หรือเงินปันผล (Dividend) (อ่านเกี่ยวกับ “การอ่านงบการเงินเพื่อเลือกลงทุน”) แต่การคัดเลือกบริษัทที่นักลงทุนประสงค์จะให้เงินกู้ยืมนั้นจะแตกต่างเพียงเล็กน้อย นักลงทุนต้องพิจารณาคุณภาพของบริษัท และเข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัท เพื่อทราบให้ได้ว่าบริษัทที่ขอกู้ยืมเงินนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เงินกู้ยืมอย่างไร มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะประสบความสำเร็จในการลงทุนมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญคือต้องทราบว่าบริษัทมีความสามารถที่จะจ่ายคืนหนี้เงินกู้ยืม และจ่ายผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับนักลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนดได้หรือไม่

การพิจารณาและทำความเข้าใจบริษัทเป็นหน้าที่สำคัญของนักลงทุนที่จะทำการคัดเลือกการลงทุนของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่รู้ หากนักลงทุนเข้าใจภาพรวมของบริษัท และตรวจสอบรายละเอียดของบริษัทจนมั่นใจแล้ว นักลงทุนก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนตามที่ตนเองต้องการ บนความเสี่ยงที่ตนสามารถรับได้

4.  กระจายความเสี่ยงในการลงทุน

การให้กู้ยืมผ่านแพลตฟอร์ม P2B เป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุน นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในแพลตฟอร์ม P2B เพื่อการันตีผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน(Investment Portfolio) และกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภท (Risk Diversification) อื่นก็ได้อีกด้วย นอกจากนี้ หัวใจหลักในการลงทุนบนแพลทฟอร์ม P2B ยังเน้นให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงการลงทุนบนแพลทฟอร์ม P2B ด้วยอีกทางหนึ่ง ด้วยข้อดีของการใช้เงินลงทุนน้อยในการลงทุนในแต่ละธุรกิจด้วยระบบ Cash pooling หรือ Crowd funding นั่นเอง ทำให้นักลงทุนยังสามารถกระจายความเสี่ยงบนแพลทฟอร์ม P2B ด้วยการกระจายลงทุนในหลากหลายธุรกิจ, หลากหลายความเสี่ยงและผลตอบแทน, การลงทุนในหารกู้ยืมที่มีระยะเวลาครบกำหนดที่แตกต่างกัน ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่นักลงทุน (Liquidity risk) ตลอดจนการกระจายลงทุนได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมอีกนั่นเอง

https://www.moneywecan.com

 1372
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores