Blockchain นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่เดินทางข้ามกาลเวลา และถูกจับตามองอย่างมากในแง่ของการนำมาใช้ในธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบัน แม้จะถือกำเนิดมาได้เกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม โดยในยุคที่มีวิกฤติการเงินเกิดปัญหาทั่วโลก ก็ได้มีความพยายามมองหาโซลูชั่นที่ดีในการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ แบบที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรม จากเดิมที่เคยมีสถาบันการเงิน (Centralized trusted party) เป็นตัวกลาง ก็กลายมาเป็นรูปแบบของการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายประสานกันแบบใยแมงมุม (Decentralized trusted party) ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางที่น่าเชื่อถืออีกต่อไป เพียงแต่ต้องมีองค์ประกอบมากมายเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ที่เกิดขึ้น SCB SME ขอเปลี่ยนบรรยากาศนำเสนอเป็นแนวเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโลกการเงิน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ปลอดภัย และวางใจได้ เพราะเทคโนโลยี Blockchain นี้ ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “Trust” เป็นสำคัญ เป็นความเชื่อมั่นของผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่เห็นพ้องต้องกันและอยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกัน
สิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนของเทคโนโลยี Blockchain ก็คือ การเป็นระบบโครงข่ายที่ช่วยในการจัดเก็บบัญชีสำหรับธุรกรรมออนไลน์ ในลักษณะของเครือข่ายแบบบุคคลต่อบุคคล ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทรัพย์สินในรูปแบบอื่น และสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของกันได้ในอนาคต โดยจุดเด่นของ Blockchain ก็คือ ไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมผ่านสถาบันการเงิน เพราะทุกวันนี้ธนาคารจะเป็นผู้ที่จัดการธุรกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นความลับ ทั้งในเรื่องของยอดบัญชี การเดินบัญชีที่ทางธนาคารเป็นศูนย์กลาง ไม่มีใครสามารถล่วงรู้บัญชีของผู้อื่นได้ มีแต่เจ้าของบัญชีเท่านั้นที่ทราบ และหากต้องการรู้รายละเอียดข้อมูลการเงิน ก็เพียงไปอัปเดตบัญชี
แต่บางกลุ่มกลับมองว่า การฝากเงินอาจไม่ใช่วิธีเดียวที่เหมาะกับในสภาวะปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของบัญชีที่อาจเปลี่ยนแปลงได้หรือการถูกเจาะบัญชีได้โดยที่ไม่รู้ตัว จึงมีกลุ่มคนที่สร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า Bitcoin ซึ่งเป็นค่าเงินดิจิทัลทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างบุคคลต่อบุคคล Peer-to-Peer (P2P) ได้ทันที แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการโอนเงินผ่านบัญชี ที่มีธนาคารเป็นตัวกลาง และไม่จำเป็นต้องรู้จักกับคนที่ทำธุรกรรมในเครือข่ายด้วยกัน แต่สามารถเชื่อมั่นได้ด้วยระบบ โดยที่ Bitcoin นี้ มีองค์ประกอบสำคัญที่เรียกว่า “Blockchain” อยู่ในกระบวนการนี้
ซึ่งเท่ากับว่า Blockchain จะทำหน้าที่เป็นโครงข่ายในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมไปถึงในเรื่องของหลักทรัพย์ หุ้น พันธบัตรเอกสารความเป็นเจ้าของหรืออื่น ๆ ที่เพียงแค่เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลได้ และเมื่อตัดตัวกลางอย่างสถาบันการเงินออกไปในแง่ของการทำธุรกรรม ก็ทำให้ต้นทุนที่เกิดขึ้นในกระบวนการลดลง ตัวอย่างเช่น เดิมทีต้องเสียค่าธรรมเนียมในการชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิตอย่างน้อย 2 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่หากใช้ Bitcoin ในการจ่ายค่าสินค้า อาจเสียค่าธรรมเนียมเพียง 1 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งหากเป็นการโอนหรือแลกเปลี่ยนจำนวนเงินมาก ๆ แล้ว ย่อมประหยัดไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
และด้วยเทคโนโลยี Blockchain มีความสอดคล้องต่อระบบการเงินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ตื่นตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทนายหน้าและธุรกิจใหม่ ๆ ต่างให้ความสนใจ จึงเกิดการประยุกต์ และคิดค้นเป็นระบบเทคโนโลยีธุรกรรมทางการเงินด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาพลิกโฉมรูปแบบธุรกรรมการเงินให้เปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งที่ทำให้ถือกำเนิด FinTech หรือ Financial Technology ในอนาคตจะมีบทบาทต่อระบบการเงินมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในโลกแห่งการเงิน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ FinTech ได้เสนอรูปแบบทางการเงินใหม่ ๆ โดยการนำเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมการเงินมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในอนาคต นอกจากนี้ FinTech ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการเงินในยุคดิจิทัล ด้วยการพัฒนาบริการทางการเงินในแบบใหม่ ๆ ทั้งในเรื่องธุรกรรมที่เกี่ยวกับการชำระเงิน การโอนเงิน การบริหารการเงินส่วนบุคคล และสินเชื่อการลงทุน เป็นต้น
จุดเด่นของ FinTech อยู่ที่การสร้างขึ้นให้มีรูปแบบที่ใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ ทำให้มีค่าธรรมเนียมน้อยกว่า แต่ก็มีความปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ FinTech เข้ามาส่งผลต่อรูปแบบทางการเงินในปัจจุบันอย่างมาก โดยที่เราจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ในไม่ช้า แล้วคำถามคือ FinTech เกี่ยวข้องกับ Startup ได้อย่างไร คงต้องมองว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบธุรกรรมการเงินในหลายปีที่ผ่านมา ใช้เวลาค่อนข้างนานและมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งก็หมายถึงยังมีนวัตกรรมบริการทางการเงินอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น ที่ให้ทั้งความสะดวกรวดเร็ว และประหยัด การมาของ Startup จึงเป็นโอกาสที่บริษัทด้านเทคโนโลยีจะคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาพลิกโฉมโลกทางการเงินที่นอกเหนือจากบริการของสถาบันการเงิน ตัวอย่างเช่น Bitcoin ในประเทศไทย ที่มีความน่าเชื่อถือในด้านของ Digital currency
สำหรับ FinTech Startup ในประเทศไทยมีตัวอย่างอยู่ด้วยกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านของผลิตภัณฑ์หุ้นอย่างเข่น Stock Radar และ Jitta, ด้านของภาษีและกองทุน เช่น iTax , ด้านการประกันภัย เช่น Go Bear และ Ask Hanuman รวมไปถึง ด้าน Payment เช่น Paysbuy, mPay และ SCBEasy เป็นต้น และนอกจากนี้ยังมีด้าน Crowdfunding เช่น Asiola และ Dreammaker เป็นต้น
นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์เองก็ยังประกาศแผนการลงทุนใน Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ลงทุนเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) บน Blockchain ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้ในยุคที่มีการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และสิ่งสุดท้ายที่ FinTech Startup ต้องยึดมั่นก็คือ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อพฤติกรรมของผู้ใช้อย่างแท้จริง ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้แล้วถูกใจอยากใช้ซ้ำ ด้วยการวางแผนอย่างรัดกุมและให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าในที่สุด
ที่มา : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/SCB_Blockchain