หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู

หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู

 หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู
      การหักลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู เป็นการอนุญาตให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ และมีการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามี หรือภรรยา ของผู้มีเงินได้ โดยให้หักค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นค่าใช้จ่ายได้คนละ 30,000 บาท โดยที่บิดามารดาดังกล่าว จะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ และอยู่ในความเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
          1.ให้หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สำหรับบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในการเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ แต่บิดามารดาต้องมีรายได้ในปีที่ใช้สิทธิ ไม่เกิน 30,000 บาท หากบิดามารดามีรายได้เกิน ก็ใช้สิทธิไม่ได้
          2.ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายของบิดามารดา ของผู้มีเงินได้ที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน 
( ต้องเป็นบิดามารดาที่แท้จริง หรือหากเป็นบิดามารดาบุญธรรม ต้องมีการจดทะเบียนบิดามารดาให้ถูกต้องตามกฏหมาย จึงจะสามารถหักลดหย่อนได้)
          3.กรณีที่ผู้มีเงินได้หลายคนจะขอใช้สิทธิอุปการะบิดามารดาคนเดียวกัน ให้ผู้มีเงินได้คนใดคนหนึ่ง เพียงคนเดียวที่มีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดู เป็นผู้มีสิทธิในการหักลดหย่อนค่าอุปการะได้ในแต่ละปีภาษี (หมายถึง ใครมีหลักฐานการเซ็นชื่อของบิดามารดาในเอกสาร ลย.03 คนนั้นย่อมได้สิทธิลดหย่อนนั้นไป)
         4.การหักลดหย่อน ให้สามารถหักค่าลดหย่อนได้ทั้งจำนวน แม้ว่าจะมีการเลี้ยงดูไม่ตลอดปีภาษีที่ยื่นขอก็ตาม
         5.กรณีสามีหรือภรรยาเป็นผู้มีเงินได้ เพียงคนเดียว ก็ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของสามีหรือภรรยา ก็ได้คนละ30,000 บาท
         6.กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งเดิมใช้สิทธิหักลดหย่อนอยู่เดิมแล้ว ต่อมาแต่งงานกัน ก็ให้ใช้เกณฑ์การลดหย่อนดังนี้          
             (ก)หากเป็นสามีภรรยากันไม่ครบปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ ก็ให้ต่างคนต่างลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้คนละ 30,000 บาท
             (ข) หากเป็นสามีภรรยากันครบปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ และภรรยาไม่ได้แยกยื่นแบบภาษีเงินได้ต่างหากจากสามี ก็ให้สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ทั้งบิดามารดาของผู้มีเงินได้ และบิดามารดาของภรรยาของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท
             (ค) หากเป็นสามีภรรยากันครบปีภาษีที่ขอใช้สิทธิ และภรรยาขอแยกยื่นแบบภาษีเงินได้ต่างหากจากสามี ก็ให้สามีและภรรยา ต่างคนต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้คนละ 30,000 บาท
         7.กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
         8.การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดาที่ใช้ขอใช้สิทธิ ในแบบที่ยื่นภาษีเงินได้ด้วย
         9.การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ ต้องมีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดู (แบบ ลย.03) โดยให้กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนด โดยให้ถือว่าแบบฟอร์ม ลย.03 ดังกล่าวเป็นหนังสือรับรองได้ การกรอกข้อความต้องกรอกเป็นภาษาไทย หากเป็นภาษาอื่นต้องมีคำแปล และต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากรด้วย

         เมื่อท่านเห็นว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิดังกล่าว ก็ให้รีบดำเนินการแต่เนินๆ เมื่อใกล้เวลายื่นภาษีเงินได้ในแต่ละปี หากมีปัญหาจะได้แก้ไขทันท่วงที

สรุปจากประมวลรัษฎากรฯโดย MichaelShaw 

บทความโดย : MichaelShaw
ที่มา  :  www.ThaiTaxINFO.com

 2925
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores