• Home

  • BLOG myAccount Cloud

  • การครอบงำกิจการกับยุทธวิธีโต้กลับของธุรกิจ

การครอบงำกิจการกับยุทธวิธีโต้กลับของธุรกิจ

  • Home

  • BLOG myAccount Cloud

  • การครอบงำกิจการกับยุทธวิธีโต้กลับของธุรกิจ

การครอบงำกิจการกับยุทธวิธีโต้กลับของธุรกิจ


การครอบงำกิจการกับยุทธวิธีโต้กลับของธุรกิจ



หลายท่านคงทราบแล้วว่า ในที่สุด “ทวิตเตอร์” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ก็ถูกครอบงำกิจการได้สำเร็จโดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันแห่งบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ผู้มีอิทธิพลในหลายวงการ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารของทวิตเตอร์ไม่ได้ให้ความยินยอมและพยายามดิ้นรนตอบโต้การครอบงำกิจการของมัสก์ โดยเราได้เห็นกลยุทธ์ที่คณะกรรมการฯใช้ในการโต้กลับความพยายามครอบงำกิจการที่เรียกกันว่า “การวางยาพิษ” หรือ “poison pills” ทั้งนี้ แม้สุดท้ายจะไม่สำเร็จ แต่กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธวิธีโต้กลับที่น่าสนใจ ในฐานะที่ผู้เขียนเองได้เคยศึกษากลยุทธ์เหล่านี้เชิงลึกในหัวข้อ “การควบรวมและการซื้อกิจการ (mergers and acquisitions หรือ M&A)” ของวิชาการเงินธุรกิจขั้นสูง (Advanced Corporate Finance) ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตในระดับปริญญาตรี จึงขออนุญาตปัดฝุ่นรื้อฟื้นความรู้ความเข้าใจการครอบงำกิจการและกลยุทธ์เหล่านี้นำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้คิดตามกันครับ


อันที่จริงการครอบงำกิจการ (takeover) เป็นเรื่องธรรมดาในวงการธุรกิจ เมื่อนักลงทุนรายใดหรือบริษัทใดที่มีทุนทรัพย์มากต้องการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนที่มีอำนาจมากพอบริหารกิจการของบริษัทหนึ่งๆ (บริษัทเป้าหมายหรือ target firm) ก็สามารถเสนอซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายย่อย หรือขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่จดหรือไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม ทั้งนี้ การ takeover แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แบบเป็นมิตร (friendly takeover) คือการขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดิมหรือรายย่อยหลายรายที่ยินยอมพร้อมใจขายหุ้นให้บางส่วนหรือทั้งหมด กับ แบบไม่เป็นมิตรหรือปรปักษ์ (hostile takeover) คือกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายเดิมไม่เต็มใจขายหุ้น (ดังกรณีของทวิตเตอร์)

บริษัทเป้าหมายสามารถปกป้องตัวเองหรือมีกลยุทธ์ตอบโต้เพื่อลดแรงจูงใจไม่ให้ผู้จะครอบงำกิจการเข้ามาครอบงำแบบไม่เป็นมิตรได้สำเร็จ (anti-takeover defense) ตัวอย่างกลยุทธ์ ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าชื่อเรียกของแต่ละกลยุทธ์มีความสร้างสรรค์และทำให้เห็นภาพได้ดีมาก อาทิ 1) การวางยาพิษ (Poison Pill) คือการลดความน่าสนใจของกิจการ ที่สะท้อนจากราคาหุ้น (dilution effect) หรือทำให้การครอบงำบริษัทมีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การออกหุ้นเพิ่มเติมด้วยราคาที่ถูกลงและขายให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ ของกิจการที่ไม่ใช่ผู้ที่หวังจะครอบงำกิจการ (ดังกรณีของทวิตเตอร์) 2) อัศวินขี่ม้าขาว (White Knight) คือการหากลุ่มพันมิตรที่มีความประสงค์จะมาร่วมลงทุนในบริษัทเป้าหมาย หรือความพยายามในการหาบริษัทพันธมิตรที่จะเข้ามาแทนผู้ครอบงำกิจการ 3) กล่องดวงใจ หรือเพชรยอดมงกุฎ (Crown Jewel) เป็นกลยุทธ์การขายสินทรัพย์หรือกิจการสำคัญของบริษัทเป้าหมาย เมื่อรู้ว่ากิจการกำลังจะถูกครอบงำ

การใช้กลยุทธ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการผู้ถือหุ้นและผู้บริหารบริษัทเป้าหมายสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอย่าลืมว่าความรับผิดชอบสำคัญที่สุดของคณะกรรมการฯคือการดูแลมูลค่าและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท (shareholders’ value) การใช้กลยุทธ์ป้องกันและตอบโต้มักมีต้นทุนสูงและส่งผลกระทบทางลบต่อมูลค่าและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น โดยการใช้กลยุทธ์เหล่านี้มักถูกมองในเชิงสัญญาณร้ายในการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ (bad governance signal) ดังนั้น การจะเลือกใช้กลยุทธ์ใด จำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมาย ชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียในการดำเนินการนั้นด้วย เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆเองครับ!


ที่มา thairath.co.th
บันทึก
สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
 792
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores