การอ่านงบการเงินเพื่อเลือกลงทุน

การอ่านงบการเงินเพื่อเลือกลงทุน

    งบการเงิน (Financial Statement) เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเข้าใจในรายละเอียดของบริษัทที่ตนกำลังให้ความสนใจหรือต้องการที่จะเลือกลงทุนอยู่ โดยงบการเงินจะแสดงให้นักลงทุนมองเห็นส่วนสำคัญของฐานะทางการเงิน ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท สภาพคล่องและการใช้จ่ายเงินสดของบริษัท ภาพรวมของกิจการในงบการเงินจะถูกแสดงออกมาเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantity Information) เท่านั้น ซึ่งนักลงทุนสามารถนำข้อมูลเชิงปริมาณไปใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจร่วมกับข้อมูลเชิงคุณภาพ(Quality Information) 

    การอ่านงบการเงินและวิเคราะห์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านการบัญชี เพราะงบการเงินเป็นรายงานซึ่งเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการทางบัญชี นักลงทุนที่ต้องการเข้าใจงบการเงินจึงต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องการบัญชีประกอบการอ่านงบการเงินด้วย

    งบการเงินเป็นเครื่องมือที่นำเสนอฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของบริษัท ทำให้นักลงทุนทราบถึงผลการบริหารงานของฝ่ายบริหารว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด โดยจะแสดงข้อมูลที่ผ่านมาในรอบระยะเวลาหนึ่ง ทำให้นักลงทุนสามารถคาดคะเนผลการดำเนินงานในอนาคตได้

ในปัจจุบันงบการเงินของบริษัทจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 5 ส่วน ดังนี้

  • งบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) เดิมถูกเรียกว่า “งบดุล” (Balance Sheet) จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัท ณ วันหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ สินทรัพย์ (Assets) หนี้สิน (Liabilities) และส่วนของผู้ถือหุ้น (Equities) ภายใต้สมการ สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น
    นักลงทุนที่ต้องการทราบว่ากิจการมีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร มีสินทรัพย์ใดที่สำคัญกับการดำเนินธุรกิจ? มีหนี้สินมากหรือน้อยให้นักลงทุนต้องระมัดระวัง? หรือมีการจัดการภายในส่วนของเจ้าของบริษัทอย่างไร? เป็นต้น งบแสดงฐานะการเงินจะช่วยตอบคำถามของนักลงทุนได้
  • งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Income Statement) เดิมถูกเรียกว่า “งบกำไรขาดทุน” จะแสดงข้อมูลของผลประกอบการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น 3 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี โดยประกอบไปด้วยรายละเอียดของรายได้ (Revenues) เช่น รายได้หลักจากการดำเนินงาน รายได้พิเศษ รายได้อื่น ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม เป็นต้น ค่าใช้จ่าย (Expenses) เช่น ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ดอกเบี้ยจ่าย ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วม เป็นต้น โดยจะสรุปผลการดำเนินงานในบรรทัดสุดท้ายให้นักลงทุนเห็นว่าในแต่ละช่วงเวลานั้นบริษัทสามารถทำกำไร หรือขาดทุนเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ (Year-over-Year : YoY) หรือเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter-over-Quarter : QoQ)
  • งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flows) เป็นรายงานที่ระบุถึงการได้มาและใช้ไปของเงินสดภายในบริษัทในรอบระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะแสดงให้เห็นรายละเอียดของการหมุนเวียนของเงินสดผ่าน 3 กิจกรรมหลักคือ เงินสดที่เปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities) เงินสดที่เปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมลงทุน (Investing Activities) เงินสดที่เปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมการจัดหาเงิน (Financing Activities) นักลงทุนจะใช้งบกระแสเงินสดประกอบการดูงบการเงินส่วนอื่นเพื่อตรวจสอบความสามารถในการบริหารเงินสดของกิจการ
  • งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ (Statement of Change in Equity) เป็นรายงานที่แสดงให้นักลงหุนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
  • หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statement) เป็นรายงานที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญน้อยที่สุด เพราะมีรายละเอียดเยอะที่สุด ซึ่งหมายเหตุประกอบงบการเงินจะเป็นรายงานที่บรรยายถึงหลักเกณฑ์ในการจัดทำงบการเงินของบริษัท นโยบายทางการบัญชี วิธีการรับรู้รายการทางบัญชี รายละเอียดที่มาของตัวเลขในรายงานทางการเงินอื่น รวมถึงข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งไม่ได้แสดงอยู่ในงบการเงินอื่น โดยข้อมูลที่อยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความสำคัญทั้งหมด นักลงทุนที่มีความละเอียดรอบคอบจะให้ความสำคัญกับหมายเหตุประกอบงบการเงินมาก เพราะในหมายเหตุประกอบงบการเงินจะมีข้อมูลที่นักลงทุนคนอื่นอาจมองข้ามไปแฝงอยู่

    การอ่านงบการเงินด้วยตัวเลขบนหน้างบการเงินต่างๆ เพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงหรือมีนัยในการวิเคราะห์งบการเงินมากนัก นักลงทุนที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์งบการเงิน จะวิเคราะห์งบการเงินโดยมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายการที่สำคัญต่างๆ บนงบการเงินเรียกว่า “อัตราส่วนทางการเงิน” หรือ Financial ratio เพื่อเปรียบเทียบบริษัทที่สนใจลงทุนกับบริษัทอื่นๆ รวมถึงสามารถใช้ในการเปรียบเทียบบริษัทที่สนใจในอุตสาหกรรมหนึ่งกับบริษัทต่างอุตสาหกรรมก็ได้ โดยอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญต่อการวิเคราะห์กิจการเพื่อลงทุนมีดังนี้

    การใช้ข้อมูลข้างต้นเพื่อค้นหาตัวเลือกธุรกิจในการลงทุนนั้น นักลงทุนอาจเริ่มต้นโดยการวิเคราะห์งบการเงินพื้นฐานจาก เว็บไซต์ www.set.or.th โดยนักลงทุนจะสามารถค้นหางบการเงิน/ผลประกอบการย้อนหลังคร่าวๆ ได้ ร่วมถึวงอัตราส่วนที่สำคัญต่างๆ (สำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น) เพื่อใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจการลงทุนนั่นเอง

บทความโดย: https://www.moneywecan.com

 2744
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores