ค่าเสื่อมราคา... ค่าใช้จ่ายที่นักลงทุนต้องรู้จัก

ค่าเสื่อมราคา... ค่าใช้จ่ายที่นักลงทุนต้องรู้จัก

ว่าแต่ "ค่าเสื่อมราคา" คืออะไร?

"ค่าเสื่อมราคา" หรือ Depreciation คือ ค่าใช้จ่ายที่ตัดจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่กิจการใช้ประโยชน์ประจำงวดบัญชี อธิบายง่ายๆ อย่างนี้ สมมติเราซื้อรถเข็นมาสำหรับขายลูกชิ้นราคา 10,000 บาทคันหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องคิดค่ารถเข็นนี้เป็นต้นทุนของสินค้าด้วย เพราะเราเองต้องเสียเงินสำหรับใช้รถเข็น แต่ถ้าเราคิดค่ารถเข็นในวันแรกที่ซื้อมาวันเดียว 10,000 บาท ต้นทุนก็จะไม่สมจริง เนื่องจาก 10,000 บาทที่เสียไปไม่ได้ใช้ประโยชน์หมดภายในวันเดียว แต่สามารถใช้ได้เป็นเวลานานกว่านั้น


ดังนั้น วิธีการทางบัญชีจึงทำการตัดค่าใช้จ่ายออกเป็นงวดให้สมจริงที่สุด เช่น รถเข็นมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี ก็แบ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 บาท หรือตกวันละไม่กี่บาทเท่านั้น แบบนี้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในแต่ละวันจะสมเหตุสมผลมากกว่า และสามารถคิดกำไรในแต่วันงวดได้อย่างน่าเชื่อถือมากขึ้น

เช่นเดียวกับกิจการ สมมติว่าบริษัทเปิดสาขาใหม่ใช้เงินลงทุน 3,000,000 บาท โดยใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 10 ปี และเมื่อผ่านเวลาไป 10 ปีแล้วสาขานี้จะมีมูลค่าเหลือเพียง 50,000 บาท ซึ่งในทางปฏิบัติ กิจการต้องประเมินมูลค่าซากของกิจการขึ้นมาให้สมเหตุสมผลที่สุด

แบบนี้เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี มูลค่าของสาขานี้จะหายไป 2,950,000 บาท โดยค่านี้เรียกว่าค่าเสื่อมราคา หากจะนำมาหาค่าเสื่อมราคาต่อปี จะคิดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 295,000 บาทต่อปี ซึ่งจะถูกบันทึกบัญชีเพื่อแสดงเป็นค่าใช้จ่ายประจำแต่ละงวดปี 


สังเกตได้ว่า ค่าเสื่อมราคา นั้นจะคิดมูลค่ามาจากเงินลงทุนที่ซื้อสินทรัพย์นั้นมาเริ่มต้น เทียบกับมูลค่าซากกับจำนวนปีที่ใช้งานได้ โดยจะทำการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการใช้สินทรัพย์แบ่งเป็นรายปีให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อทำให้บัญชีกำไรขาดทุนมีความน่าเชื่อถือ และได้กำไรในแต่ละงวดอย่างสมเหตุสมผล
ในทางบัญชี การตัดค่าเสื่อมราคามีหลายวิธี ซึ่งโดยทั่วไปนิยมวิธีเส้นตรง หรือที่แสดงตัวอย่างให้ดูในบทความนี้ (บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ก็นิยมวิธีเส้นตรงเช่นกัน) ในขณะที่ในโลกบัญชียังมีวิธีการตัดค่าเสื่อมราคาอีกหลายแบบที่สามารถทำได้ เช่น การตัดแบบเร่ง หรือการตัดค่าเสื่อมราคาในช่วงแรกมากและในช่วงหลังน้อยลงแบบไม่เป็นเส้นตรง การตัดแบบตามการใช้ หรือการตัดค่าเสื่อมราคาตามจำนวนการใช้งานสินทรัพย์ เป็นต้น

จุดที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การตัดค่าเสื่อมราคาแบบนี้ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นในแต่ละงวด หมายถึง มีค่าใช้จ่ายในบัญชี แต่ไม่เกิดรายจ่ายเป็นเงินสดที่เกิดขึ้นจริง ทำให้กิจการเหลือเงินสดหรือทรัพย์สินเพื่อไปลงทุนต่อไปได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในแง่ของการสำรองเงินไว้เพื่อการปรับปรุงและพัฒนากิจการ โดยทั่วไป "ค่าเสื่อมราคา" จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสินทรัพย์นั้นมีประโยชน์การใช้เกินกว่า 1 รอบบัญชี (หรือ 1 ปีนั่นเอง) ดังนั้น สินทรัพย์ที่กิจการซื้อมาแต่ใช้ประโยชน์จนหมดภายใน 1 ปี แบบนี้จะไม่เกิดค่าเสื่อมราคา แต่จะนับเป็นค่าใช้จ่ายไปเลย เช่น อุปกรณ์สำนักงานที่มีอายุการใช้งานต่ำ เป็นต้น  ถึงแม้ว่าสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 1 ปีจะต้องมีการคิดค่าเสื่อมราคา แต่ก็มีสินทรัพย์บางชนิดที่ไม่คิดค่าเสื่อมราคา ได้แก่ “ที่ดิน” เนื่องมาจากโดยปรกติแล้ว ที่ดินมักมีมูลค่าซากที่สูงขึ้นหรือไม่ลดลง (นัยว่ามูลค่าที่ดินจะสูงขึ้นในอนาคตค่อนข้างแน่นอน ตามหลักของเงินเฟ้อ) ดังนั้น ที่ดินจะไม่ถูกตัดค่าเสื่อมราคา 

ยกเว้นในบางกรณีที่พิสูจน์ได้จริงว่ามีการใช้ประโยชน์จากที่ดินจนทำให้เกิดการเสื่อมแน่นอน เช่น กิจการเผาขยะที่อาศัยการเผาขยะจนหน้าดินเสื่อมสภาพและไม่สามารถกู้คืนมาในสภาพเดิมได้ กิจการที่ใช้เนื้อดินจากที่ดินไปถมหรือก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นจำนวนมาก แบบนี้นักบัญชีอาจพิจารณาตัดค่าเสื่อมราคาตามความเหมาะสม เพื่อสะท้อนให้เห็นต้นทุนที่แท้จริงออกมาได้

            การวิเคราะห์ค่าเสื่อมราคา ถือเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนแนวพื้นฐาน เนื่องจากค่าเสื่อมราคามักเป็นค่าใช้จ่ายที่มีผลต่อกำไรทางบัญชีค่อนข้างมาก

การวิเคราะห์ค่าเสื่อมราคานั้น ถือเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งของการลงทุนแนวพื้นฐาน เนื่องจากค่าเสื่อมราคามักเป็นค่าใช้จ่ายที่มีผลต่อกำไรทางบัญชีค่อนข้างมาก หากนักลงทุนสามารถเข้าใจของการตัดค่าเสื่อมราคาอย่างแท้จริง ก็จะสามารถหากิจการที่มูลค่าผิดเพี้ยนไปจากการตัดค่าเสื่อมราคาที่นักลงทุนผู้อื่นไม่เข้าใจได้

บทความโดย : aommoney.com

 2156
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores