FinTech ความท้าทายโลกบริการทางการเงินยุคใหม่

FinTech ความท้าทายโลกบริการทางการเงินยุคใหม่

คลื่นลูกใหม่ทั้ง FinTech และ Startup กำลังก้าวสู่ยุคเฟื่องฟูในหลายประเทศ เป็นคลื่นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

 เพราะมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินด้วยนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการเกิดความสะดวก รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า FinTech กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นผลมาจากเทคโนโลยี 4 ด้าน ประกอบด้วย Social Media, Mobile, Analytics และ Cloud ที่เกิดการประยุกต์ใช้บนแนวโน้มการเติบโตด้านอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่อุปกรณ์ต่างๆ ชิ้นน้อยใหญ่ได้ถูกพัฒนาให้เหมาะกับอินเทอร์เน็ต (IoT) อำนวยความสะดวกให้ชีวิตง่ายขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้ประกอบการด้านสถาบันการเงินต่างตื่นตัวให้ความสนใจ FinTech (Financial Technology) หรือเทคโนโลยีทางการเงินที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินบางรายจัดตั้งLab เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ บางรายสนับสนุนเงินลงทุนให้กับกลุ่ม Startup หรือบริษัทเกิดใหม่ที่พัฒนาบริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ๆ การตื่นตัวและความพยายามในการปรับตัว แสดงให้เห็นว่า FinTech ไม่ใช่กระแส แต่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในไม่ช้า

FinTech จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเงิน

FinTech คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้หรือสร้างบริการในธุรกิจการเงิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การจ่ายเงินออนไลน์, การซื้อหุ้นออนไลน์ ฯลฯ

ในช่วงที่ผ่านมา มีบริการรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของ FinTech นั่นคือ การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (e-Payment) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมอย่างมาก

หรือแม้แต่ PromptPay ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปลายเดือนตุลาคมนี้ ที่เปลี่ยนวิธีการโอนเงินให้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีผู้รับโอน ไม่ต้องรู้ว่าธนาคารอะไร รู้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำธุรกรรมได้ ที่สำคัญค่าธรรมเนียมถูกมาก คือโอนเงินต่างธนาคารในจำนวนมากกว่า 20,000-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 2-5 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนในปัจจุบันอยู่ที่ 25-35 บาท หรือหากโอนไม่เกิน 5,000 บาท PromptPay พร้อมให้บริการฟรี

ส่วน FinTech ในประเทศไทยยังมีให้เห็นไม่มากแต่เกิดขึ้นแล้ว เช่น TrueMoney Wallet, mPay, Paysbuy, 2c2p เป็นต้น แต่สำหรับในต่างประเทศเกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น FinTech Startup เป็นผู้ประกอบการใหม่ที่พัฒนาเทคโนโลยี หรือบริการด้านธุรกรรมทางการเงิน บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกรายหนึ่งฟันธงว่า FinTech เป็น Game Changer ของอุตสาหกรรมการเงินโดยจะมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยและธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งโจทย์ส่วนใหญ่จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวก สบาย และมีค่าใช้จ่ายถูกลง ในยุคนี้จึงพบว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม

ขณะเดียวกันมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. มีการบรรจุเรื่อง FinTech เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) โดยเป็นการปรับรูปแบบการให้ใบอนุญาต ในเบื้องต้นจะปรับปรุงประเด็นดังนี้ โครงสร้างการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (License) เกณฑ์ขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนของธุรกิจ คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตและเกณฑ์การกำกับดูแล ในปี 2559 นี้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นความคืบหน้าที่ออกมาสนับสนุน FinTech

ปัจจัยหนุน FinTech Startup

นับเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ที่เข้าสู่ FinTech Startup ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่หนุนและเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ โดยในที่นี้จะสรุปปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ดังนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี : ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งและ ด้วยนโยบาย Digital Economy ที่ขับเคลื่อนการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงสู่ระดับหมู่บ้านโดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุม 76,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งการขยายโครงข่าย 4G ต่างส่งเสริมให้การใช้อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันต่างๆ เติบโตขึ้นอีกมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการใหม่จำนวนมากพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการด้านต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชันด้านบริการการเงิน

การส่งเสริมจากภาครัฐ และกลุ่มทุน

การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5 ปีแรก เป็นอีกนโยบายที่สร้างแรงจูงใจ Startup ในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ (Venture Capital) ที่พร้อมให้เงินลงทุน Startup รวมไปถึงสถาบันการเงินบางแห่งเปิดโครงการสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งคล้ายกับกลุ่มโอเปอเรเตอร์ที่ผลักดัน Tech Startup ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา FinTech Startup จึงมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

นวัตกรรมกับโอกาสธุรกิจ

FinTech Startup รายใดสามารถสร้างนวัตกรรมหรือบริการที่ตรงใจผู้บริโภคและมีการใช้งานต่อเนื่อง จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างทางธุรกิจอยู่ในระดับหนึ่งที่สถาบันการเงินไม่ได้ให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีกดดันให้รูปแบบบริการภาคการเงินเปลี่ยน : เห็นตัวอย่างได้จากกระแส Digital ที่ทุกอย่างหลอมรวมไปในแนวทางนั้น

หลังจากอินเทอร์เน็ตแทรกซึมเข้าไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ทุกอย่างสะดวก ง่าย รวดเร็ว เช่นกันกับการมาของ Digital ในแวดวงการเงิน ที่วันนี้มี e-Payment มีการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์อย่าง e-Bank, Mobile Bank แต่นับจากนี้ไปจะมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกมากที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากการปรับตัวของสถาบันการเงินเพราะหากไม่ปรับอาจจะต้องรับศึกหนักจากกระแส Digital Transformation อย่างแน่นอน

ผลสำรวจ Financial Services Technology 2020 and Beyond: Embracing Disruption จาก บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สคอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ PwC พบว่าในปี 2563 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมธุรกิจบริการทางการเงิน (Financial Services) ทั่วโลก จากผลสำรวจพบว่ามี 10 เทคโนโลยีสำคัญที่มีอิทธิพลและสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานกำกับดูแลรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 4 เทคโนโลยี ดังนีั้

เทคโนโลยีทางการเงินจะเป็นตัวขับเคลื่อน

ธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ (FinTech will drive the new business model) ความต้องการบริการด้าน FinTech โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย (Consumer Banking) และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ทั้งธนาคารขนาดใหญ่และผู้เล่นรายใหม่ที่มีศักยภาพหันมาจับมือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น

เอเชียจะเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ของโลก

ในปี 2563 ทวีปเอเชียแปซิฟิกจะมีสัดส่วนจำนวน “ชนชั้นกลาง” มากกว่าทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป นอกจากนี้ในอีก 30 ปี ข้างหน้าจำนวนประชากรโลกถึง 1,800 ล้านคนจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาในทวีปแอฟริกาและเอเชียมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นโอกาสสำคัญทางธุรกิจของสถาบันการเงินในภูมิภาคเหล่านี้

บล็อกเชนจะปฏิวัติโลกการเงินยุคใหม่

ระบบโครงข่ายในการทางธุรกรรมออนไลน์ หรือ Blockchain จะกลายเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบธุรกิจการเงิน และนำไปสู่โลกการเงินยุคใหม่ เนื่องด้วยศักยภาพของ Blockchain ที่สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนการให้บริการและเพิ่มความโปร่งใสให้กับการทำธุรกรรม

ภัยไซเบอร์จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของสถาบันการเงิน

การรักษาความปลอดภัยโลกไซเบอร์จะยิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลต้องคำนึงถึงในอนาคต ซึ่งถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานเหล่านี้ในการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า

ดังนั้นจากนี้ไปจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจภาคการเงิน ทั้งการปรับโครงสร้าง เปลี่ยนหรือพัฒนาเทคโนโลยีและมีบริการรูปแบบใหม่ออกมาหรือการลงทุนใน FinTech Startup รวมถึงปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะเกิดขึ้นในแวดวงการเงินอย่างเลี่ยงไม่ได้

บทความโดย : https://www.g-able.com

 3710
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores