การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา

          ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ แบรนด์ที่แข็งแกร่งต่างสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพย์สินทางปัญญา โกยเงินเข้ากระเป๋ากันไม่หวาดไหว ยกตัวอย่างทีมฟุตบอลชื่อดังระดับโลก คือ ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและทีมลิเวอร์พูล ที่สร้างรายได้จากการอนุญาตให้บริษัทต่างๆ นำชื่อแบรนด์ โลโก้ทีม ไปผลิตสินค้าออกวางขายเป็นสินค้าลิขสิทธิ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด แก้วน้ำ ลูกฟุตบอล และอื่นๆ แต่ก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาเสียก่อนว่าแบรนด์ของตนมีมูลค่าทางการตลาดเท่าไหร่ จึงจะสามารถสร้างข้อตกลงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายได้

          การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจจับต้องได้ จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีการจำแนกแยกส่วนออกมาจากทรัพย์สินอื่นๆ โดยเด็ดขาด เพื่อที่จะนำไปคิดราคาได้อย่างเป็นอิสระ โดยอาศัยฐานในการเทียบเคียงมาจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่จับต้องได้นั่นเอง

          วิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญามีอยู่ 3 วิธีหลัก

          1. วิธีประเมินจากรายได้ (the income approach) เหมาะสำหรับการประเมินมูลค่าของสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ เนื่องจากเป็นการพิจารณาจากความสามารถในการสร้างรายได้ของทรัพย์สินทางปัญญานั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 รูปแบบคือ

      • แบบไม่รวมค่าสิทธิ (relief from royalty method)

          โดยทั่วไปบริษัทจะกำหนดมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาโดยเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียง เมื่อได้ตัวเลขมาแล้วบริษัทก็จะคำนวณเป็นตัวเงินในมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งจะไม่รวมกับค่าใช้จ่ายในส่วนของรอยัลตี้หรือค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิ ที่บริษัทเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาเรียกเก็บจากผู้ขอใช้สิทธิ์ แม้ว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องตรงที่ไม่ได้รวมมูลค่าเต็มของจำนวนทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการอนุญาตให้ใช้สิทธิได้หลายบริษัทพร้อมกัน

      • แบบรายได้เพิ่มพูน (incremental income method)

          วีธีนี้ยังสามารถแยกได้อีก 2 รูปแบบ

          - วิธีคำนวณรายได้เพิ่มพูนในอนาคตที่คิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้ว ซึ่งหมายถึง การคัดแยกรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นจาการเพิ่มขึ้นของยอดขาหรือจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เป็นผลจากการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา

          - วิธีแปลงรายได้เพิ่มพูนให้เป็นทุน รูปแบบนี้มุ่งเน้นที่รายได้จริงที่มาจากการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา แล้วใช้ข้อมูลนี้เป็นตัวชี้วัดแนวโน้มในอนาคตรายปี และหักออกด้วยอัตราการแปลงเป็นทุน

          2. วิธีคิดจากราคาตลาด (the market approach) วิธีนี้เป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการตลาดกับทรัพย์สินทางปัญญาที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีตัวกลางเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการเทียบเคียงขึ้นมาก่อนจึงจะสามารถประเมินมูลค่าได้ แต่ในความเป็นจริงตลาดในอุดมคตินั้นไม่มีอยู่จริง จึงค่อนข้างยุ่งยากที่จะหาข้อมูลราคามาเปรียบเทียบ วิธีนี้จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก

          3. วิธีคิดจากค่าใช้จ่าย (the cost approach) ในกรณีที่มูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตของทรัพย์สินทางปัญญานั้นยังไม่ชัดเจนพอเพียง ก็จะคำนวนมูลค่าจากค่าใช้จ่ายในกระบวนการพัฒนาหรือสร้างทรัพย์สินทางปัญญานั้นขึ้นมาแทน วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้น้อยที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าโดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่าย (cost) กับ มูลค่า (value) ไม่เท่ากันเสมอไป และมูลค่าของทรัพย์สินไม่ได้ดูจากรายจ่ายอย่างเดียว เพราะรายจ่ายในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถในการทำรายได้ในอนาคตของทรัพย์สินทางปัญญา

          ด้วยเหตุนี้การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาให้ได้แม่นยำที่สุด ควรใช้วิธีการประเมินจากรายได้ ควบคู่ไปกับค่าใช้จ่าย จะช่วยให้การลงบัญชีบริษัทมีความถูกต้องมากขึ้น

บทความโดย: https://th.jobsdb.com

 4865
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores