คนรวยกับคนจนมีงบการเงินต่างกันอย่างไร

คนรวยกับคนจนมีงบการเงินต่างกันอย่างไร

ผมเพิ่งกลับจากการบรรยายให้นักลงทุนในต่างจังหวัดมา เผอิญได้แลกเปลี่ยนความรู้กับนักลงทุนท่านหนึ่ง เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางการเงินที่มีมากขึ้นในสังคมไทย” นักลงทุนท่านนี้เปรยขึ้นว่า “ อาจารย์ครับ คนรวยนี่เขาทำบุญมาดีนะครับ เขาถึงรวยเอารวยเอา ส่วนคนจนก็จนอยู่นั่นแหละน่าสงสารจัง” ผมเลยบอกว่าที่ทำบุญมาดีนี่น่าจะจริง ไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติที่แล้ว สงสัยบุญที่ว่าจะช่วยให้คนรวยตาสว่าง เห็นช่องทางหรือวิธีการบางอย่างที่ทำให้สร้างฐานะขึ้นมาได้อย่างสุจริต

ในฐานะนักการเงินผมเลยพยายามมองในมุมการเงินว่า การตาสว่างทางการเงินจะเป็นอย่างไร วิชาการบริหารการเงินส่วนบุคคลสอนไว้ว่า การระบุสถานะรวยจน ใช้งบการเงินบุคคลมาอธิบายได้ หรือมีอยู่ 2 อย่าง คือ งบดุล และงบกระแสเงินสด ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

 

 

งบแรกเป็นงบกระแสเงินสด หลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจก็คือ รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย จึงจะมีเงินออมเพื่อเก็บไว้บริโภคต่อไปในอนาคต ชีวิตจึงจะมีความมั่นคง คนที่มีเงินออมมาก ต้องรู้หลักการหารายได้ และคุมค่าใช้จ่ายให้ดี แต่ไม่ต้องขนาดประหยัดแบบอดอยาก หรือฟุ่มเฟือยเกินไปแบบฟุ้งเฟ้อ ต้องเป็นแบบพอเพียง อยู่บนขีดความสามารถตนเอง ซึ่งพัฒนาเพิ่มได้และมีภูมิคุ้มกัน เงินออมที่ว่านี้จะไหลไปยังงบดุล ซึ่งจะมีด้านหนึ่งเป็นสินทรัพย์ ด้านหนึ่งเป็นหนี้สิน โดยส่วนต่างของสินทรัพย์กับหนี้สินเรียกว่า “ความมั่งคั่ง” ยิ่งส่วนต่างนี้เป็นบวกเท่าไร ความมั่งคั่ง หรือความรวยก็จะยิ่งมากเท่านั้น

เราต้องตัดสินใจเองว่าจะจัดสรรเงินออมไปที่ไหน ตามความจำเป็นและความต้องการของแต่ละคน สำหรับคนจนหรือคนที่ไม่อาจจะรวยได้ เงินออมที่มีอยู่น้อยนิดมักจะไหลไปอยู่ในสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อนำไปใช้จ่ายในรอบต่อไป เนื่องจาก ความมั่งคั่ง เท่ากับ สินทรัพย์ - หนี้สิน เงินออมที่ไหลเข้ามานี้ทำให้ความมั่งคั่งเพิ่มมาแค่เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น หรือบางคนเมื่อมีเงินออมก็ไหลไปสู่สินทรัพย์ส่วนตัว ซึ่งบางอย่างก็มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น บ้าน รถ ฯลฯ กรณีที่เงินออมไม่พอ อาจต้องกู้มา ฝั่งหนี้สินระยะยาวก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่สินทรัพย์ส่วนตัวบางอย่างก็อาจฟุ่มเฟือยมาก เช่น การมีรถหรูหรา ราคาสูงเกินจำเป็น การเปลี่ยนรถใหม่เรื่อยๆ ทำให้มีหนี้รถยนต์ตลอดเวลา

 สิ่งที่คนรวยทำมาก่อนในอดีตก็คือ การไม่ก่อหนี้ แต่พยายามนำเงินออมบางส่วนไปลดหนี้ (ตามในรูป) เพราะเมื่อหนี้สินลด ความมั่งคั่งจะเพิ่ม ขณะเดียวกันเขาจะมุ่งสะสมสินทรัพย์ลงทุน (ตาม ‚ ในรูป) เพื่อให้สินทรัพย์ลงทุนทำงานแทนเขา สินทรัพย์ลงทุน คือ อะไรก็ได้ที่ในที่สุดมูลค่าจะสูงขึ้นตามกาลเวลา และบางอย่างก็ให้ผลตอบแทนระหว่างทางที่เราถืออยู่ด้วย เช่น หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่สำคัญก็คือ ผลตอบแทนเหล่านี้จะไหลกลับไปเป็นรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียว ทำให้มีโอกาสได้เงินออมเพิ่ม และเงินออมก็ไหลกลับไปงบดุลเพื่อสะสมสินทรัพย์ลงทุนเพิ่มอีก พอร์ตสินทรัพย์ลงทุนก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

 มีคนชอบวาดรูปการ์ตูนคนจนเป็นรูปคนผอมแห้งแรงน้อย คนรวยเป็นรูปคนอ้วนหน่อย เหมือนอาเสี่ย ซึ่งผมคิดว่าจริง เมื่อเทียบกับงบการเงินก็ได้ว่า งบการเงินของคนจน : รับน้อย จ่ายมาก เงินออมน้อย สินทรัพย์ลงทุนน้อย หนี้สินมาก ความมั่งคั่งจึงน้อย ส่วน งบการเงินของคนรวย : รับมาก รายได้มาจากหลายทาง จ่ายแบบเหมาะสม เงินออมมากขึ้นเรื่อยๆ สะสมสินทรัพย์ลงทุน หนี้น้อย ความมั่งคั่งจึงสูง

 เศรษฐีเข้าใจเคล็ดลับนี้ทุกคน แม้แต่ในอดีตที่ยังไม่มีเรื่องหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม แบบทุกวันนี้ เขาก็เรียนรู้การสะสมทองคำ อสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าอยากเป็นเศรษฐีสมัยนี้ ต้องเรียนรู้สินทรัพย์ลงทุนใหม่ๆ อีกหลายอย่าง วันนี้ถือโอกาสมาชี้ช่องทางเพื่อให้ทุกคนได้รวยทั่วๆ กัน แต่ใครจะเห็นหรือเข้าใจแค่ไหน ก็แล้วแต่ว่าใครทำบุญมาแค่ไหนก็แล้วกัน อิอิ...

บทความโดย : https://www.set.or.th

 

 1844
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores