การกำหนดต้นทุนมาตรฐาน

การกำหนดต้นทุนมาตรฐาน

ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการธุรกิจ SME จะไม่ทราบราคาต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าเพราะขาดระบบบัญชีการเงินที่มีการเก็บตัวเลขที่แม่นยำรวมทั้งเจ้าของกิจการมักเป็นกังวลเรื่องการเสียภาษีทำให้ไม่ได้บันทึกค่าใช้จ่ายและต้นทุนของสินค้าที่ตนผลิตและขายไป ปัจจุบันอัตราการเสียภาษีรายได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีอัตราที่ต่ำมากรวมทั้งมีการจูงใจให้ผู้ประกอบการสมัครเข้าโครงการบัญชีเดียวเพื่อได้รับการยกเว้นการเสียภาษีในปีแรกและยังมีเงื่อนไขว่ากรมสรรพากรจะไม่เข้ามาตรวจสอบย้อนหลังอีกด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่ธุรกิจ SME ควรหันมาเก็บตัวเลขทางบัญชีให้มีความแม่นยำเพื่อใช้ในการบริหารต่อไป การเก็บตัวเลขในเรื่องต้นทุนของสินค้าของเจ้าของกิจการรุ่นเก่ายังเก็บไม่ครบขาดบางรายการทำให้การคิดต้นทุนบิดเบือนไปได้ ดังนั้นเจ้าของกิจการ SME รุ่นใหม่ๆควรเริ่มเก็บต้นทุนที่เกิดขึ้นทุกรายการเพื่อให้ทราบว่าต้นทุนที่แท้จริงเป็นเท่าใดและนำมาเปรียบเทียบกับต้นทุนมาตรฐานที่ได้ตั้งเอาไว้แต่แรกว่ายังใกล้เคียงกันหรือไม่ หรือว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าต้นทุนมาตรฐานที่ตั้งไว้อย่างมาก

   ต้นทุนมาตรฐานคืออะไร? คือต้นทุนที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างมีหลักเกณฑ์โดยฝ่ายบัญชีการเงินหรือเจ้าของกิจการได้ศึกษาไว้แล้วว่าต้นทุนของสินค้าควรเป็นจำนวนเท่าใดต่อการผลิตสินค้าหนึ่งหน่วย การกำหนดต้นทุนมาตรฐานของการผลิตสินค้าแต่ละชนิดเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเจ้าของกิจการคือ

   • ช่วยประเมินผลการดำเนินงานของกิจการและผู้ปฏิบัติงานได้โดยเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงกับต้นทุนมาตรฐานที่ตั้งไว้ว่าสูงหรือต่ำกว่าเพียงใด หากต้นทุนจริงสูงกว่าก็หมายถึงกิจการมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าจำนวนต้นทุนที่ตั้งไว้มีผลทำให้กำไรน้อยลง

   • เพื่อควบคุมต้นทุนของสินค้าได้ เมื่อต้นทุนสินค้าที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่า เจ้าของกิจการจำเป็นต้องหาแนวทางการควบคุมต้นทุนให้ต่ำลงเท่ากับต้นทุนมาตรฐานโดยการควบคุมการจัดซื้อ และการผลิตเป็นต้น

   • เมื่อกำหนดต้นทุนมาตรฐานสินค้าได้ เจ้าของกิจการสามารถวางแผนการตั้งงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการผลิตและดำเนินการได้ด้วย รวมทั้งยังวางแผนทางการเงินและการจัดซื้อวัตถุดิบตามราคามาตรฐานที่ตั้งไว้ด้วย

   • หากสินค้าตัวใดที่มีต้นทุนเกิดขึ้นจริงสูงกว่าต้นทุนมาตรฐานและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของกิจการก็อาจตัดสินใจได้ว่าจะเลิกผลิตและเลิกขายได้ไปเลยก็ได้

   • การทราบถึงต้นทุนมาตรฐานของสินค้าทำให้เจ้าของกิจการและฝ่ายขายสามารถตั้งราคาขายที่มีกำไรและสามารถทราบว่าจะลดราคาได้อีกเท่าใดเพื่อไม่ให้ขาดทุนได้

การกำหนดต้นทุนมาตรฐานมีการแบ่งการตั้งมาตรฐานเป็น 2 ส่วนคือ

   1. ตั้งปริมาณมาตรฐาน คือมีการกำหนดมาตรฐานการผลิตสินค้าแต่ละชนิดว่าต้องใช้วัตถุดิบกี่หน่วย แรงงานกี่ชั่วโมงและได้ผลผลิตที่ได้จำนวนออกมาตามที่กำหนดไว้ เช่นการผลิตแก้วต้องใช้สารเคมี สี เศษแก้ว จำนวนที่กำหนดโดยทำเป็นสูตรไว้เพื่อจะได้แก้วตามปริมาณเท่ากับที่กำหนดไว้เช่นกัน หากผลิตได้น้อยกว่าที่กำหนดก็แสดงว่าได้ปริมาณที่ไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากปัญหาอะไร ใส่สารเคมีไม่ตรงตามสูตรหรือไม่

   2. ตั้งราคามาตรฐาน คือมีการกำหนดจำนวนเงินว่าต้นทุนและค่าใช้จ่ายควรเป็นเท่าใดต่อการผลิสินค้าจำนวนหนึ่ง โดยชำระเงินค่าวัตถุดิบ ค่าแรงเป็นจำนวนที่ตั้งไว้ หากสินค้าที่ผลิตออกมามีต้นทุนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ ผู้บริหารก็ต้องรีบหาทางแก้ไขดูว่าสาเหตุมาจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น หรือคนงานทำงานไม่เต็มที่และไปใช้เวลาโอทีจึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

   ผู้ประกอบการ SME ที่ไม่เคยมีการกำหนดต้นทุนมาตรฐานสินค้าไว้เลย ทาง BSC เห็นว่าควรเริ่มด้วยการเก็บตัวเลขต้นทุนของสินค้าที่กิจการผลิตไว้ทั้งหมดและนำมาวิเคราะห์ว่ายังสามารถลดต้นทุนนี้ได้อีกหรือไม่และวิธีการที่จะลดลงต้องทำอย่างไร แล้วนำต้นทุนที่คิดว่าเป็นต้นทุนที่สามารถผลิตสินค้ามากำหนดเป็นราคาต้นทุนมาตรฐานรวมทั้งต้องกำหนดปริมาณสินค้าที่ผลิตได้โดยมีการตั้งไว้เป็นมาตรฐานของการผลิตในแต่ละรอบการผลิตด้วย สำหรับฝ่ายบัญชีจำเป็นต้องมีการเก็บตัวเลขการผลิตจริงทั้งราคาต้นทุนและปริมาณที่ผลิตได้แล้วนำมาเปรียบเทียบกับต้นทุนมาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยส่งให้เจ้าของกิจการวิเคราะห์ว่ามีความพอใจหรือไม่พอใจในต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง หากต้นทุนจริงสูงกว่าต้นทุนมาตรฐานมากเจ้าของกิจการก็ต้องหาสาเหตุว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ต้นทุนสูง การกำหนดต้นทุนมาตรฐานต้องระวังเรื่องตัวเลขต้นทุนที่สูงเกินจริงหรือต่ำเกินจริง ควรกำหนดต้นทุนที่กิจการสามารถทำได้และมีเกิดผลกำไรต่อกิจการด้วย

บทความโดย : https://bsc.dip.go.th

 7866
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores