คำถาม วิธีการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการบันทึกบัญชี กับรายการ “ลูกหนี้การค้า”
ตอบ ลูกหนี้ หมายถึง สิทธิเรียกร้องของกิจการในการที่จะให้บุคคลอื่นชำระหนี้ หรือภาระผูกพันที่มีต่อกิจการ โดยกิจการสามารถคาดหมายว่าจะได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนเมื่อถึงกำหนดเวลาในการชำระหนี้ ซึ่งการชำระหนี้อาจชำระด้วยเงินสด หรืออยู่ในรูปของทรัพย์ เช่น สินค้า สินทรัพย์ถาวร สินทรัพย์อย่างอื่น หรืออาจชำระในรูปของการให้บริการ หรืออย่างสินทรัพย์อื่นใด ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต (มาตรฐานการบัญชีของไทยฉบับรวมเล่ม, สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย, 2544.)
ซึ่งจากนิยามความหมายดังกล่าวทำให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นกับกิจการเมื่อมีรายการลูกหนี้ คือการที่กิจการมีสิทธิในการร้องขอให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ได้มีการแจ้งไว้ แต่ในการปฏิบัติงานมักพบว่าลูกหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการ หรือลูกหนี้การค้า อาจแสดงรายการบัญชีไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการจัดทำบัญชี ก็คือการไม่ตัดรายการหนี้สูญหรือตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามข้อเท็จจริง เมื่อมีเหตุลักษณะนี้กิจการต้องบันทึกรายการหนี้สงสัยจะสูญ หรือหนี้สูญโดยต้องประเมินเหตุการณ์หรือข้อบ่งชี้ที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ กรณีที่เป็นการแก้ไขย้อนหลังก็จะต้องพิสูจน์ว่าเกิดขึ้นในงวดใด ซึ่งงบการเงินสำหรับรายการ ณ วันต้นงวด มีวิธีการบันทึกรายการสำหรับการเก็บเงินไม่ได้ของลูกหนี้ 2 วิธีคือ
1) วิธีตัดจำหน่ายโดยตรง-กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ในอดีต โดยมีหลักฐานข้อบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินได้ตั้งแต่ในอดีต แต่ไม่มีการรับรู้รายการหนี้สูญ)
เดบิต กำไรสะสม (เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในอดีต จึงต้องตัดรายการกับกำไรสะสม)
เครดิต ลูกหนี้การค้า (ยอดต้นงวด)
2) วิธีการของการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ-กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยมีหลักฐานข้อบ่งชี้แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินได้ตั้งแต่ในอดีต แต่ไม่มีการรับรู้รายการหนี้สูญ
เดบิต กำไรสะสม (เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในอดีต จึงต้องตัดรายการกับกำไรสะสม)
เครดิต ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (ยอดต้นงวด-ปรับมูลค่าลูกหนี้)
สำหรับเหตุการณ์ที่พบข้อเท็จจริงในงวดปัจจุบัน ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนแสดงถึงข้อบ่งชี้ว่าลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระได้ตามกำหนดระยะเวลาที่มีการตกลงกันไว้ ทำให้กิจการไม่สามารถจัดเก็บได้ตามแผนการจัดการลูกหนี้ มีวิธีการปฏิบัติ 2 วิธีคือ
1) ตัดจำหน่ายโดยตรง กรณีนี้ลูกหนี้ที่พบข้อบ่งชี้แสดงข้อเท็จจริงว่าไม่สามารถจ่ายชำระได้กิจการพิจารณาตัดรายการลูกหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สูญ
เดบิต หนี้สูญ
เครดิต ลูกหนี้
2) ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ กรณีนี้มีการตัดรายการลูกหนี้เป็นค่าใช้จ่ายในงวดปัจจุบัน โดยมีข้อเท็จจริงแสดงว่าลูกหนี้มีสัญญาณที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา
เดบิต หนี้สงสัยจะสูญ (เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน ที่นำข้อเท็จจริงมาทบทวนความเสี่ยงที่จะเกิดจากลูกหนี้)
เครดิต ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (ปรับมูลค่าลูกหนี้)
บทความโดย : https://www.dha.co.th