< พร้อมรับมือการเริ่มต้นธุรกิจการส่งออกของ SMEs

< พร้อมรับมือการเริ่มต้นธุรกิจการส่งออกของ SMEs

สำหรับ SMEs ที่เป็นผู้ผลิต การทำธุรกิจเมื่อมาถึงจุดหนึ่งคงมีความคิดที่อยากจะออกไปเปิดตลาดนอกประเทศดูบ้างหรือต้องการที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตด้วยการส่งออกสินค้า แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นคงต้องมีการศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมและขีดความสามารถของตนในหลาย ๆ ด้านที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการวิเคราะห์ลูกค้า ขั้นตอนการส่งออก กฎหมาย การขนส่ง ฯลฯ

ปัญหาหลัก ๆ ที่ผู้ต้องการส่งออกต้องเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้ก่อน

  1. ปัญหาตลาดต่างประเทศ แม้ว่าไทยเราจะมีโอกาสในการขยายตลาดการค้าได้อีกมาก แต่การวิเคราะห์ตลาดหรือทราบความต้องการของลูกค้าในประเทศเป้าหมายยังเป็นเรื่องที่สำคัญเสมอ การหาข้อมูลของลูกค้าจะทำให้ประเมินได้ว่าควรลงทุนแบบใดหรือใช้กลยุทธ์ใดในการทำตลาด แหล่งค้นหาข้อมูลที่ดีก็คือกระทรวงพาณิชย์ฯ นั่นเองเพราะมีข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของตลาดในต่างประเทศ แนวทางในการส่งออกหรือข้อกำหนดของประเทศต่าง ๆ รวมถึงแนวโน้มความต้องการสินค้าของแต่ละประเทศ
  2. ปัญหาการคมนาคมขนส่ง เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี เพราะเป็นขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต้องมีความรู้ในเรื่องของขั้นตอนต่าง ๆ ในระหว่างการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การคิดค่าระวางสินค้าทั้งทางเรือหรือทางอากาศ เอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการดำเนินการส่งออกสินค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งออก เช่น ธนาคาร Freight Forwarder ผู้ให้บริการการเดินเรือ (Carrier) ฯลฯ
  3. ปัญหาในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ก่อนสิ่งอื่น ต้องทำการศึกษาก่อนว่าในการจะส่งออกมีรายการสินค้าใดมีข้อกำหนดใดบ้าง ซึ่งหากพบว่ามีสินค้าที่อยู่ใน กลุ่มต่อไปนี้ต้องพิจารณาว่าจะส่งออกได้หรือไม่ หรือมีเงื่อนไขใด

a.รายการสินค้าที่มีข้อกำหนดพิเศษสำหรับการส่งออก คือ

  • สินค้าห้ามส่งออก 1 รายการ คือทรายธรรมชาติทุกชนิด ทั้งที่บดแล้วและยังไม่ได้บด ที่มีซิลิกาออกไซด์เกินกว่าร้อยละ 75 โดยน้ำหนัก
  • สินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออก 14 รายการ คือ น้ำตาลทราย ถ่านหิน เทวรูปและพระพุทธรูปแร่ ที่มีทรายเป็นส่วนประกอบ หอยมุกและผลิตภัณฑ์ กุ้งกุลาดำมีชีวิต ช้าง ถ่านไม้ ไม้และไม้แปรรูป กากถั่ว กาแฟ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ข้าวส่งออกภายใต้โควตาภาษีของสหภาพยุโรป และข้าว

b.สินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก 8 รายการ คือ

  • ผักและผลไม้
  • ดอกกล้วยไม้สด
  • ลำไยสด
  • ทุเรียนสด
  • กุ้ง ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์
  • ปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง
  • สับปะรดกระป๋อง
  • ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต

สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก www.dft.go.th/th-th/dft-service-data 

  1. ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
  • ความเป็นนักการตลาดมืออาชีพของผู้ส่งออก
  • ปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น
  • ผลจากการจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรของไทยทำให้สินค้าระดับล่างมีราคาสูงกว่าสินค้าจากจีนและเวียดนาม
  • ปัญหาการลักลอบทำการค้าตามแนวชายแดนซึ่งจะมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ส่งออกไปอย่างถูกกฎหมาย
  • สินค้าถูกปลอมแปลงและเลียนแบบจากประเทศคู่แข่ง
  • ปัญหาความยุ่งยากจากขั้นตอนต่าง ๆ ในการยื่นและออกเอกสารในหลายหน่วยงาน
  • ปัญหาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระหว่างการขนส่งสินค้า ปัญหาจากภัยธรรมชาติ การเมือง ฯลฯ

ผู้ที่มองหาโอกาสในการขยายกิจการด้านการส่งออกคงต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวข้างต้นให้เข้าใจและเตรียมการในเรื่องต่าง ๆ ไว้ให้พร้อมเสียก่อนเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด หากคิดว่าตนเองมีความพร้อมแล้วก็ขอให้เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน

ที่มา:https://businesslinx.globallinker.com/bizforum/article

 1291
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์