ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่งแรกปี 2558 (5 ต.ค. 2558)

ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่งแรกปี 2558 (5 ต.ค. 2558)

 

โดย.....วัลดี แก้วพรหม
 
          "เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่งแรกปี 2558 ขยายตัว 4.34 % ธุรกิจเพิ่ม กำไรเพิ่ม เชื่อว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง”
          เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่งแรกปี 2558จากการตรวจสอบบัญชีและรวบรวบข้อมูลได้ (วันที่ 30 มิถุนายน 2558) สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 11,125 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์ 6,987 แห่ง (ภาคเกษตร 3,848 แห่ง นอกภาคเกษตร 3,139 แห่ง) และกลุ่มเกษตรกร 4,138 แห่ง มีสมาชิกผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 12.78 ล้านคนเศษ คิดเป็น 19.63 % ของประชากรไทยทั้งประเทศ โดยเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยขยายตัวมากว่าเศรษฐกิจประเทศที่ 4.34 % เกี่ยวเนื่องจากนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริม และช่วยเหลือสหกรณ์ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา รายละเอียดดังนี้
         สภาพทั่วไป จำนวนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 2.71 เมื่อเทียบกับปี 2557 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดร้อยละ 32.72 และจำนวนสมาชิกขยายตัวร้อยละ 5.28 เมื่อเทียบกับปี 2557 ส่วนใหญ่สมาชิกอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดร้อยละ 32.15 และมีเงินทุนดำเนินงานขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
 
          ภาคธุรกิจ มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 2.45 ล้านล้านบาท ดำเนินธุรกิจแบบอเนกประสงค์ 5 ธุรกิจให้บริการสมาชิก สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ 2.04 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.48 ของ GDP ธุรกิจขยายตัวร้อยละ 4.34 เมื่อเทียบกับ ปี 2557 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจการรับฝากเงินและธุรกิจการให้บริการเพิ่มขึ้น พบว่า ธุรกิจการให้เงินกู้ยืมมีปริมาณสูงสุด 1.17 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.53 ของปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น เฉลี่ยเดือนละ 9.76 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นธุรกิจ รับฝากเงิน (33.50%) ธุรกิจรวบรวมผลิตผลและแปรรูป (4.80%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (4.08%) และธุรกิจการให้บริการ (0.09%) ตามลำดับ ถ้าพิจารณาเป็นรายประเภท พบว่า ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์มีปริมาณธุรกิจสูงสุด 1.64 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 80.60 ของปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น เฉลี่ยเดือนละ 1.37 แสนล้านบาท รองลงมา ประเภทสหกรณ์การเกษตร มีปริมาณธุรกิจ 3.08 แสนล้านบาท (15.15%)
          1. กลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร (เกษตร/ประมง/นิคม) จำนวน 3,848 แห่ง สมาชิก 6.73 ล้านคนเศษ
          "ธุรกิจขยายตัวร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม ส่วนสมาชิกมีอัตราการก่อหนี้มากกว่าการออมเงิน”
          ภาคการเกษตรมีทุนกว่า 2.32 แสนล้านบาท มีธุรกิจลงทุน 5 ธุรกิจ มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 3.25 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับปี 2557 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจการให้เงินกู้ยืมเพิ่มขึ้น และเป็นธุรกิจที่มีปริมาณสูงสุดจำนวน 9.12 หมื่นล้านบาท (28.07%) หรือเฉลี่ย 13,540 บาทต่อคน รองลงมา ธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูป (27.08%) ธุรกิจรับฝากเงิน (22.55%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (22.13%) และธุรกิจให้บริการต่าง ๆ (0.17%) ตามลำดับ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.86 แสนล้านบาท (ลดลง 2.18%) ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 1.81 แสนล้านบาท (ลดลง 2.27%) ค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 97.50 ของรายได้รวมทั้งสิ้น และมีกำไรสุทธิรวม 4,647.71 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.81%) ส่วนสมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 16,124 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 5.41%) ขณะที่หนี้สินเฉลี่ย 22,470 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 6.03%) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.39 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
         2. กลุ่มสหกรณ์นอกภาคเกษตร (ร้านค้า/บริการ/ออมทรัพย์/เครดิตยูเนี่ยน) จำนวน 3,139 แห่ง สมาชิก 5.12 ล้านคนเศษ
          "ธุรกิจขยายตัวร้อยละ 5.31 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูปเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม ส่วนสมาชิกมีอัตราการออมมากกว่าการก่อหนี้”
          นอกภาคการเกษตร มีทุนรวม 2.21 ล้านล้านบาทเศษ มีธุรกิจลงทุน 5 ธุรกิจเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เน้นธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจรับฝากเงินเป็นหลักคล้ายธนาคาร มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 1.70 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.31 เมื่อเทียบกับปี 2557 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูปเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจสินเชื่อมีปริมาณธุรกิจสูงสุด 1.08 ล้านล้านบาท (63.35%) หรือเฉลี่ย 2.10 แสนบาทต่อคน รองลงมาคือ ธุรกิจรับฝากเงิน (35.75%) และอื่นๆ (0.90%) ตามลำดับ มีรายได้รวม 1.47 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.90%) ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม 8.19 หมื่นล้านบาท (ลดลง 4.64%) และมีกำไรสุทธิรวม 65,041.26 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 36.02%) ส่วนสมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 295,460 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 7.76%) หนี้สินเฉลี่ย 322,310 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 3.96%) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.13 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
          3. กลุ่มเกษตรกร จำนวน 4,138 แห่ง สมาชิก 9.30 แสนคนเศษ
          "ธุรกิจหดตัวลงร้อยละ 12.98 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจลงทุนเกือบทุกด้านหดตัว รายได้ลด กำไรหด สมาชิกออมเงินและการก่อหนี้ลดลง”
           กลุ่มเกษตรกร มีทุนรวมทั้งสิ้น 3,741 ล้านบาท มีธุรกิจลงทุน 5 ธุรกิจคล้ายกับภาคการเกษตร มีปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น 8,893.91 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 12.98 เมื่อเทียบกับปี 2557 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจลงทุนหดตัวลงเกือบทุกด้าน พบว่า ธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูปมีปริมาณสูงสุดจำนวน 5,783.14 ล้านบาท (65.02%) หรือเฉลี่ย 6,215 บาทต่อคน รองลงมาคือ ธุรกิจสินเชื่อ (20.65%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (11.44%) และอื่นๆ (2.89%) ตามลำดับ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 7,273.82 ล้านบาท (ลดลง 18.49%) ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 7,153.87 ล้านบาท (ลดลง 18.66%) มีกำไรสุทธิรวม 119.95 ล้านบาท (ลดลง 7.02%) ส่วนสมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 1,100 บาทต่อคน ขณะที่หนี้สินเฉลี่ย 2,200 บาทต่อคน โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 2 เท่าของเงินออมเฉลี่ย ค่อนข้างสูง
 
ผลการดำเนินงาน ในภาพรวมถือว่าดีมีกำไรทุกกลุ่ม แม้ว่า ประเภทเครดิตยูเนี่ยนจะขาดทุนสุทธิ โดยเฉพาะเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งได้รับความช่วยเหลืออยู่ในระหว่างการฟื้นฟูสหกรณ์ แต่ภาพรวม ทั้งระบบยังคงมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 6.98 หมื่นล้านบาท โดยมีรายได้ 3.40 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.24%) ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2.70 แสนล้านบาท (ลดลง 3.51%) ค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 79.47 ของรายได้ทั้งสิ้น นอกภาคการเกษตรทำกำไรสูงสุดเท่ากับ 6.50 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.17 ของกำไรสุทธิทั้งสิ้น ขณะที่ภาคการเกษตรมีกำไร 4,647.71 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.66 ส่วนกลุ่มเกษตรกรมีกำไร 119.95 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.17
         
          ด้านสมาชิกโดยรวมมีเงินออมเฉลี่ยรายละ 126,923 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น 5.98%) และมีหนี้สินเฉลี่ยรายละ 141,100 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น 2.52%) โดยสมาชิกภาคการเกษตรมีเงินออมเฉลี่ยรายละ 16,124 บาทต่อปี ขณะที่มีหนี้เงินกู้ยืมเฉลี่ยรายละ 22,470 บาทต่อปี ส่วนสมาชิกนอกภาคการเกษตรมีเงินออมเฉลี่ยรายละ 295,460 บาทต่อปี และหนี้เงินกู้ยืมเฉลี่ยรายละ 322,310 บาทต่อปี
         มองเศรษฐกิจเชิงมิติทางการเงินครึ่งแรกปี 2558 พบว่า ภาพรวมส่วนใหญ่มีความสามารถในการบริหารจัดการได้ดีพอสมควรจะเห็นได้จาก ความพอเพียงของเงินทุนต่อความเสี่ยง (Capital strength) พบว่า พอเพียงและไม่เสี่ยง จากทุนดำเนินงานที่มีจำนวน 2.45 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.56 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยเป็นทุนของสหกรณ์จำนวน 1.06 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.26 และมีเงินกู้ยืมภายนอก 6.30 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.71 ทุนของสหกรณ์จึงรองรับหนี้เงินกู้ยืมภายนอกได้ 1.68 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม สหกรณ์มีหนี้สินทั้งสิ้นมากกว่าทุนของสหกรณ์เท่ากับ 1.31 เท่า ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรควรเร่งระดมเงินทุนพร้อมทั้งสะสมทุนสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้คุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality) ส่วนใหญ่มีคุณภาพสร้างรายได้และให้ผลตอบแทนร้อยละ 2.86 โดยสินทรัพย์รวม 2.45 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้สินเชื่อมากที่สุดจำนวน 1.97 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.54 ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถชำระหนี้ได้ร้อยละ 62.60 ของหนี้ถึงกำหนดชำระ ความสามารถในการบริหารจัดการ (Management Ability) มีการบริหารจัดการ 5 ธุรกิจหลัก มีปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น 2.04 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.70 แสนล้านบาทต่อเดือน ขยายตัวร้อยละ 4.34 เมื่อเทียบกับปี 2557 ความสามารถในการทำกำไร (Earning) แม้ประเภทเครดิตยูเนี่ยนจะประสบผลขาดทุน แต่ในภาพรวมยังคงมีกำไรสุทธิ 69.80 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้ขยายตัว 2.24% สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) พิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างหนี้สินหมุนเวียนต่อสินทรัพย์หมุนเวียน พบว่า มีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 2.25 เท่า สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรควรดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังรอบคอบ โดยหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของสมาชิก ซึ่งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรควรระมัดระวังการถอนเงินฝากจากผู้ฝากรายใหญ่ในคราวเดียวกันอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องได้ รวมทั้ง ควรพิจาณาติดตามเร่งรัดลูกหนี้ให้ชำระหนี้ให้เป็นไปตามกำหนดสัญญา ผลกระทบของธุรกิจ (Sensitivity) มีความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน เช่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน ค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ย และความเสียหายของผลผลิตอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ อาทิเช่น ภัยแล้ง และน้ำท่วมพื้นที่หลายจังหวัด หรือการระบาดของศัตรูพืช รวมทั้ง ราคาพืชผลการเกษตรที่สำคัญที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ชะลอตัวลง ล้วนส่งผลต่อการบริโภค และการลงทุน ความสามารถในการสร้างรายได้ และทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
          บทสรุป เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.8 แต่ชะลอตัวลงการขยายตัวของไตรมาสที่แล้ว สมาชิกมีความมั่นใจในการอุปโภคและบริโภค และส่งผลเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่งปีแรกขยายตัวที่ 4.34 % แต่อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป ภาคสหกรณ์ไทยทุกประเภทต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนให้ความสำคัญกับการสะสมทุนสำรอง ซึ่งเป็นทุนที่มีความมั่นคงและปราศจากภาวะผูกพัน จะช่วยเป็นเกราะป้องกันรองรับผลกระทบที่เกิดจากภาวะธุรกิจผันผวน และควรพิจารณาหามาตรการเร่งรัดลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา โดยการสร้างอาชีพเสริมรายได้ และเสริมสร้างสมาชิกมีวินัยทางการเงินที่ดี รวมทั้ง ควรพิจารณาเงื่อนไขธุรกิจการให้สินเชื่อ โดยคำนึงถึงขีดความสามารถการชำระหนี้ของสมาชิกเป็นสำคัญ พร้อมทั้ง ควรหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้สัมพันธ์กับรายได้ โดยหามาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม ตลอดจน มีการบริหารจัดการที่ดี มีการวางแผนทางการเงิน และนำข้อมูลทางการเงินมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนรองรับความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกปัญหาที่เป็นไปได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำผลตอบแทนกลับคืนสู่สมาชิกในที่สุด 
         แนวโน้มครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทย คาดว่าธุรกิจจะขยายตัวเล็กน้อย ดังนั้น สหกรณ์ควรที่จะหามาตรการในการลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางตัวลงเพื่อคงสภาพที่ดีของสหกรณ์ และเพื่อเพิ่มกำไรมากขึ้น รวมถึงการติดตามเศรษฐกิจของประเทศ โดยยึดหมั่นในหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์ เพื่อการช่วยเหลือ พึ่งพาตนเอง และเอื้ออาทรต่อกันในหมู่คณะ ที่สำคัญต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการนำหลัก "ธรรมาภิบาล” และหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
 856
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์